โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

นายกฯ ถก 'ปูติน' ย้ำการค้าเเละลงทุนของสองชาติหวังศก.โต

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 09.45 น.

เวลา 12.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐสิงคโปร์) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี นายกรัฐมนตรีแคนาดา และกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค สิงคโปร์ โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยยินดีที่แคนาดา ชิลี และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มาร่วมหารือกับอาเซียนในวันนี้ ในหัวข้อ "การค้าเสรีกับเศรษฐกิจโลก" ซึ่งเป็นเรื่องที่อาเซียนจำเป็นต้องหาแนวร่วมเพื่อสะท้อนท่าทีที่ชัดเจนในการไม่สนับสนุนนโยบายการกีดกันทางการค้าและร่วมกันสนับสนุนการค้าเสรีทุกระดับในเวทีต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโตและสนับสนุนการพัฒนาต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการค้าเสรีและความร่วมมือระหว่างประเทศได้ช่วยขจัดความยากจนได้อย่างคืบหน้า เราควรร่วมมือกันทำให้การค้าเสรีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในระยะยาว ประการแรก เราควรทำให้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้า เช่น CPTPP และ RCEP กระจายไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น และไม่กระจุกตัวอยู่ที่ธรุกิจขนาดใหญ่ ประการที่สอง จำเป็นต้องผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 เพื่อให้โลกาภิวัตน์ มีความเท่าเทียมมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยสนับสนุนการเพิ่มทุนให้แก่ IMF เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอที่จะรักษาความมั่นคงทางการเงินของโลก โดยเฉพาะในยุคที่ระบบดิจิทัลจะทำให้ความผันผวนข้ามพรมแดนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นทางออกของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างยืดหยุ่น ทั้งในด้านทักษะการทำงานและการดำรงชีวิตที่สมดุล

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความหลากหลายของประเทศสมาชิกอาเซียน และปริมาณประชากรในวัยหนุ่มสาว เพื่อเพิ่มพูนการค้าสินค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดริเริ่มต่างๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากขึ้น

เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องหารือทวิภาคี ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค สาธารณรัฐสิงคโปร์ ภายหลังการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียต่างยินดีที่หลังจากการพบหารือทวิภาคีที่ประเทศจีน เมื่อเดือนกันยายน 2560 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้นำผลการหารือไปผลักดันอย่างจริงจัง โดยมีการประชุมคณะทำงานร่วมในหลายสาขาทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การท่องเที่ยว พลังงาน การเกษตร และยังมีแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะรักษาพลวัตความสัมพันธ์ที่ดีเช่นนี้ไว้ตลอดไป

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายยินดีที่มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยประธานาธิบดีรัสเซียพร้อมผลักดันให้การค้าระหว่างกันเพิ่มเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2020 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย นำคณะเอกชนรัสเซียกว่า 50 บริษัท เยือนไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อจัดกิจกรรม Business Forum/ Business Matching ร่วมกับฝ่ายไทย และเยี่ยมชมพื้นที่ EEC พร้อมกล่าวเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรม S-Curves ด้วย นอกจากนี้รัสเซียยังสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดการค้าใน ACMECS อีกด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ทราบว่า ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) จะเดินทางเยือนไทยในระหว่างวันที่ 16 - 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อลงนามร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ของไทย จึงหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันได้โดยเร็ว ซึ่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียยินดีสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและรัสเซียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น พร้อมทั้งรับที่จะดูแลนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในรัสเซีย

ความร่วมมือไทย-รัสเซียในระดับภูมิภาคนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 จะเน้นการสานต่อความสำเร็จต่าง ๆ ของประธานอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา และการสร้างแรงผลักดันสำหรับอนาคต พร้อมผลักดันการเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียและภาคีต่างๆ ของอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในการสร้างประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งใช้โอกาสนี้เชิญประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียเดินทางเยือนประเทศไทยและเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ EAS ในปี 2562 ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

ในตอนท้ายประธานาธิบดีรัสเซียยืนยันความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ และกล่าวอวยพรให้การเลือกตั้งของไทยในปีหน้าประสบผลสำเร็จ

เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐสิงคโปร์) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค สิงคโปร์ โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและรัสเซีย มีความก้าวหน้ามากขึ้นในทุกมิติ ซึ่งสะท้อนบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ของรัสเซียต่อภูมิภาค จึงหวังว่ารัสเซียจะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายสามารถผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการเมืองและความมั่นคงไทยสนับสนุนการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยการร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมระหว่างผู้นำอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 3 ซึ่งจะเป็นกรอบสำคัญในการกำหนดแนวทาง การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียที่ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อยกระดับสถานะความสัมพันธ์ให้มุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน นอกจากนี้ัปัจจุบันภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ไทยจึงสนับสนุนความร่วมมืออาเซียนและรัสเซียในด้านการป้องกันและตอบสนองต่อภัยพิบัติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของทั้งสองฝ่าย

ด้านเศรษฐกิจอาเซียนกับรัสเซียยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันได้อีก ไทยยินดีที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซียว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างโอกาสและขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากตลาดและฐานการผลิตของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการเงินการธนาคารระหว่างกัน

ด้านสังคมและวัฒนธรรมนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรส่งเสริมบทบาทของศูนย์อาเซียนที่สถาบัน MGIMO และ Network of ASEAN-Russia Think-Tanks (NARTT) เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของอาเซียนกับรัสเซีย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าความยั่งยืนเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ไทยจึงหวังว่า รัสเซียจะสนับสนุนแผนของอาเซียนที่จะจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย โดยในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวในนามประเทศไทยว่ายินดีต้อนรับประธานาธิบดีปูตินในการเข้าร่วมการประชุมอาเซียน ในปี 2562 ซึ่งไทยเป็นประธานด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0