โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นักวิทย์อึ้ง! ‘ทรัมป์’ เสนอไอเดียหย่อน ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ สกัดพายุเฮอริเคนก่อนถล่มสหรัฐฯ

Manager Online

เผยแพร่ 26 ส.ค. 2562 เวลา 07.43 น. • MGR Online

เอเอฟพี - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เสนอไอเดียทิ้ง ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ ทำลายพายุเฮอริเคน ก่อนที่มันจะซัดขึ้นฝั่งและสร้างความเสียหายต่ออเมริกา

เว็บไซต์ข่าว Axios รายงานเมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) ว่า ขณะที่รับฟังรายงานสรุปเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนอยู่นั้น ผู้นำสหรัฐฯ ได้ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสกัดการก่อตัวของเฮอริเคนนอกชายฝั่งแอฟริกาด้วยการหย่อนระเบิดนิวเคลียร์ลงไปที่ตาพายุ

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามชี้ว่า ข้อเสนอของ ทรัมป์ ทำให้ผู้ฟังเดินออกจากห้องประชุมด้วยคำถามว่า “จะเอาอย่างไรกันดี?”

เว็บไซต์ข่าวแห่งนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าบทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่

ทรัมป์ เคยเสนอไอเดียทำนองนี้มาแล้วเมื่อปี 2017 โดยสอบถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งว่า รัฐบาลสามารถทิ้งบอมบ์ใส่เฮอริเคนเพื่อป้องกันไม่ให้มันพัดขึ้นฝั่งได้หรือไม่ แต่ตอนนั้นเขาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะใช้ระเบิดนิวเคลียร์

ทำเนียบขาวยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในประเด็นนี้ แต่ Axios อ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งซึ่งระบุว่า เป้าหมายของ ทรัมป์ “ก็ไม่ได้แย่อะไร”

แนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยถูกเสนอโดยนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ มาแล้วเมื่อช่วงทศวรรษ 1950

ไอเดียนี้ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่เรื่อยๆ แม้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะลงความเห็นว่ามันไม่เวิร์คก็ตาม ขณะที่หน่วยงานด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ถึงกับสร้างเพจที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดนี้โดยเฉพาะ

“ทุกๆ ปีเมื่อเข้าสู่ฤดูเฮอริเคน มักจะมีผู้เสนอแนะว่าเราน่าจะลองทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เพื่อทำลายพายุเหล่านั้นเสีย” NOAA ระบุ

หน่วยงานแห่งนี้อธิบายว่า การใช้ระเบิดไม่เพียงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพายุได้เท่านั้น แต่กระแสลมจะพัดพากัมมันตรังสีให้ฟุ้งกระจายไปสู่แผ่นดินที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

สหรัฐฯ ต้องเผชิญความเสียหายจากพายุเฮอริเคนอยู่เป็นประจำ โดยเมื่อปี 2017 เฮอริเคนฮาร์วีย์ (Harvey) ได้พัดขึ้นฝั่งที่รัฐเทกซัสด้วยกำลังแรงสูงสุดในรอบ 12 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0