โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นักวิชาการ ชี้ เหตุรัฐบาลไทย-เมียนมา ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสุดตัว

สยามรัฐ

อัพเดต 24 ส.ค. 2562 เวลา 13.05 น. • เผยแพร่ 24 ส.ค. 2562 เวลา 13.05 น. • สยามรัฐออนไลน์
นักวิชาการ ชี้ เหตุรัฐบาลไทย-เมียนมา ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสุดตัว

นักวิชาการชี้เหตุรัฐบาลไทย-เมียนมา ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสุดตัว เพราะต้องการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในประเทศตนเอง–ผลวิจัยระบุ พื้นที่ป่ารอยต่อ 2 ประเทศ ได้รับผลกระทบหนัก – ชาวบ้านโวย ผ่านมา 9 ปี ยังไม่มีการแก้ปัญหา

วันที่ 24 ส.ค. 62 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) จัดเวทีสาธารณะ “ประเทศไทยกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย : ถนนสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ (เปล่า?)” โดย นายแอชเลย์ สก๊อตต์ เคลลี่ย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า การศึกษาแผนการดำเนินงานการก่อสร้างถนนระหว่างปี 2541 – 2562 และการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่า ผลกระทบหลัก ๆ เกิดขึ้นในหลายช่วงตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ในขณะที่มีการทำ EIA ใน 3 ช่วง (ปี 2555 ปี 2557 และปี 2562) และยังพบว่า กระบวนการก่อสร้างต่าง ๆ ดำเนินการไป โดยยังไม่มีการแก้ไข หรือดูแลปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับการปรับเปลี่ยน หรือยกระดับ ขยายพื้นที่ถนน (จาก 2 ช่องทาง เป็น 4 ช่องทาง) ตามการผสมผสาน หรือการพิจารณาของงบประมาณสนับสนุนต่าง ๆ

“ข้อค้นพบ และข้อเสนอจากการศึกษา คือ การมีข้อมูลที่แตกต่างหลากหลาย การสื่อสารข้อมูลอย่างสับสน ในขณะที่การดำเนินการต่าง ๆ ส่งผลกระทบทั้งต่อการขยายพื้นที่ (ช่องทางถนน) การอยู่อาศัยและทำกินของชุมชน การอนุรักษ์พื้นที่ป่าและพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งก็มีข้อเสนอในการดำเนินการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงทั้งกับสิ่งแวดล้อม และสังคม” นายแอชเลย์ สก๊อตต์ เคลลี่ย์

ขณะที่ นายแฟรงค์กี้ อาบรู ผู้แทนเครือข่ายชนพื้นเมืองและแม่น้ำตะนาวศรี กล่าวว่า เริ่มต้นทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และความกังวลต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยพบประเด็นที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ คือความยั่งยืนของการใช้ชีวิต โดยพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ในขณะที่การดำเนินงานโครงการก่อสร้างไม่ได้ตอบโจทย์ หรือสร้างความชัดเจนดังกล่าว กอปรกับไม่มีการนำเสนอหรือให้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างแท้จริง หรือถึงแม้ว่า จะมีการดำเนินการให้ข้อมูลบ้าง แต่เป็นลักษณะของข้อมูลด้านเดียว ส่วนใหญ่เป็นด้านบวกของการทำโครงการเท่านั้น

นายแฟรงค์กี้ กล่าวว่า ขณะที่แผนการอพยพโยกย้าย การพลัดที่นาคาที่อยู่ เป็นความกังวลทั้งความสามารถในการหาอยู่หากิน การใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัว ความมั่นคงทางจิตวิญญาณ รวมถึงความมั่นใจในการมีชีวิตอยู่รอด ในขณะที่หากมีการจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ก็ยังเป็นจำนวนที่ไม่เป็นธรรม และไม่สามารถทำให้ชีวิตได้จริง การดำเนินการใด ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง ต้องเข้าใจการดำเนินการและความต้องการของชุมชน

นายเกโดะ ผู้แทนชุมชนกามองถ่วย ซึ่งได้รับผลกระทบ กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 2553 โดยแรกเริ่มสร้างความหวังของการพัฒนาชีวิตต่าง ๆ รวมถึงการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ ในขณะที่หลังจากที่มีการริเริ่มการก่อสร้างเส้นทางเชื่อม (road link) ก็สร้างความกังวลต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ในปลาย ๆ ปี 2561 ได้รับทราบข่าวว่า จะมีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมดังกล่าวต่อ ในขณะที่ชาวบ้านยังมีข้อกังวล และมีข้อเสนอว่า (1) การดำเนินการต่าง ๆ ควรปรึกษาหารือกับชาวบ้าน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับผลกระทบ หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้น (2) การเคารพต่อความคิดเห็นต่าง ๆ

นายเยอ่อง ผู้แทนชุมชนกามองถ่วย ซึ่งได้รับผลกระทบ กล่าวว่าโดยลักษณะของชุมชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม (indigenous peoples) เราอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การดำเนินโครงการเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2553 ขณะนั้น ไม่มีข้อมูล หรือการบอกกล่าวใด ๆ ทำให้ชุมชนมีความกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ จึงมีการประสานงาน และขอข้อมูลต่าง ๆ จากหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ทำให้ในปี 2556-2558 มีการชะลอโครงการ และทางผู้ดำเนินงาน (ITD) ก็ถอนออกจากพื้นที่ แต่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมิได้รับการแก้ไขปัญหาใด ๆ และในปลายปี 2561 ทราบว่า จะมีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมขึ้นใหม่ โดยเริ่มต้นทำจากเส้นทางลำเลียงอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งก็มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัย และการทำกิน นอกจากนั้น การขยาย/ปรับปรุงขนาดของถนน (จาก 2 เป็น 4 ช่องทาง) ก็ทำให้ยิ่งเกิดความกังวลต่าง ๆ

นายธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้แทนกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ว่าประเด็นที่พบจากการวิจัยในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน เขตตามองถ่วย สรุปดังนี้1ทางกายภาพ เส้นทางอยู่ในส่วนข้อกำหนด ADB ในการทำเส้นทางเชื่อมระหว่างทวาย-บางใหญ่-แหลมฉบัง เป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจ ที่จะต้องกับ 3 เส้นทาง คือ ทางใต้ (เมือง Namcan) ทางกัมพูชา และทางเวียดนาม โดยมีภาพจำลองระบบตามมาตรฐานของกรมทางหลวง ประเทศไทยเป็นหลัก มีขนาด 8 ช่อง วางแนวทั้งเรื่องสายส่งไฟฟ้า และพลังงานอื่น ๆ แต่หลังจากที่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณ การต่อต้านจากพื้นที่ และผลกระทบทางการเมืองต่าง ๆ ทำให้ลดขนาดเป็น 2 ช่องทาง

นายธีระชัย กล่าวว่า การดำเนินการแบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ คือ ระหว่างปี 2553 – 2556 ปี 2556-2558 และ ปี 2558 – 2559 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าดำเนินการ และผู้พัฒนาโครงการ จนปัจจุบัน มีการดำเนินการตามโครงสร้างเฉพาะกิจที่เป็นการดำเนินงานร่วมกันของรัฐบาลใน 2 ประเทศ (ไทย และเมียนมา) ซึ่งบทบาทของ ITD ลดลงเป็นเฉพาะการดูแล ซ่อมบำรุงเป็นสำคัญ ส่วนประเทศไทย โดย NEDA ให้การสนับสนุนงบประมาณเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขพิเศษ (จากมติ ครม. ปี 2558 ที่ให้ดำเนินการเป็นการเฉพาะ) โดยในเงื่อนไขเงินกู้มิได้กำหนดการดูแลผลกระทบต่าง ๆ และปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำและรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 3 เริ่มวันที่ 29 สิงหาคม 2562)

นายธีระชัย กล่าวว่าต้นทุนที่แอบแฝงจากผลกระทบ โดยลักษณะที่ชาวบ้านและชุมชนหาอยู่หากิน และพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างใกล้ชิด การดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีต้นทุนที่ชาวบ้าน/ชุมชนต้องสูญเสีย หรือใช้ไป คือความเสื่อมโทรมและการด้อยศักยภาพของพื้นที่ ทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า รวมถึงผลิตภาพของผลผลิตทางการเกษตร การขาดประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรมรวมถึงความล่าช้าในการเยียวยาและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณและคุณภาพทั้งในด้านแหล่งอาหาร น้ำอุปโภค-บริโภค

นายธีรชัย กล่าวว่า ผลกระทบแสดงความเห็นว่า ร้อยละ 50 ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการทำเส้นทางเชื่อมโยง และเสนอให้ดำเนินการในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีชุมชน หรือผลกระทบใด ๆ หรือดำเนินการในพื้นที่เมืองโดยตรง ร้อยละ 25 เห็นว่า ไม่สามารถต่อรอง หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ แต่ขอให้มีการดูแลเยียวยาอย่างเป็นธรรม และกลุ่มที่เห็นด้วยมีจำนวนร้อยละ 5 เท่านั้น ในขณะที่อื่น ๆ เป็นส่วนที่ไม่มีความเห็นใด ๆโดยจะเน้นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ซึ่งเป็นการดำเนินการสร้างถนนเชื่อมโยง ถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับพื้นที่ของชุมชน หรือมหานคร ทำให้เห็นว่า การดำเนินการใด ๆ กับพื้นที่ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นรอยต่อของประเทศไทย และเมียนมา

“การสร้างเส้นทางระเบียงเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ พาดผ่านพื้นที่กลุ่มป่าข้างต้น จะส่งผลกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวม โดยผลจากการเก็บข้อมูลเส้นทางเชื่อมโยงทวาย และทิกิ พบทั้งกระรอกบิน หมีขอ และบินตุรงค์ และสัตว์ป่าประเภทอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวเส้นถนนดังกล่าว” นายธีรชัย กล่าว

รศ.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และเมียนมา มีสมมติฐานเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งอยู่ระหว่างรัฐบาลตานฉ่วย การทำสัญญากับโครงการ และการทำประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญ เมียนมา หลังจากการเลือกตั้งปี 2553 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทั้งฝั่งเมียนมา และไทย และอื่น ๆ หลังจากนั้น ล้วนสนับสนุนโครงการ แต่มีแนวทางการใช้งบประมาณที่แตกต่างกัน

รศ.นฤมล กล่าวว่าระยะแรกของโครงการ (2550-2553) มิได้ให้ความสำคัญกับชุมชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากสถานการณ์ในปี 2553 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการดำเนินการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล มีการเข้ามาร่วมทำงานของ NEDA การทำระเบียงเขตเศรษฐกิจ โดยมีการใช้เส้นทางเดิม (access road) เชื่อมต่อเข้าไป การเน้นการเชื่อมโยงไปที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเหมือนเดิม แต่ปรับลดขนาดของถนน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0