โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นักจิตวิทยาห่วงประชาชนเสพติดข่าวปล้นทอง วอนสื่อเสนอข่าวไม่ชี้นำวิธีการ ป้องเลียนแบบ

THE STANDARD

อัพเดต 10 ม.ค. 2563 เวลา 08.01 น. • เผยแพร่ 10 ม.ค. 2563 เวลา 08.01 น. • thestandard.co
นักจิตวิทยาห่วงประชาชนเสพติดข่าวปล้นทอง วอนสื่อเสนอข่าวไม่ชี้นำวิธีการ ป้องเลียนแบบ
นักจิตวิทยาห่วงประชาชนเสพติดข่าวปล้นทอง วอนสื่อเสนอข่าวไม่ชี้นำวิธีการ ป้องเลียนแบบ

วันนี้ (10 มกราคม) อธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการศูนย์ชีวิตชีวา (Viva City) เปิดเผยว่า ผู้ที่ติดตามข่าวและภาพความรุนแรงจากเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นทองที่จังหวัดลพบุรีอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการเผยแพร่ตลอดเวลา มีโอกาสเกิดความเครียดสะสมอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโกรธแค้นคนร้าย ความรู้สึกสงสารผู้สูญเสีย ทั้งหมดนี้คืออารมณ์ร่วมเช่นเดียวกับการดูละครหรือข่าวการเมือง ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้

 

อธิชาติกล่าวว่า เมื่อเสพข้อมูลข่าวสารความรุนแรงเหล่านี้จนเกิดอารมณ์ร่วมแล้ว แต่กลับไม่สามารถปลดปล่อย ระบาย หรือแสดงออกในทางใดทางหนึ่งได้ ความรู้สึกอัดอั้นเหล่านั้นก็จะแสดงออกผ่านความกังวล ความกลัว ความเศร้า และความเครียดกดดัน ซึ่งตรงนี้จะเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไปจนถึงมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด ความดันโลหิต ซึ่งระดับความรุนแรงจะแปรผันไปตามอารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้น

 

“อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย หากเราบริจาคหรือช่วยเหลืออะไรได้ ก็จะรู้สึกปลดปล่อยความทุกข์ในใจออกไป แต่ถ้าเป็นข่าวที่สามารถเสพได้อย่างเดียวแต่แอ็กชันอะไรไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์” อธิชาติกล่าว

 

หัวหน้าโครงการศูนย์ชีวิตชีวา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นว่า ประการแรกคือควรสังเกตตัวเองว่ามีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์มากน้อยเพียงใด ต้องมีสติและเสพข่าวแต่พอประมาณ แล้วเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ไม่ควรอยู่กับข่าวนานเกินไป โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์และคลิปวิดีโอจะสร้างผลกระทบรุนแรงกว่าการอ่านเนื้อหา ฉะนั้นหากจะเสพข่าวควรเลือกวิธีการอ่านมากกว่าการดู จะทำให้เกิดความเครียดน้อยลง

 

“อีกส่วนหนึ่งที่น่ากังวลคือการเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ จากการเห็นข่าวและเหตุการณ์ผ่านสื่อที่มักนำเสนอในลักษณะดราม่า ดึงอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีรายอื่นที่มีแรงจูงใจในการปล้นอยู่แล้วเกิดการลอกเลียนแบบวิธีการได้ ฉะนั้นการรายงานข่าวแบบราบเรียบ ไม่ชี้นำวิธีการจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด”

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0