โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'นักเรียนต่างชาติที่หายไป' ดาบสองคมจากนโยบายส่งเสริมนักเรียนต่างชาติของญี่ปุ่น

The MATTER

อัพเดต 20 เม.ย. 2562 เวลา 02.43 น. • เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 02.01 น. • Thinkers

ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายในปี ค.ศ. 2008 เอาไว้ว่า ต้องการเพิ่มจำนวนนักเรียนต่างชาติให้ได้ 300,000 คนในปี ค.ศ.  2020 ซึ่งในปีนี้ (ค.ศ. 2019) ก็ได้ 290,000 กว่าคน จวนจะทำได้สมตามเป้าหมายแล้ว ฟังดูชวนเป็นเรื่องน่ายินดี จุดพลุฉลองริมแม่น้ำสุมิดะพร้อมตะโกน บันไซ บันไซ

แต่พอข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยสังคมสงเคราะห์โตเกียวที่มีการเปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา นักเรียนต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนกับมหาวิทยาลัยหายตัวไปกว่า 700 คน แถมพอตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วพบว่า ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา นักเรียนต่างชาติของมหาวิทยาลัยนี้ หายตัวไปรวมกว่า 1,400 คน ทำให้ชวนคิดว่า แม้ตัวเลขนักเรียนต่างชาติจะเยอะแค่ไหน แต่จริงๆ แล้ว การรับนักเรียนต่างชาติโดยเน้นแต่จำนวนแบบนี้ส่งผลดีต่อประเทศญี่ปุ่นจริงหรือไม่

เป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการรับนักเรียนต่างชาติจำนวนมากขนาดนั้น คือการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นให้กับชาวโลก ดึงคนจากหลายๆ ชาติมาสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ให้สมกับเป็นประเทศแถวหน้าของโลก ชาวโลกจะได้เข้าใจญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเองก็จะได้เข้าใจชาวโลก แล้วร่วมกันเดินหน้าไปสู่อนาคตได้ แต่แน่นอนว่าก็เป็นช่องทางเสริมอำนาจ Soft Power ของญี่ปุ่นอีกด้วย

แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ของนักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นคือ 95% เป็นนักเรียนจากชาติเอเชียด้วยกัน โดยมีนักเรียนจากตะวันตกเป็นเพียงส่วนน้อย และเป้าหมายของการเรียนส่วนใหญ่ก็คือเพื่อเรียนต่อหรือทำงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่ แต่ก็จัดว่าผิดเป้าหมายไปไม่น้อย และปัญหาที่น่าเป็นห่วงสุดก็คือ คนที่เข้าไป 'เรียน' แต่จริงๆ แล้วก็ตั้งใจเพื่อไปหางานพิเศษทำแล้วส่งเงินกลับประเทศ และที่น่าเป็นห่วงสุดคือ กลุ่มที่มาด้วยสถานะ 'นักเรียน' แต่เอาจริงๆ ก็โดดวีซ่า กลายเป็นแรงงานเถื่อนในประเทศญี่ปุ่นต่อไป อย่างกรณีมหาวิทยาลัยสังคมสงเคราะห์โตเกียว ที่ว่ากันว่าก็เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

เท่าที่ทราบข้อมูล นักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นตอนนี้

แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ประมาณ 1 ใน 3

เป็นนักเรียนในโรงเรียนภาษาญี่ปุ่น

และที่เหลือเป็นนักเรียนนักศึกษาในสถาบันระดับอุดมศึกษา

ซึ่งกลุ่มแรก แน่นอนว่าก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะมีหลายโรงเรียนที่เปิดมาโดยมีเป้าหมายเพื่อรับนักเรียนอย่างเดียว ไม่ได้สนใจคุณภาพการศึกษา ต้องการทำกำไรเป็นหลัก แค่ทำหน้าที่เป็นช่องทางให้นักเรียนต่างชาติสามารถเข้ามาในญี่ปุ่น เพื่อทำงานพิเศษส่งเงินกลับประเทศตัวเองได้ ขอแค่นักเรียนสมัครและจ่ายเงินค่าเรียนครบ ที่เหลือจะเข้าเรียนหรือไม่ ก็ไม่สนใจแล้ว ยังดีที่ช่วงหลังๆ รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเข้มงวดกับการตรวจสอบโรงเรียนภาษาญี่ปุ่น ทำให้สถาบันแบบนี้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ทีนี้ ปัญหาก็เลยไปกองที่ระดับอุดมศึกษาแบบที่ยกมาในตอนต้นนั่นล่ะครับ ฟังดูก็น่าแปลกใจ เพราะสถาบันระดับอุดมศึกษาควรจะมีระบบการคัดเลือก และการดูแลที่เข้มงวดกว่า ยกตัวอย่างเช่น จำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาติที่มหาวิทยาลัยรับได้ แต่ว่า ทุกอย่างก็มีช่องโหว่ให้คนหาประโยชน์ได้เสมอ

ที่ญี่ปุ่นจะมีสถานะวีซ่าการศึกษาอย่างหนึ่งที่เรียกว่า 'เคงคิวเซ' หรือ นักวิจัย ซึ่งเป็นวีซ่าที่มหาวิทยาลัยจะออกให้กับผู้ที่สนใจทจะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะระดับปริญญาไหน เพื่อใช้เวลาในการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยนั้นๆ มหาวิทยาลัยดีๆ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็มักจะให้นักศึกษาต่างชาติรับวีซ่าตัวนี้ก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย (ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกเรียนมหาลัยเอกชนเพราะไม่อยากเสียเวลาเป็นเคงคิวเซเพิ่มอีกปีก่อนได้เรียนปริญญาโท)

แต่เพราะว่า เคงคิวเซ ไม่ได้มีการตรวจสอบที่เข้มงวดเหมือนนักศึกษา และไม่มีการจำกัดจำนวน ทำให้หลายมหาวิทยาลัยเห็นช่องโหว่ตรงนี้ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยสังคมสงเคราะห์โตเกียวนั่นล่ะครับ ที่รับนักเรียนในฐานะ เคงคิวเซ เป็นจำนวนมาก เพื่อรับค่าธรรมเนียมตรงนี้ แต่หลังจากนั้น จะไปใช้ชีวิตทำอะไร มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สนใจ จนกลายเป็นปัญหานักเรียนหายตัวไปในสังคมญี่ปุ่นเป็นพันคนอย่างที่เป็นข่าว แต่ในความเป็นจริง จะหายไปเท่าไหร่ก็ยังไม่มีใครทราบจำนวนจริงๆ

ที่มาของปัญหามันก็เกิดจากหลายปัจจัยผสมกัน

จนกลายมาเป็นปัญหาในแบบทุกวันนี้

แต่ส่วนหนึ่งของต้นตอก็คงเป็น

ปัญหาประชากรหดตัวนั่นเอง

ที่ผ่านมาในญี่ปุ่นมีประชากรเกิดใหม่ลดลงจำนวนมาก จนโรงเรียนประถมและมัธยมหลายแห่งต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย แต่กับระดับมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งที่แข่งเปิดตัวขึ้นมา แน่นอนว่าเกิดขึ้นเพราะเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง และเพื่อที่จะให้ธุรกิจดำเนินไปได้ ก็ต้องพยายามหาทางเอาตัวรอด ซึ่งหนึ่งในทางเลือกนั้นก็คือการหันไปรับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน เพราะนอกจากจะได้ค่าสมัครเรียนแล้ว ทางสถาบันยังจะได้เงินสนับสนุนจากทางรัฐด้วย (ทำให้หลายกรณี ค่าเรียนระดับอุดมศึกษาของนักศึกษาต่างชาติถูกกว่านักศึกษาญี่ปุ่น) จึงกลายเป็นช่องทางทำเงิน เพื่อเอาตัวรอดของสถาบันการศึกษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

พอเป้าหมายเป็นแบบนี้ มหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงอาศัยวิธีการ ด้วยการพยายามไปกวาดต้อนนักเรียนโรงเรียนภาษาญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มาญี่ปุ่นเพื่อเน้นเรียน แต่เน้นทำงานมากกว่า โดยไปบรรยายเสนอแนวทางในการอยู่ญี่ปุ่นต่อในฐานะ เคงคิวเซ เพราะว่าวีซ่าของโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ถ้าใครอยากอยู่ต่อก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยต่อ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าได้นั่นล่ะครับ พอมีเคงคิวเซ ก็เลยเป็นช่องทางให้พวกเขาอยู่ญี่ปุ่นต่อได้โดยไม่ต้องห่วงอะไร แถมเอาจริงๆ ก็ไม่ได้มีคลาสเรียนทุกวันแบบตอนอยู่ที่โรงเรียนภาษาอีก ทีนี้ก็ทำงานได้อย่างเต็มสูบล่ะครับ

แถมบางคนสุดท้ายก็เลือกที่จะโดดวีซ่า อยู่ญี่ปุ่นต่อในฐานะแรงงานเถื่อนต่อไปเลย มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สนใจอะไร ก็แค่คัดชื่อออกเท่านั้น เพราะมีคนที่พร้อมจะเข้ามาใหม่เสมอ แถมวิธีการคัดเลือกก็ไม่ได้มีอะไรมาก บางคนไม่สามารพูดญี่ปุ่นได้ หรือกระทั่งตัวอักษรพื้นฐานอย่างฮิรางานะก็อ่านไม่ออกด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถเป็นเคงคิวเซได้ เพราะสอบแบบส่งๆ ไป จนแทบจะกลายเป็นว่า สมัครก็เข้าได้เลย พอเข้าไปได้แล้ว สถาบันเหล่านั้นก็ไม่ได้สนอะไรอีก ตราบเท่าที่สามารถทำรายได้ได้

นอกจากปัญหาประชากรหดตัว

จนกระทบกับสถาบันการศึกษาแล้ว

อีกหนึ่งส่วนที่ได้รับผลกระทบมากก็คือภาคแรงงานนี่ล่ะครับ

เพราะว่าประชากรหดตัวลง จะไปหาแรงงานมาทำงานก็ไม่ได้ง่ายเหมือนเก่า โดยเฉพาะพวกงานพิเศษที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก หรืองานกะดึก เช่น งานพนักงานร้านสะดวกซื้อ กลายเป็นว่า ต้องมาแย่งตัวพนักงานกัน (อ่านบทความ ปัญหาร้านสะดวกซื้อ ได้)

ผลกระทบนี้ยังรวมไปถึงงานภาคการเกษตรในต่างจังหวัด หรืองานสายการผลิตในโรงงานขนาดย่อม ทำให้การดึงเอานักเรียนต่างชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานก็เป็นอีกทางรอดทางหนึ่ง แน่นอนว่า วีซ่านักเรียนมีการจำกัดชั่วโมงทำงาน แต่สำหรับคนที่ต้องการทำงานส่งเงินกลับบ้าน ก็ต้องทำงานเกินกำหนด ทำให้นายจ้างสามารถบีบค่าจ้างได้ เพราะนักเรียนก็ไม่สามารถร้องเรียนได้เนื่องจากทำผิดกฎหมายเอง และยิ่งถ้าเป็นคนโดดวีซ่าแล้ว ก็ยิ่งหวานนายจ้าง เพราะมีโอกาสโดนขู่มากขึ้นไปอีก

ปัญหาต่างๆ มันก็ผูกกันเป็นลูกโซ่แบบนี้ ทำให้ต้องกลับมามองว่า การเน้นการเพิ่มปริมาณนักเรียนต่างชาติของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผ่านมา สร้างประโยชน์ให้กับสังคมญี่ปุ่นแค่ไหน หรือจริงๆ แล้ว แค่ต้องการตัวเลขสวยๆ เป็น KPI เพื่อแสดงผลงานตัวเอง แล้วก็ประกาศว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ไม่ได้ดูเลยว่า ข้างในนั้นมันเละเทะแค่ไหน และส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ถ้าหากไม่มีการจัดการอะไรแล้ว 'นักเรียนต่างชาติที่หายสาบสูญ' ก็คงจะมีแต่เพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://diamond.jp/articles/-/197546

https://ameblo.jp/richardkoshimizu/entry-12448468004.html

https://www.japantimes.co.jp/opinion/2019/04/12/commentary/japan-commentary/foreign-student-numbers-dont-tell-whole-tale/

https://www.facebook.com/NHKWORLDThai/posts/1945889002200525

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0