โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นักเรียนยากจน เฮ เปิดแจกทุนเรียนต่อสายอาชีพ 2,450 ทุน

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 13.31 น.

วันที่ 19 มกราคม ที่ห้องประชุมแซฟไฟร์ 202 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระหว่างวันที่ 19 -20 มกราคม 2563 เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวคิดและหลักการโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ให้กับสถานศึกษาสายอาชีพที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณารุ่นที่ 2 ปี 2563 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแนะแนวประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองความยากจน และคัดเลือกนักศึกษาผู้รับทุน โดยมีผู้เข้าร่วม 180 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพทุกสังกัด (วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) จำนวน 43 แห่ง จากทุกภูมิภาคใน 34 จังหวัด

นายสุภกร  บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ตามที่ กสศ. เปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์จากสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/อนุปริญญาทุกสังกัด เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2563 ระหว่างวันที่ 18 พ.ย.-9 ธ.ค.2562 มีสถานศึกษาส่งข้อเสนอโครงการจำนวน รวม 170 โครงการ จาก 119 แห่ง จำนวนทุนที่เสนอมาทั้งสิ้น 9,217 คน กสศ.ได้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาทั้งสิ้น 60 โครงการ ซึ่งจะดำเนินการในสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 43 แห่ง จากทุกภูมิภาคใน 34 จังหวัด มีจำนวนทุนทั้งสิ้น 2,450 ทุน   สำหรับการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่คุณภาพและความพร้อมสูงสุดตามคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนรวม 38 ท่าน โดยเป็นคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ที่มี ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการจาก 3 ภาคส่วน ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคสื่อมวลชน  

 

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เนื่องจาก กสศ. มีงบประมาณจำกัดจึงสามารถสนับสนุนโครงการได้เพียงจำนวนหนึ่ง สำหรับโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณา เหตุผลสำคัญเนื่องจากสาขาวิชาชีพที่เสนอไม่สอดคล้องกับสาขาที่ กสศ.กำหนด ได้แก่ ด้านสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) สาขาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิตอล ขาดข้อมูลเหตุผลประกอบความขาดแคลนด้านสายอาชีพในท้องถิ่นหรือจังหวัดที่ชัดเจน ขาดแนวทางนวัตกรรมตามกรอบคุณภาพ   6 ประเด็นได้แก่ 1. ด้านความพร้อมความเชื่อมั่น ในคุณภาพสาขาหลักสูตร 2. การจัดแนะแนวและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับทุนการศึกษา  3. วิธีการค้นหาและคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุน 4. ระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลา  5. การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูง 6. การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา

“กระบวนการต่อจากนี้ สถานศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินการแนะแนวประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองความยากจนผ่าน Application และคัดเลือกนักเรียนทุน โดยเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนส่วนมากไม่คาดหวังว่าจะได้เรียนต่อ ซึ่งจากดำเนินงานหากสอบถามเด็กที่ได้รับทุนนวัตกรรมรุ่นที่ 1 จะเห็นว่าส่วนใหญ่ทราบเรื่องจากคุณครู จำนวนน้อยมากที่จะทราบจากข่าวประชาสัมพันธ์และโฆษณา ดังนั้นหากเราอยากเจอเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน สถานศึกษาต้องลงพื้นที่ค้นหานักเรียนที่เข้าข่ายยากจนตามโรงเรียนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงตั้งแต่ที่เด็กยังเรียนไม่จบ เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้นม.3 ม.6 ปวช. 3 หรือเทียบเท่า มีโอกาสทางการศึกษาในสายอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถและคุณภาพการศึกษาทางด้านสายอาชีพอีกด้วย” นายสุภกร กล่าว

นายสุภกร กล่าวด้วยว่า  ส่วนการดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 นั้น กสศ. เน้นการทำงานเชิงรุกและเจาะกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น โดยประสานงานกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือคุยกับสถาบันที่จะสามารถฝึกอาชีพให้เด็กพิการ แม้อาจจะยังทำได้จำนวนไม่มากในรุ่นที่ 2 แต่ กสศ. จะพยายามพัฒนาตัวแบบเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เด็กอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเป็นโครงการที่มีคนจับตาดู เพราะจะทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็กที่ขาดโอกาสนับหมื่นคน ดังนั้นถ้าโครงการสำเร็จก็จะทำให้เด็กได้รับโอกาสด้านทุนการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสายอาชีพ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ก็จะเป็นการตัดโอกาสเด็กสายอาชีพที่จะได้เป็นกำลังสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต 

ด้านน.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา    กสศ. กล่าวว่า  ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แบ่งเป็น ทุน5 ปี (ปวช.ต่อเนื่องปวส.) จำนวน 1,640 ทุน สำหรับนักเรียนชั้นม.3 ที่จะจบการศึกษาในปี 2562 และทุน2 ปี (ปวส. อนุปริญญา) จำนวน 810 ทุน  สำหรับนักเรียนชั้นม.6/ปวช.3 ที่จะจบการศึกษาในปี 2562 ส่วนเกณฑ์การรับสมัครนั้น จะพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์สำคัญ 1. การขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยต้องเป็นนักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาส มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือนต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาทและผ่านกระบวนการคัดกรองความยากจน 2. ศักยภาพในการเรียนต่อจนจบหลักสูตร โดยเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนสะสมดี เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดช่วงชั้นไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือภาคเรียนสุดท้ายมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0  กรณีเป็นนักเรียนชั้นม.3 ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขของกสศ. มีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ30 บนของระดับชั้นเมื่อเทียบกับกลุ่มนักเรียนม.3ของโรงเรียน   หรือเป็นผู้มีความสามารถพิเศษโดดเด่นที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สถานศึกษาเปิดรับ ได้แก่ด้านทักษะฝีมือ และเชิงนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ได้รับรางวัลระดับกลุ่มโรงเรียน ระดับจังหวัด หรือระดับกลุ่มจังหวัด   และ 3. คุณสมบัติเฉพาะ อาทิ ความสนใจ ความถนัดและการมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนสายอาชีพ โดยสิ่งที่นักศึกษาทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน พร้อมกับกิจกรรมเสริมคุณภาพจนสำเร็จการศึกษากับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ

“สถานศึกษาสายอาชีพทั้ง 43 แห่ง จะเปิดรับสมัครนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม2563 ผู้สนใจสามารถสมัครทุนได้ได้โดยตรงกับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษา สาขาที่เปิดรับ และดาวน์โหลดแบบฟอร์มสมัครทุน ได้ที่ www.eef.or.th  หรือ02-079-5475 กด2 ” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.จำนงค์  จุลเอียด  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัย นราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีโรงเรียนขยายโอกาสตั้งอยู่หลายแห่ง ซึ่งเด็กๆเขามีความตั้งใจจะเล่าเรียน แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่งบของ3จังหวัด  ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถออกไปทำงานประกอบอาชีพได้อย่างปกติ  จึงไม่มีทุนทรัพย์ที่จะส่งให้เด็กได้เล่าเรียน ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นการให้โอกาสเด็กที่เรียนดีแต่ยากจน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างโอกาสในวิชาชีพเกษตร สร้างนวัตกรรใหม่ๆ เช่น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อพัฒนารูปแบบการผลิต  

“พอนักเรียนรู้ว่ามีโครงการนี้ พวกเขาตื่นเต้นดีใจมาก หลังจากนี้ทางวิทยาลัยจะประชุมวางแผนการดำเนินงาน เน้นคัดกรองคนหาเด็กที่ยากจน ตามเกณฑ์เงื่อนไขที่กสศ.กำหนด โครงการนี้จะช่วยได้อย่างมาก ต้องขอบคุณภาครัฐและกสศ.ที่เปิดโอกาส ให้กับเด็กนราธิวาส” ผศ.ดร.จำนงค์  กล่าว  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0