โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ชวน “ล่องแพ แลกวาง ที่บางลึก” เมืองชุมพร

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 25 พ.ค. 2564 เวลา 07.39 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2564 เวลา 07.34 น.
15 แพ กวาง

หากเอ่ยชื่อ “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “แก้มลิงหนองใหญ่” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร คิดว่าชาวชุมพรส่วนใหญ่คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เนื่องจากเป็นโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองชุมพร ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เมื่อปี 2540-2541 และทำให้ตัวเมืองชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัยมานานกว่า 20 ปีแล้ว

พื้นที่ของโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ มีประมาณ 1,900 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขุดเป็นตัวอ่าง 200 ไร่ มีความลึกของน้ำประมาณ 4 เมตร จุน้ำได้ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง มีชุมชนอยู่รอบๆ แก้มลิงหนองใหญ่ 6 หมู่บ้าน รวมกว่า 1,000 ครัวเรือน ที่ใช้น้ำจากแก้มลิงหนองใหญ่ประกอบอาชีพทำพืชสวน นาข้าว เลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงปลาในกระชัง รวมทั้งยังใช้น้ำจากแก้มลิงผลิตน้ำประปาหมู่บ้านให้ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

สำนักงานอำเภอเมืองชุมพร พร้อมด้วย คุณภิทูณ พลชนา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นำคณะสื่อมวลชน ประมาณ 20 คน ล่องแพของ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่ที่ 12 ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร” เพื่อชมความสวยงามธรรมชาติของหนองน้ำ ที่มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ ซึ่งในการล่องแพสามารถเห็นจุดที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงหยุดประทับชั่วคราว ทอดพระเนตรโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 นอกจากนั้น ยังสามารถเห็น “กวางพันธุ์รูซ่า” ประมาณ 5 ฝูง กว่า 100 ตัว ฝูงลิงหลายร้อยตัว ที่หากินอยู่บนฝั่งในเขตโครงการ และฝูงนกเป็ดน้ำที่สวยงามที่ใช้ชีวิตตามธรรมชาติอยู่ในหนองน้ำใหญ่ด้วย

กิจกรรมล่องแพเชิงอนุรักษ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่ที่ 12 ตำบลบางลึก เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน โดยไม่ใช้งบประมาณของราชการเลย ส่วนอำเภอเมืองชุมพรคอยให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำเท่านั้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการนำทรัพยากรการท่องเที่ยวตามธรรมชาติในท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย ผู้ล่องแพจะได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ชมความงามของหนองน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งเป็นจุดรวบรวมน้ำจากพื้นที่ต่างๆ ได้เห็นสะพานไม้เคี่ยมที่ยาวที่สุดในเมืองไทย และเกาะชมนกชมไม้กลางหนองน้ำ

ผู้ที่มาล่องแพจะต้องมากันอย่างเงียบๆ ไม่ส่งเสียงอึกทึกครึกโครมรบกวนสัตว์ที่อาศัยอยู่บนฝั่ง หากมีการตอบรับจากนักท่องเที่ยวดี ในอนาคตก็อาจมีตลาดน้ำให้ชาวบ้านนำผลผลิตมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย ส่วนช่วงเวลาเหมาะต่อการล่องแพแลกวาง คือช่วงเวลา 15.00-18.00 น. เพราะอากาศเย็นสบาย มีกวางและลิงออกมาหากินให้นักท่องเที่ยวได้เห็น แต่หากไม่สะดวกในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะล่องแพในช่วงสายๆ เพื่อรับประทานอาหารกลางวันบนแพเลยก็ได้

คุณภิทูณ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่ที่ 12 ตำบลบางลึก เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2552 ประกอบกับตนเป็นคนในพื้นที่ตำบลบางลึก เห็นสภาพความสวยงามของหนองใหญ่มาตั้งแต่เด็กๆ และมีโอกาสเดินทางไปดูงานท่องเที่ยวโดยชุมชนของจังหวัดต่างๆ ร่วมกับนายอำเภอเมืองชุมพร จึงกลับมาคิดว่าพื้นที่ของหนองใหญ่น่าจะมีกิจกรรมล่องแพเชิงอนุรักษ์ได้ หลังจากนั้นก็มาจัดประชุมประชาคมในพื้นที่ แล้วร่วมกันจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน หมู่ที่ 12 ตำบลบางลึกขึ้นมา ก่อนร่วมกันบริจาคเงินคนละเล็กคนละน้อย เพื่อใช้สร้างแพขึ้นมา 2 ลำ มีห้องน้ำบนแพเรียบร้อย

“แพทั้ง 2 ลำ ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากกรมเจ้าท่าแล้ว แพ 1 ลำ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50 คน เสียค่าบริการแพแบบเหมาจ่ายทั้งลำ เที่ยวละ 1,500 บาท และใช้เวลาในการล่องแพ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ส่วนอาหารที่นักท่องเที่ยวต้องการรับประทานบนแพ ก็ต้องตกลงกันล่วงหน้าต่างหากว่าต้องการอาหารประเภทอะไร เรามีแม่ครัวที่พร้อมทำให้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อจองแพล่วงหน้า ที่หมายเลขโทรศัพท์ 099-356-4582” คุณภิทูณ กล่าว

“กิจกรรมล่องแพ แลกวาง ที่บางลึก” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติ เสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก เพราะแพ 1 ลำ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 50 คน ในขณะที่ค่าบริการแพ 1 ลำ อยู่ที่เที่ยวละ 1,500 บาท (ไม่รวมค่าอาหาร) เท่านั้น ซึ่งมีผู้สนใจติดต่อล่องแพ วันละประมาณ 2-3 กลุ่ม และ “กิจกรรมล่องแพ แลกวาง ที่บางลึก” ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชาวบ้าน หมู่ที่ 12 ของตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร ที่น่าชื่นชมด้วย

…………….

เผยแพร่ทางระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2019 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0