โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นายจ้าง-ลูกจ้างโรงแรมเฮ! รัฐชดเชยว่างงานทุกกรณี

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 01.08 น.

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการให้ลูกจ้างในสถานประกอบการโรงแรม ที่พักซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยจากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทุกกรณี ทั้งถูกสั่งปิดโดยรัฐ และผู้ประกอบการโรงแรมปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยที่ประชุม ครม.เห็นตรงกันว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เข้าเกณฑ์ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน และทางกระทรวงแรงงานจะรับไปดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

“ปัจจุบันมีบางจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งปิดกิจการโรงแรมชั่วคราว ทำให้ลูกจ้างสามารถไปรับเงินชดเชยการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมได้ ขณะที่บางจังหวัด รัฐยังไม่ได้สั่งปิดกิจการชั่วคราว แต่โรงแรมทำธุรกิจต่อไม่ได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวหรือแขกเข้าพัก ผมก็พยายามชี้ว่านี่เป็นเหตุสุดวิสัย ลูกจ้างในธุรกิจเหล่านี้ได้จ่ายประกันสังคมทุกเดือน ก็ขอให้เขาได้สิทธิ์รับเงินชดเชย ทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งร่วมประชุม ครม.ด้วยก็ยืนยันว่าโรคระบาดเป็นเหตุสุดวิสัย ทาง ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ไม่ขัดข้อง”

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอขอให้ลูกจ้างในธุรกิจนำเที่ยวที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ได้รับเงินชดเชยการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมด้วย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวทั้งหมด ตนจะผลักดันให้คนในระบบประกันสังคมได้รับการดูแล เพราะรัฐบาลต้องการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ขนาดคนนอกระบบประกันสังคม ครม.ก็ได้ขยายการดูแลเป็น 6 เดือน เพื่อให้การดูแลครอบคลุมถึงทุกคนที่เป็นคนไทย

สำหรับแนวทางการชดเชยที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบแนวทางการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย แยกเป็น 2 กรณี คือ 

ตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน

อีกกรณีคือตามข้อ 3 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0