โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นักดาราศาสตร์จีนพบ ‘ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุด’ ในทางช้างเผือก

Xinhua

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 13.10 น.
นักดาราศาสตร์จีนพบ ‘ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุด’ ในทางช้างเผือก

ปักกิ่ง, 9 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์จีนค้นพบดาวฤกษ์ที่หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ลามอสต์ (Large Sky Area Multi-Object Fiber Spectroscopic Telescope-LAMOST) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอซิงหลง มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน

ดาวฤกษ์ดวงดังกล่าวซึ่งใช้ชื่อว่า LAMOST J040643.69+542347.8 มีความเร็วในการหมุนรอบตัวเองประมาณ 540 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าดาว HD 191423 เจ้าของสถิติเดิม ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อวินาที

หลี่กวงเหว่ย ผู้วิจัยร่วมของศูนย์สังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ (NAOC) แห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ใช้วิธีวิเคราะห์สเปกตรัมของดาวและพบว่าดาวดวงนี้เป็นดาวมวลมาก (massive star) ที่มีอุณหภูมิสูง

หลี่กล่าวว่า ดาวดวงดังกล่าวมีรูปร่างเป็นทรงกลมแบนจากการที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง ทั้งยังมีรัศมีตามแนวศูนย์สูตร (Equatorial Radius) ยาวกว่ารัศมีตามแนวขั้ว (Polar Radius) ส่งผลให้แรงโน้มถ่วงที่ขั้วสูงกว่าแรงโน้มถ่วงที่เส้นศูนย์สูตร พร้อมเสริมด้วยว่าอุณหภูมิที่ขั้วทั้งสองจะสูงกว่าที่แนวศูนย์สูตร

นอกจากนี้ หลี่ยังพบว่าดาวดวงนี้ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 30,000 ปีแสง กำลังเคลื่อนที่ออกจากจุดกำเนิดของมันด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งบ่งชี้ว่ามันน่าจะกำเนิดมาจากระบบดาวคู่ (Binary system)

หลี่กล่าวว่าดาวดวงนี้เคยหมุนและก่อตัวขึ้นด้วยการพอกพูนของเทหวัตถุต่างๆ จากดาวคู่ที่กำลังขยายตัวของมัน ในระบบดังกล่าว ก่อนจะหลุดออกมา หลังดาวคู่ของมันเกิดซูเปอร์โนวาหรือการระเบิดเมื่อดาวฤกษ์สิ้นอายุขัย

ทั้งนี้ การค้นพบครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารแอสโทรฟิสิคัล เจอร์นัล เลตเทอร์ส (Astrophysical Journal Letters)

อนึ่ง กล้องโทรทรรศน์ลามอสต์ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2008 เป็นกล้องชมิดท์สะท้อนเมอร์ริเดียนเสมือน (quasi-meridian reflecting Schmidt telescope) ชนิดพิเศษ เริ่มทำการสำรวจอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2012 และสามารถใช้สังเกตเทหวัตถุได้ประมาณ 4,000 ดวง ในคราวเดียว ทั้งยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์จีนสามารถสร้างคลังข้อมูลสเปกตรัมของดวงดาว (stellar spectra) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้

สเปกตรัมดวงดาวมีความสำคัญสำหรับนักดาราศาสตร์ในการใช้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ความหนาแน่น บรรยากาศ และอำนาจแม่เหล็กของเทหวัตถุต่างๆ ด้วยข้อมูลสเปกตรัมที่กล้องลามอสต์รวบรวมไว้ บรรดานักดาราศาสตร์จึงค้นพบดวงดาวแปลกๆ และทำการศึกษาโครงสร้างของกาแล็กซีได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0