โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นักวิชาการบี้รัฐคุมฝุ่นพิษ CHEMICAL SMOG ตัวการ PM 2.5

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 07.52 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 07.52 น.
18-4

ท่ามกลางวิกฤตฝุ่นควันพิษอันเหลวร้ายที่คนไทยกำลังเผชิญ แต่ดูเหมือนรัฐบาลยังไม่ตระหนักถึงการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ล่าสุด สถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ได้ร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเสวนาในหัวข้อ “CHEMICAL SMOG ตัวการร้าย PM 2.5” ขึ้น โดยเชิญกูรูหลายคนมาร่วมเสวนา

แนะรัฐคุมราคา-ลดเผาอ้อยภ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “CHEMICAL SMOG ตัวการร้าย PM 2.5” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า แนวทางแก้ไขรัฐบาลควรใช้มาตรการจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กัน เช่น ต้องมีมาตรการให้เกษตรกรหยุดเผาอ้อย แต่ต้องเข้าใจเหตุผลของเกษตรกร เพราะทำให้ต้นทุนในการเก็บเกี่ยวถูกลง แต่ถ้ารัฐบาลเข้มงวดโดยกำหนดราคาอ้อยที่เผาให้ถูกลงหรือไม่รับซื้อ จะช่วยลดการเผาอ้อยได้มาก ขณะเดียวกันการเผาอ้อยในที่โล่งก่อให้เกิดมลพิษมีความผิดทางอาญา อยู่ในประมวลกฎหมาย มาตรา 220 และกฎหมายสาธารณสุขอยู่แล้ว

“กรุงเทพฯต้องควบคุมจำนวนรถยนต์อย่างที่จีน ฝรั่งเศส ในระยะยาวต้องเปลี่ยนเป็นการจราจรที่ไม่ปล่อยมลพิษอย่างรถยนต์ไฟฟ้า และขนส่งมวลชนต้องดีขึ้น เพื่อลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง โดยกลุ่มรถยนต์ที่สร้างฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดอยู่ในกลุ่มรถยนต์ดีเซล จากรถบรรทุกและรถประจำทาง ควรเริ่มต้นจากส่วนนี้ก่อน ทั้งนี้ มองว่ามาตรการรัฐบาลอย่างล้างถนน ตรวจรถยนต์ควันดำ ยังไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา”

หนุนเปลี่ยนน้ำมันยูโร 4 สู่ยูโร 5

รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด อดีตอาจารย์และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ต้องมีการควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นใน 2 กลุ่มคือ ฝุ่นที่เกิดจากการจราจร และการเผาในที่โล่ง โดยฝุ่นที่เกิดจากการจราจร ควรเริ่มลงมือ 1.สนับสนุนการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 2.เครื่องยนต์ต้องมีการตรวจเช็กประสิทธิภาพการเผาไหม้ให้มีคุณภาพ ไม่ใช่ตรวจควันดำเพียงอย่างเดียว 3.สนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV ควรได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี โดยมาตรการทั้งหมดต้องจูงใจประชาชนให้ร่วมมือ รวมถึงควบคุมปริมาณรถยนต์ เช่น ในปักกิ่ง มีรถใหม่ได้เพียง 2 แสนคัน ใครอยากซื้อรถยนต์ต้องมาจับสลาก และรถยนต์ไฟฟ้าได้สิทธิพิเศษใช้ได้ทุกวัน ขณะที่รถยนต์ทั่วไปขับได้เฉพาะบางวัน

ส่วนเรื่องการเผาในที่โล่ง อยากให้นำของเหลือด้านการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด ไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันถูกนำไปผลิตไฟฟ้าน้อยมาก เช่น ใบอ้อย มี 17 ล้านตัน ถูกทำไปผลิตไฟฟ้าเพียง 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือถูกเผาทิ้งในที่โล่ง จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการทำธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) โดยนำของเหลือด้านการเกษตรไปใช้ให้เกิดประโยชน์

จี้รัฐออกมาตรการลด PM 2.5

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการวัดคุณภาพอากาศบริเวณ KU Tower พบปรากฏการณ์กลุ่มควันพิษ (chemical smog) ในกรุงเทพฯ คล้ายกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุมาจากชั้นบรรยากาศของกรุงเทพฯ ไม่สามารถถ่ายเทอากาศสู่ด้านบนได้เหมือนถูกฝาชีครอบ รวมถึงแสงแดดที่แรงทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ยังพบโอโซนในระดับที่สูง ส่งผลทำให้ฝุ่น PM 2.5/PM 10 เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะที่ความสูง 75-150 เมตร มีค่าโอโซนสูงถึง 100 และโอโซนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ ซึ่งอวัยวะภายในร่างกายอย่างปอดเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

“ในต่างประเทศตอนนี้ไม่ใช่เพียงควบคุมเรื่องการจราจรอย่างเดียว แต่เริ่มไปควบคุมพวกกิจกรรมที่ปล่อยสารระเหย ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่เริ่ม แม้กระทั่งเรื่องจราจร ซึ่งต่างประเทศได้เริ่มไปตั้งนานแล้ว รวมถึงยังไม่มีมาตรการอะไรที่ออกมาแล้วสามารถลดปัญหาฝุ่นลงได้ ทั้งนี้ อยากให้มีการตรวจการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในกลุ่มรถจักรยานยนต์ เพราะยังไม่มีการตรวจลักษณะนี้ มองว่าสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดตอนนี้ คือ ต้องเริ่มตรวจและรักษาประสิทธิภาพการเผาไหม้เครื่องยนต์ในกลุ่มของรถยนต์”

“ผมทำเรื่องเกี่ยวกับอากาศมาตลอด ไม่เคยคิดว่าอากาศในกรุงเทพฯจะเลวร้ายขนาดนี้ เชื่อมาเสมอว่าอากาศร้อนที่ยกตัวสูงขึ้น น่าจะเป็นอากาศที่มีการถ่ายเทได้ตลอดเวลา แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่ฝุ่นละออง PM 2.5 บางช่วงเวลามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเยอะ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0