โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นักบินตกงานลามหนัก ‘โรงเรียนการบิน’ อัดโปรฯ ลดค่าเทอม 8 แสนดึงนักศึกษาใหม่

The Bangkok Insight

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 08.25 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 08.25 น. • The Bangkok Insight
นักบินตกงานลามหนัก ‘โรงเรียนการบิน’ อัดโปรฯ ลดค่าเทอม 8 แสนดึงนักศึกษาใหม่

อุตสาหกรรมซบทำ *“นักบิน” ตกงาน 600 คน หวั่นวิกฤติลามหนักถึงสถาบันการศึกษา โรงเรียนต้องปรับกลยุทธ์ หั่นค่าเทอม 8 แสนดึงนักศึกษาใหม่ ด้านนักบินวิ่งถกภาครัฐ ขอเปลี่ยนกฎจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น *

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการนักบิน เปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างงานนักบินในปี 2563 ว่า การจ้างงานของตลาดนักบินยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยอยู่ในขาลง แต่ตลาดกลับมีปริมาณนักบินใหม่เพิ่มมากขึ้น

โดยระหว่างปี 2560-2562 ประเทศไทยมีนักบินใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตประมาณ 500 คนต่อปี สูงกว่าช่วงก่อนหน้าที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่เพียง 300 คนต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้มีกลุ่มนักบินใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ มาลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานกับสมาคมนักบินไทยถึง 500 คน ขณะเดียวกันก็มีสายการบินบางแห่งได้ปิดตัวไปในปีที่แล้ว ทำให้นักบินที่มีประสบการณ์ทั้งในระดับกัปตันและผู้ช่วยนักบินต้องตกงานถึง 100 คน รวมแล้วจึงมีผู้ตกงาน 600 คนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะมีการเปิดให้บริการสายการบินใหม่ 2 แห่งในปีนี้ ได้แก่ ไทยอีสตาร์ เจ็ท และไทย ซัมเมอร์ ซึ่งต้องการนักบินที่มีประสบการณ์ราว 20 คนต่อแห่ง หรือรวมแล้ว 40 คน เท่ากับยังเหลือนักบินที่มีประสบการณ์ แต่ตกงานอยู่ 60 คน ซึ่งหากนักบินที่มีประสบการณ์ยังไม่ได้รับการว่าจ้างทั้งหมด ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีการจ้างงานนักบินใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรม

นอกจากการจ้างงานใหม่จะเกิดขึ้นได้ยากแล้ว นักบินในปัจจุบันก็มีโอกาสถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายการบินเอกชนที่มีสัญญาจ้างนักบินระยะสั้นเพียง 3-5 ปี เนื่องจากธุรกิจสายการบินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมัน สงคราม โรคระบาด ฯลฯ จึงต้องการลดต้นทุน ซึ่งตอนนี้คนที่อยู่ในธุรกิจการบินก็หวั่นไหวกับความเสี่ยงต่างๆ และความมั่นคงในอาชีพ

หวั่นโดมิโน่ลาม “โรงเรียนการบิน”

ขณะเดียวกันกระแสข่าวการตกงานของนักบิน ได้ส่งผลให้ผู้ปกครองเกิดความกังวลและมีผู้สมัครเรียนนักบินลดลง ซึ่งก็คาดว่าจำนวนผู้จบการศึกษาและขอรับใบอนุญาตนักบินใหม่ในปี 2563 จะมีน้อยกว่าปกติ หรือต่ำกว่า 300 คน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้เกิดความกังวลต่อว่าโรงเรียนการบินที่มีอยู่ประมาณ 10 แห่งทั่วประเทศจะได้รับผลกระทบและอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ถึงขั้นมีเลิกจ้างครูการบินในอนาคต

ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา จึงเริ่มเห็นโรงเรียนการบินขนาดเล็ก ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในภาวะที่อุตสาหกรรมถดถอย ออกโปรโมชั่นลดค่าเล่าเรียนมากถึง 8 แสนบาท เหลือ 1.69 ล้านบาทต่อคน จากปกติการเรียนนักบินจะใช้เวลาเรียน 1 ปี และใช้เงิน 2.4-2.5 ล้านบาทต่อคน

ถกภาครัฐเพิ่มการจ้างงาน “นักบินไทย”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากปัญญาหาจ้างงานในภาพรวมที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมากลุ่มนักบินจึงพยายามหารือกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อให้หามาตรการดูแลนักบินสัญชาติไทย

เบื้องต้นกลุ่มนักบินขอให้ กพท. ทบทวนเงื่อนไขการจ้างงานของสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยเพิ่มการจ้างงานนักบินไทยให้มากกว่านักบินต่างชาติ เนื่องจากสายการบินสัญชาติไทยบางแห่ง ที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ มีการจ้างงานนักบินต่างชาติเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง ทั้งที่ประเทศไทยก็มีนักบินพอเพียงและล้นตลาด

โดยปัจจุบัน กพท. กำหนดให้สายการบินต่างๆ จ้างงานนักบินไทย 20% และต่างชาติ 80% แต่ กพท. ก็อยู่ระหว่างหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้สายการบินที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOC) เพิ่มสัดส่วนการจ้างงานนักบินไทยเป็น 60% ในปีแรก จากนั้นค่อยๆ เพิ่มปีละ 10% จนครบ 100% ในปีที่ 5 และหากสายการบินต้องการต่อ AOC เป็นครั้งที่ 2 ก็ต้องมีนักบินไทยในสัดส่วน 100% เท่านั้น ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้อัตราการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นและเงินภาษีก็ไหลเวียนภายในประเทศ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0