โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

นักวิชาการมะกันเตือนบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก

new18

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 08.31 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 08.20 น. • new18
 นักวิชาการมะกันเตือนบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก
ศจย.-สสส.และภาคีเครือข่ายจัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 18 กระตุ้นเตือน “บ้านต้องปลอดควันบุหรี่ 100%” ชี้บ้านที่มีคนสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่ม 24% เด็กเสี่ยงไหลตายเพิ่ม 2 เท่า นักวิชาการมะกันเตือนบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก มีผลิตภัณฑ์ใหม่รูปแบบเหมือนแฟลชไดร์ฟเพื่อปกปิดได้ง่าย แนะรัฐบาลทุกประเทศควรออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ศจย.-สสส.และภาคีเครือข่ายจัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 18 กระตุ้นเตือน “บ้านต้องปลอดควันบุหรี่ 100%” ชี้บ้านที่มีคนสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่ม 24% เด็กเสี่ยงไหลตายเพิ่ม 2 เท่า นักวิชาการมะกันเตือนบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก มีผลิตภัณฑ์ใหม่รูปแบบเหมือนแฟลชไดร์ฟเพื่อปกปิดได้ง่าย แนะรัฐบาลทุกประเทศควรออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ศูนย์ประชุมวิยุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กทม. ศูนย์ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 เพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวบรรยายพิเศษ “the tobacco endgame in Thailand” ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดปี 2560 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคนหรือ 32.0% โดยเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง 22 เท่า หรือ 37.7% และ 1.7% ตามลำดับ สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 3:1 ในปี 2534 เป็น 4.2:1 ในปี 2560 ซึ่งหนึ่งในมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่าง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้ผลคือ มาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญในการลดอัตราบริโภค แต่ต้องเนินการมาตรการอื่นๆ ควบคู่ด้วย ทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และการรณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาและสร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา

“ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุน สสส. มีบทบาทในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมและลดผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการควบคุมยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการและการขาดกิจกรรมทางกายด้วย มาตรการเหล่านี้ มีผลต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพและการตายของประชากรไทยและทั่วโลก โดยในปี 2560 คณะทำงานสหประชาชาติ ยกให้ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ ขณะที่ WHO ยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส. เป็นนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก และประเทศต่างๆ อย่างเช่น เวียดนาม ลาว มาเลเซีย มองโกเลียที่ใช้ สสส. ไทยเป็นต้นแบบ” ดร.สุปรีดา กล่าว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างคงที่ โดย ศจย. ได้ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบุบหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ศ.ดร.สแตนตัน แกลนซ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จากการศึกษาวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายเหมือนกับผลิตภัณฑ์นิโคตินอื่นๆ ที่มีการปรุงแต่งรสเพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่โดยเฉพาะเยาวชน มีการตลาดที่หลอกลวงและฉ้อฉล โดยอ้างว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ช่วยเลิกสูบบุหรี่ แต่ข้อเท็จจริงแล้วยิ่งสูบยิ่งทำให้ติดนิโคติน และพัฒนาไปสู่การสูบบุหรี่แบบมวนในที่สุด ทำให้ผู้สูบส่วนใหญ่เลิกบุหรี่ได้ยากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าใหม่รูปแบบเหมือนแฟลชไดร์ฟดูไม่เหมือนบุหรี่ เพื่อปกปิดได้ง่าย มีการส่งเสริมการขายผ่านสื่อออนไลน์ ปรุงแต่งกลิ่นเพิ่มนิโคตินในปริมาณที่สูง ทำให้เสพติดได้ง่าย แถมยังมีการส่งเสริมใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดการเลิกสูบบุหรี่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างมาก

“รัฐบาลทุกประเทศควรออกนโยบายควบคุมอย่างเข้มงวดควรออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จัดการศึกษาให้สังคมทราบเพื่อตอบโต้ข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ หน่วยงานด้านสาธารณสุขนำโดยองค์การอนามัยโลก บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหมด ล้วนปฏิเสธการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีผลกระทบที่รุนแรง ส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและปอด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง นิโคตินสกัดเป็นพิษต่อสมอง และยังก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ” ศ.ดร.สแตนตัน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารเคมีและสารพิษรวมถึงสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า มีผลต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็ก ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ ก็ยังคงมีสารพิษจากควันบุหรี่ ติดตามเสื้อผ้า ผนัง โซฟา เบาะหนังแท้ หนังเทียม รวมถึงในรถยนต์ เรียกว่า “บุหรี่มือสาม” ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ พบว่า 50% ของผู้สูบบุหรี่ มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ แสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองร่วมโครงการเลิกบุหรี่ มือสอง มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า การได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสาม เป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดต่อชีวิตของลูกน้อย เพราะเด็กต้องใช้อากาศหรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กทุกคนมีความฝันและเป็นความชื่นใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ขออย่าทำลายความฝันเหล่านั้น ด้วยควันบุหรี่

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ควันบุหรี่มือสองและมือสาม ทำให้อากาศในบ้านมีสารพิษก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ถ้าบุคคลใดในครอบครัวสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยเจตนาให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ได้รับควันบุหรี่ ถือเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวซึ่งมีทุกจังหวัด จากนั้นหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ และมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับทำคำร้องและคำสั่งไปยื่นต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง

ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานด้านการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ด้วยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าควันและสารพิษจากบุหรี่ ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพคนไทย และในขณะนั้นยังไม่มีหน่วยงานทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยสูบบุหรี่ จึงได้เกิด “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้าน” โดย ศ. นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นเลขาธิการโครงการ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ประกาศเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ ในปี 2530 เป็นต้นแบบขององค์กรปลอดบุหรี่ จัดบริการคลินิกเลิกบุหรี่แก่บุคลากรและประชาชนผู้มารับบริการ โดยมีวิสัยทัศน์เป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำในระดับสากล มีพันธกิจที่จะจัดการศึกษา สร้างงานวิจัย ให้การบริการวิชาการ และดูแลสุขภาพ เพื่อสุขภาวะของสังคม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0