โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นักวิจัยจีนปลูกถ่าย ‘อวัยวะหมู’ ในตัวลิง – 18 วันยังอยู่รอด

Xinhua

เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 11.44 น.
นักวิจัยจีนปลูกถ่าย ‘อวัยวะหมู’ ในตัวลิง – 18 วันยังอยู่รอด
(แฟ้มภาพซินหัว : หมูในงานแสดงสินค้าเกษตรนานาชาติครั้งที่ 57 ที่ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2020)
(แฟ้มภาพซินหัว : หมูในงานแสดงสินค้าเกษตรนานาชาติครั้งที่ 57 ที่ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2020)

ซีอาน, 2 ก.ค. (ซินหัว) -- ทีมวิจัยชาวจีนประกาศว่าได้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูที่ตัดต่อพันธุกรรมในร่างกายลิง 3 ตัว และสร้างสถิติใหม่ด้วยการที่ลิง 1 ตัวในนั้นรอดชีวิตมาได้ 18 วันจนถึงขณะนี้ การทดลองแสดงให้เห็นว่าการปลูกถ่ายระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ อาจช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะของมนุษย์ได้

การทดลองดังกล่าวดำเนินการโดยนักวิจัยและคณะแพทย์ที่โรงพยาบาลซีจิ่ง ในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์กองทัพอากาศในซีอาน มณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. หลังจากหยุดการทำงานของยีนของหมู 13 ชนิดให้ต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสและปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ทำการปลูกถ่ายตับ หัวใจ และไตในร่างกายลิง 3 ตัว

โรงพยาบาลเผยว่า ลิงที่ได้รับหัวใจมีชีวิตอยู่ได้ 7 วัน ส่วนลิงที่ได้รับไตรอดชีวิตได้แค่วันเดียว อย่างไรก็ตาม ลิงที่ได้รับตับหมูนั้นมีสุขภาพดีหลังการผ่าตัด และทำลายสถิติการอยู่รอดก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 15 วัน

โต้วเคอเฟิง หัวหน้านักวิจัยและนักวิทยาตับที่โรงพยาบาล กล่าวว่าการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์เข้าสู่ร่างกายมนุษย์เป็นแนวทางในงานวิศวกรรมชีวภาพ และสุกรเป็นต้นทางที่น่าจะดีที่สุดเนื่องจากขนาดและสรีรวิทยาที่คล้ายคลึงกันกับมนุษย์ นอกจากนี้ลิงยังมีดีเอ็นเอเหมือนมนุษย์อยู่ประมาณร้อยละ 94 ซึ่งบ่งชี้ว่าการทดลองครั้งนี้ใกล้เคียงกับการปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างมนุษย์และสัตว์

โต้วเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่านี่ไม่ใช่การปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างหมูและลิงครั้งแรกในโรงพยาบาลจีน เมื่อปี 2013 มีการทดลองลิงที่ปลูกถ่ายตับหมูและรอดชีวิตอยู่ได้ 14 วัน ส่วนอีกหนึ่งปีต่อมาทีมวิจัยในสหรัฐฯ ทำลายสถิติด้วยลิงที่รอดชีวิตได้ 15 วัน

ขณะนี้มีผู้ป่วยชาวจีนประมาณ 300,000 คนกำลังรอการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่มีผู้โชคดีเพียงปีละ 20,000 คนเท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ

การขาดแคลนอวัยวะของมนุษย์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์หวังมาตลอดว่าปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้โดยใช้อวัยวะสัตว์ที่เหมาะสมแก่การปลูกถ่าย อันเป็นแนวคิดที่เรียกว่า "การปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์" (xenotransplantation)

ที่ผ่านมาทีมวิจัยหลายกลุ่มทั้งในจีนและต่างประเทศได้ศึกษาการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ อาทิ กระจกตาและผิวหนัง จากสุกรที่ถูกตัดต่อยีนไปสู่มนุษย์

"การปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์อาจช่วยเพิ่มการเข้าถึงอวัยวะ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยอีกหลายพันคนที่อยู่ในรายชื่อรอการปลูกถ่ายอวัยวะได้" โต้วระบุ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0