โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นักวิจัยปลูกเซลล์ในห้องแล็ป หาสัญญาณแรกของมะเร็ง เพื่อตรวจจับและป้องกันก่อนที่จะก่อตัวขึ้นเป็นเซลล์มะเร็ง

The Momentum

อัพเดต 22 ต.ค. 2562 เวลา 17.03 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 17.03 น. • THE MOMENTUM TEAM

นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษและอเมริกันร่วมมือกันเพื่อค้นหาสัญญาณแรกในการก่อเกิดโรคมะเร็ง เพื่อตรวจจับและป้องกันและรักษาก่อนที่จะก่อตัวขึ้นเป็นเซลล์มะเร็ง โดยการปลูกเซลล์ในห้องแล็ป เพื่อดูว่ามันก่อกำเนิดขึ้นอย่างไรในช่วงแรกๆ 

งานวิจัยนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยลอนดอน จากอังกฤษ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยโอเรกอน จากสหรัฐอเมริกา โดยเป้าหมายในครั้งนี้เพื่อพัฒนาการตรวจสอบโรคมะเร็งจากการตรวจเลือด ลมหายใจ และปัสสาวะ ในการเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาปรับปรุงเทคนิคในการตรวจจับโรคมะเร็งในระยะแรก และเฝ้ามองหาสัญญาณของการเป็นมะเร็งที่ตรวจสอบไม่พบอีกด้วย

ด้วยสมมติฐานนี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในการรักษาและป้องกันโรคมะเร็ง แต่ถึงอย่างนั้นทีมนักวิจัยก็ยังกล่าวว่ามันเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร และอาจจะใช้เวลากว่า30 ปีเลยทีเดียว

“ปัญหาพื้นฐานคือเราไม่เคยได้เห็นมะเร็งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ เราได้เห็นมันก็ต่อเมื่อมันเติบโตขึ้นมาแล้ว” ดร.เดวิด ครอสบี หัวหน้าศูนย์วิจัยมะเร็งในสหราชอาณาจักรกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยจากแมนเชสเตอร์กำลังเลี้ยงเนื้อเยื่อเต้านมของมนุษย์ในห้องทดลองพร้อมกับเซลล์ภูมิคุ้มกันสังเคราะห์เพื่อดูว่าพวกเขาสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นๆ ที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้หรือไม่ แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังมีอันตรายหากใช้ยาหรือภูมิคุ้มกันมากเกินไปเพราะไม่ใช่ว่าเซลล์ในระยะแรกจะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็งทั้งหมด 

ดังนั้นนักวิจัยโรคมะเร็งจะต้องทำการวิจัยอย่างแม่นยำมากขึ้น รวมไปถึงการพิจารณายีนที่เกิดมาพร้อมคนๆ นั้น และสภาพแวดล้อมที่คนๆ นั้นเติบโตขึ้นมาด้วย เพื่อที่จะหาลักษณะเฉพาะตัวส่วนบุคคลอันเป็นความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่แตกต่างกัน

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่างานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจจับเซลล์มะเร็งแต่เนิ่นๆ นั้นยังมีขนาดเล็กและขาดการเชื่อมต่อ ขาดการทดลองในหมู่ประชากรขนาดใหญ่ ดร. ครอสบีกล่าวว่าการทำงานร่วมกันจะ “ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ เปลี่ยนจากการรักษามะเร็งในระยะที่ก่อตัวขึ้นแล้วซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ไปสู่การแทรกแซง ป้องกันรักษาที่เร็วที่สุดและให้การรักษาที่รวดเร็วและคุ้มค่า”

จากสถิติของผู้ป่วยมะเร็งแสดงให้เห็นว่า 98% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีชีวิตอยู่เป็นเวลา 5 ปีหรือมากกว่านั้นหากได้รับการวินิจฉัยโรคในระยะที่หนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับหากได้รับการวินิจฉัยโรคในระยะที่สี่ จะมีชีวิตอยู่เป็นเวลา 5 ปีหรือมากกว่านั้นเพียง 26% แต่ในปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมประมาณ 44% เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะแรก

ในสหราชอาณาจักรมีโปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูกกับคนที่มีอายุ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือคัดกรองที่น่าเชื่อถือสำหรับมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งหมายความว่าอัตราการรอดชีวิตมักจะต่ำกว่ามาก

ศาสตราจารย์รีเบคกา ฟิตเจอรัลด์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กำลังพัฒนากล้องเอนโดสโคปขั้นสูงเพื่อตรวจหาร่องรอยก่อนการก่อกำเนิดเซลล์มะเร็งในท่ออาหารและลำไส้ใหญ่ เธอกล่าวว่าการตรวจจับในระยะแรกยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรและการตรวจมะเร็งบางชนิดอาจทำได้ง่ายและไม่แพง

https://www.bbc.com/news/health-50088180

https://www.theguardian.com/world/2019/oct/21/55m-anglo-us-research-alliance-to-boost-early-cancer-detection-rates

http://www.pharmatimes.com/news/cancer_research_uk_sets_bold_research_ambition_1313946

ภาพ :  gettyimages

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0