โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นายกฯ สั่งเพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงอุตฯไฮเทคแข่งเวียดนาม

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 23 มิ.ย. 2563 เวลา 03.54 น. • เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2563 เวลา 00.30 น.

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบภาวะการลงทุนของประเทศไทย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ สกพอ.สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อมูลเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S curve) ใน 5 อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ดึงดูดการลงทุนมากขึ้น

สำหรับเนื่องจากข้อมูลการลงทุนในอีอีซีพบว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 

ส่วนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ยังน้อย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่ดึงการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้มากกว่า ขณะที่ประเทศไทยการลงทุนเดิมยังอยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม ซึ่งการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต้องเลือกอุตสาหกรรมที่อยากให้ลงทุนเพื่อรองรับอนาคตแท้จริง

“เอฟดีไอ”ในอีอีซีติดลบ10%

กพอ.รับทราบสถานการณ์การลงทุนในอีอีซีช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค. 2563) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้คำขอส่งเสริมการลงทุนลดลง 10% เมื่อเทียบปี 2562 แต่ลดลงน้อยกว่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศที่ลดลง 27%

โดยประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 5 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกัน 5.3 หมื่นล้านบาทโดยประเทศที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมากที่สุด 5 ประเทศแรก ได้แก่

1.จีน 8,441 ล้านบาท

2.ญี่ปุ่น 8,114 ล้านบาท

3.สิงคโปร์6,632 ล้านบาท

4.เนเธอร์แลนด์ 6,301 ล้านบาท

5.ไต้หวัน 6,126 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะฟื้นตัว ซึ่งการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีจะลดลงมากที่สุดตามการระบาดของโควิด-19 และการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยหลายอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 5 จี รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่าติที่ติดต่อเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

“คาดว่ามูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปีนี้อาจลดลง จากการระบาดของโควิด-19 แต่เป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ตั้งไว้ปีละ 1 แสนล้านบาท ยังไม่ได้ปรับเป้าเพราะแนวโน้มในไตรมาส 3 -4 จะดีกว่าครึ่งปีแรก ยกเว้นอุตสาหกรรมการบินที่ยังเหนื่อยมากไปถึงกลางปี 2564” นายคณิศ กล่าว

มั่นใจไทยแข่งเวียดนามได้

นายสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ในช่วง 5 เดือน แรกของปีนี้ คำขอส่งเสริมการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติลดลงมาก เพราะนักลงทุนไม่สามารถเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจ หรือดูพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมได้ แต่ไทยยังมีศักยภาพการดึงการลงทุนสูงแข่งกับเวียดนามได้

สำหรับแนวทางการแก้ไข รัฐบาลควรเร่งเปิดให้เฉพาะนักธุรกิจเข้ามาให้เร็วที่สุด โดยเริ่มเปิดให้นักลงทุนจากประเทศที่มีความปลอดภัยและเป็นประเทศเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนก่อนเป็นอันดับแรก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

รวมทั้งรัฐควรอำนวยความสะดวกไม่ให้ขั้นตอนยุ่งยากมากนัก เช่น หากมีใบรับรองแพทย์จากประเทศต้นทาง และผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรองเข้าประเทศตามปกติ เปิดให้เข้ามาเจรจาการค้าได้ 2 สัปดาห์ ก็เพียงพอแล้ว ส่วนประเทศที่ยังมีการระบาดสูง เช่น สหรัฐ หรือยุโรป ก็เลื่อนให้เข้าไทยในช่วงเดือน ส.ค.–ก.ย.นี้ ได้ รอให้การแพร่ระบาดคลี่คลายลงก่อน

“หากเปิดให้นักลงทุนเข้ามาได้ตัวเลขการลงทุนจะดีดขึ้นทันที เพราะนักธุรกิจมีแผนเข้ามาลงทุนอยู่แล้วรอเพียงเปิดประเทศ ซึ่งไทยต้องเร่งเปิดในช่วงนี้ก่อนคู่แข่ง ส่วนช่วงที่พำนักในไทยมีรายละเอียดชัดเจนว่าพักที่ใดบ้าง จึงตรวจสอบได้ตลอดเส้นทาง ทำให้มั่นใจว่าจะควบคุมการระบาดได้ และทำให้ภาคการลงทุนของไทยเดินหน้าได้ด้วย”

ส่วนแนวโน้มการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง มั่นใจว่าดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในไทยฟื้นตัวมากจนไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ จึงทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาเจรจาธุรกิจในไทยก่อนประเทศอื่น

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดีที่สุดอาจทำให้คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใกล้เคียงปี 2562 แต่จะให้เท่ากับปีก่อนคงยากเพราะเสียโอกาสจากโควิด-19 ไปแล้วครึ่งปี

ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองรอเข้ามาเจรจาหลายราย ซึ่งปีนี้จะได้รับผลกระทบไม่มากและบริษัทฯ ได้ประชุมออนไลน์ ติดต่อลูกค้าตลอด หากเปิดประเทศให้เข้ามาได้ก็จะลงนามทำสัญญาซื้อที่ดินทันที

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0