โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นอเทรอดาม เพลิงไหม้ และตรรกะบาปบุญ-กรรมสนองของพุทโธเลี่ยน

The MATTER

เผยแพร่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 04.04 น. • Thinkers

บ่อยครั้งที่ผมและเพื่อนๆ เห็นข่าวคนสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งที่เชื่อจริงเชื่อจังว่าโลกเรานั้น ‘แบน’ แล้วก็พากันเอามาแซวบ้าง ค่อนขอดบ้าง หัวเราะในความดักดานของพวกเขาบ้าง แต่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่มหาวิหารนอเทรอดาม กลางกรุงปารีส ที่คนทั่วโลกต่างเอาใจช่วยกันให้ไม่เสียหายมากนักแล้ว ผมก็ถึงกับต้องหุบปากเงียบให้กับความดักดานอื่นใดในสากลโลก จากโพสต์หนึ่งที่เป็นกระแสไปทั่วโลกโซเชียลโดยมนุษย์พุทโธเลี่ยนไทยเองที่เขียนว่า ไฟที่ไหม้มหาวิหารนั้นสมควรแล้ว ดีแล้ว เพราะเป็นบาปกรรมที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้จากการรุกรานประเทศไทย

โอ้ว้าว! บอกตามตรงเลยครับว่าครั้งแรกที่เห็นนั้นทั้งโกรธ ทั้งเซ็ง และทั้งตื่นตะลึงไปพร้อมกัน กับระดับความพังที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถดำดิ่งลงไปถึงได้ แต่ก็นะ พอมาคิดย้อนดูแล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจมาก เพราะประเทศนี้เอง เมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อนก็มีคนยืนดูคนโดนแขวนคอและเอาเก้าอี้มาทุบไปเรื่อยๆ ได้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มดีใจ หรือเมื่อไม่ถึงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง เรายังมีคนเมืองผู้เจริญทางปัญญาจำนวนมาก โห่ร้องสะใจและเชียร์ขรมไปกับการกราดยิงประชาชนคนไทยด้วยกันเองกลางเมืองอยู่เลย แต่ก็นั่นแหละครับ ต้องยอมรับว่า ณ โมเมนต์ที่เห็นโพสต์ดังกล่าวก็ตกใจอย่างที่ว่าไปจริงๆ ด้วยว่ายังตั้งสติรับมือไม่ทัน

ผมคิดว่าคงจะไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรว่าความถูกต้องในเชิงเหตุผลหรือกระทั่งความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโพสต์ดังกล่าวที่ว่าบาปกรรมทำให้ไฟไหม้นั้นมันผิดอย่างไร แต่ส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะควรนำมาอภิปรายต่อคือปัญหาในเชิงกรอบโครงสร้างวิธีคิดแบบ ‘บาปบุญ-กรรมสนอง’ ที่ใช้ๆ กันมากกว่า เพราะแม้ว่าผมจะคิดว่าโพสต์ดังกล่าวเขียนขึ้นมาด้วยความตื้นเขินหรือไร้สติปานใดก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับก็คือ มันดูจะมีคนที่เห็นดีเห็นชอบหรือกระทั่งเห็นด้วยกับโพสต์ลักษณะนี้อยู่ไม่น้อย (จนกระทั่งเป็นไวรัลไปทั่ว)

ส่วนหนึ่งของโครงสร้างวาทกรรมบาปบุญและกรรมสนองนี้ ผมคิดว่าไม่มีใครปฏิเสธอิทธิพลของวิธีคิดแบบพุทธศาสนาในสังคมไทยได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือกระทั่งลักษณะเฉพาะอะไรใดๆ ปัญหาของการใช้และตีความศาสนาแบบแข็งทื่อ การเชื่อแบบหัวปักหัวปำ หรือกระทั่งการไม่ครุ่นคิดถึงปัญหาของตรรกะของตัวศาสนาต่างๆ ให้ดีนั้นเกิดขึ้นมาหมดแล้วกับทุกศาสนา และแทบทุกที่ในโลกนี้ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

ในส่วนนี้ผมอยากจะแยกอภิปรายเป็น 2 ประเด็นย่อยครับ คือ บริบทแบบค่อนข้างสากลของตัวศาสนาโดยทั่วๆ ไป และบริบทที่จำเพาะลงมาที่โครงสร้างตรรกะแบบพุทธ โดยเฉพาะวาทกรรมบาปบุญและกรรมตามสนอง ที่เหล่าพุทโธเลี่ยนผู้แข็งทื่อนั้นยึดถือไว้อย่างแน่นิ่งไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ก่อนที่จะกระโดดไปสู่ประเด็นของตัวมหาวิหารนอเทรอดามต่ออีกคำรบหนึ่ง

ประการแรกที่ผมอยากให้ลองคิดกันดีๆ ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ศาสนาหลักๆ ที่มีอยู่ในโลกตอนนี้ (อาจจะยกเว้นแต่ศาสนาอิสลาม แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมากนัก) โดยมากแล้วเกิดขึ้นบนโลกในช่วงราวๆ 2 พันปีก่อน บวกลบก็สักเล็กน้อย

ซึ่งช่วงเวลานั้นเราต้องเข้าใจนะครับว่าระบบโครงสร้างในเชิงสังคมการเมืองและวัฒนธรรมไม่ได้ซับซ้อนยิบย่อยมากมายขนาดปัจจุบันนี้ โลกเมื่อราวๆ 2 พันปีก่อนมีประชากรอยู่ประมาณ 150-330 ล้านคน ในขณะที่ปัจจุบันมีมากกว่า 7,000 ล้านคนทั่วโลก หรือก็คือ ในช่วงเวลา 2 พันปีนี้มนุษย์ทวีจำนวนขึ้น 20-46 เท่า ซึ่งเป็นอัตราเร่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยอมรับความจริงเถอะครับว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครจินตนาการออกได้อย่างชัดแจ้ง ไม่อาจวางแผนล่วงหน้า หรือเตรียมตัวได้ถูก ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นศาสดา หรือโคตรอัจฉริยะที่ไหนมาก็ตามที เพราะความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีเฉพาะปริมาณมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ และพฤติกรรมของมนุษย์ที่ปรับตามสภาพสังคมและเทคโนโลยี ณ เวลานั้นๆ ด้วย (อย่าว่าอะไรเลย ตัวเราวันนี้กับเมื่อวานยังไม่ได้เหมือนกันนักเลย อารมณ์ต่าง สภาพร่างกายต่าง ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตัวเองและสิ่งรอบข้างก็ต่างไปด้วย)

หากเรายอมรับข้อเท็จจริงง่ายๆ เบื้องต้นแค่นี้ได้แล้ว คงจะไปต่อได้ว่า ตัวโครงสร้างคำสอนของศาสนาใดก็ตามที่เกิดขึ้นมานั้น โดยหลักแล้วมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กับสังคมที่มีมนุษย์ทั่วโลกน้อยกว่าปัจจุบันนี้อย่างน้อยก็ 20 เท่า ไม่นับความหลากหลายที่น้อยกว่ามาก เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะนำคำสอนทางศาสนาใดก็ตามมาใช้กับโลกในยุคปัจจุบัน โดยไม่มีการปรับ ไม่มีการจูนความเข้าใจให้ทันสมัย ทันกระแสเสียก่อน โดยเฉพาะกับความเปลี่ยนแปลงที่เกินกว่าจินตนาการใดๆ จะไปถึง และต้องอธิบายผ่านเรื่องเล่าตำนานเหนือธรรมชาติที่นอกเหนือเหตุผลและตรรกะ เพื่อสร้างมูลค่าทางราคาให้กับตัวศาสดามากขึ้น ฉะนั้นผมคิดว่าถึงวันนี้เราควรจะพูดกันชัดๆ ได้แล้วว่า ไอ้การเอาเท้าแหย่น้ำแล้วกลายเป็นไวน์ หรือเด็กแรกเกิดเดินได้เจ็ดก้าวดอกบัวผุดบานมารองรับทั้งทางล้วนแต่เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าไร้ความจริงที่มีไว้กล่อมคนเมื่อสองพันปีก่อนเท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละครับ เรื่องเล่าที่ดูจะไร้สาระ เลอะเทอะมากๆ เหล่านี้ คิดง่ายๆ ว่าหากในวันนี้ผมไปพูดอ้างในที่สาธารณะไปทั่วว่าตัวผมเกิดมาแล้วก็สามารถพูดคุยเขียนหนังสือได้เลย เสกเศษไม้ให้กลายเป็นสเต๊กได้ ทุกคนที่ได้ยินก็จะต้องมองว่าผมเป็นคนบ้าแน่ๆ เพราะมันคือเรื่องที่ไร้ความเป็นไปได้เหลือเกิน ดูไม่น่าเชื่อถือในฐานะ ‘ความจริง’ เสียยิ่งกว่าการเล่นจำอวดตีกันของนักมวยปล้ำเสียอีก แต่นั่นแหละครับคำพูดในลักษณะเดียวกันนี้ ปาฏิหาริย์สารพัดนั้นเคยถูกเชื่อมาแล้ว เพราะการตีค่า ‘ความเป็นไปได้’ หรือ ‘โอกาสที่จะจริง’ ของโลกเมื่อสองพันปีก่อนกับตอนนี้ช่างต่างกันเหลือเกิน และนี่เองก็สะท้อนความต่างของสภาพสังคมในสองยุคชนิดไม่รู้จะว่ากันอย่างไรเลย (จริงๆ ผมไม่ต้องพูดถึงสองพันปีเลยก็ได้ แค่เรื่องปัญหาความแตกต่าง ทั้งแง่ความเข้าใจและการมองโลกของคนรุ่นเรา รุ่นลูกรุ่นหลานเรา กับรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเรา ยังมากมายสารพัดเลย ประสาอะไรกับสองพันปีก่อน)

ผมเขียนมายืดยาว เพราะเรื่องนี้เวลาพูดในประเทศที่มีพุทโธเลี่ยนคลั่งเยอะๆ แบบไทยนั้น ต้องระวังค่อนข้างมาก แต่หลักๆ ก็คือ เราต้องเข้าใจว่ามีเนื้อหาประเภทที่ดูจะเหลือเชื่อและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงปนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าตำนานและคำสอนทางศาสนาไม่น้อย และไม่ได้จะสามารถนำมาใช้แบบทื่อมะลื่อได้อย่างที่เหล่าคนคลั่งศาสนาตัวยงมักทำกัน เพราะฉะนั้นการเชื่ออะไรก็อาจจะต้องคิดและคัดแยกเอาสิ่งแปลกปลอมที่เป็นตะกอนของเวลาเมื่อกาลก่อนออกไปด้วย

ทีนี้ ในระบบคิดเรื่องบุญบาปและกรรมตามสนองของพุทธเอง ก็มีลักษณะเฉพาะพิเศษที่น่ากลัวอยู่ เพราะความต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งของตรรกะแบบพุทธกับแบบคริสต์คือ มุมมองในเรื่องเวลา

ในขณะที่ศาสนาพุทธและพราหมณ์มีมุมมองต่อเวลาแบบหมุนวนเป็นวงกลม หรือที่เรียกกันว่า cyclical time ดังจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วเกิดใหม่ เกิดแล้วตายใหม่หลายภพหลายภูมิ การมองเวลาของศาสนาคริสต์ดูจะมีความแตกต่างไปบ้าง คือจะเน้นไปที่ finite linear time หรือกาลเวลาแบบเส้นตรงที่มีจุดสิ้นสุด คือ อาร์มาเกดดอน หรือวันสิ้นโลก (the end times) นั่นเอง ความต่างในการจัดการบริหารบุญและบาปด้วย (ซึ่งก็เป็นอีกวาระที่ต้องพูดแยกไปต่างหาก)

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดบาปบุญแบบพุทธมีปัญหากับสังคมปัจจุบันมากนะครับ หากเรามองอย่างเปิดใจกันจริงๆ เพราะเวลาในยุคสมัยใหม่โดยหลักแล้วถูกมองแบบ infinite linear time หรือกาลเวลาแบบเส้นตรงที่ไร้จุดสิ้นสุด ฉะนั้นการยกเอาผลกรรมไปไว้ใช้ชาติหน้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้กับตรรกะของสังคมสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะด้วยตรรกะของโลกสมัยใหม่แล้ว “กูไม่มีชาติหน้าไปให้มึงชดใช้” หากจะชดใช้ก็ต้องทำกัน ณ ตอนนี้นี่แหละ เพราะฉะนั้นการชำระล้างบาปและจิตใจให้บริสุทธ์ เข้ารีตทางศาสนาเพื่อแก้ไขหรือชดเชยบาปกรรมที่เคยทำมาจึงใช้ไม่ได้ในการปกครองและอยู่ร่วมกันในยุคสมัยใหม่ รัฐและสังคมไม่ได้มีหน้าที่ในการ ‘ให้อภัย’ แล้วปล่อยให้ใครไปรับผลกรรมเอาเองในวันข้างหน้า รัฐสมัยใหม่ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทน ‘ล้างแค้น’ แทนประชากรของตัวรัฐเอง

แน่นอนว่าไม่ใช่การล้างแค้นแบบหนังจีนกำลังภายใน หรือกฎหมายฮัมบูราบีที่ตาต่อตาฟันต่อฟันฆ่าลูกต่อฆ่าลูกอีกแล้ว แต่เราทำภายใต้กลไกของกฎหมาย มีระเบียบวิธีที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ หลายครั้งอาจจะต้องอาศัยความอดกลั้นเพื่อรอคอยให้การแก้แค้นสัมฤทธิ์ผลบ้าง บ่อยครั้งอาจไม่สาแก่ใจ แต่ถือเป็นค่ากลางของการล้างแค้นและชดใช้ความผิดที่ผู้กระทำผิดได้ก่อไว้ เมื่อหมดโทษแล้วก็ถือ (โดยหลักการ) ว่าคนผู้นั้นบริสุทธิ์โดยสมบูรณ์อีกครั้ง กลไกการล้างแค้นนี้เองที่มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความเป็นอยู่ ณ ห้วงเวลาอันเป็นปัจจุบันสมัย ซึ่งมีจริงแน่ๆ ในขณะที่กรอบคิดทางศาสนาดูจะเน้นไปที่การลงทุนเพื่ออนาคตที่ไม่รู้ว่าจะมีจริงดังอ้างหรือไม่ อย่างคริสต์ก็จะไปรวบยอดรอดูผลในวันพิพากษา ส่วนพุทธหากมีกรรมเวรอะไรหลงเหลืออยู่ก็ไปชดใช้ต่อชาติหน้า อย่างที่พุทโธเลี่ยนสายคลั่งบอกว่าคนฝรั่งเศสโดนไปในกรณีนอเทรอดามนั่นเอง

ระบบกรรมหมุนเวียนที่แทบจะเป็นรากฐานของแนวคิดพุทธศาสนาเลยนี้เองที่มีปัญหามากในเชิงโครงสร้างตรรกะ เพราะดูจะขัดกับคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก แม้จะมีงานของพุทโธเลี่ยนสายคลั่งที่พยายามจะเคลมว่าพุทธศาสนามีความเป็นประชาธิปไตยสูงก็ตาม ตั้งแต่โดยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย[1] ไปจนถึงคำบรรยายของหลักสูตรอบรมของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ[2] เพราะเมื่อกรรมสามารถติดค้างมากับการเวียนว่ายตายเกิดได้ จึงแปลว่ามนุษย์แต่ละคนเกิดขึ้นมาด้วยระดับของกรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือว่าอีกแบบก็คือ เราต่างมีคุณค่าไม่เท่ากัน

แน่นอนครับว่าเดี๋ยวนี้คงไม่มีใครพาซื่อ หรือ naïve ขนาดจะพูดว่าความเท่าเทียมกันในตรรกะแบบประชาธิปไตยต้องเท่ากันทุกอย่างแล้ว มนุษย์เรามีความไม่เท่าเทียมในทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ อยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐในระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และระบบกฎหมายต้องรับรอง คือ ความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิทางกฎหมายและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่เป็นแกนกลางสำคัญของความเท่าเทียม ต้องไม่มีการตัดสินไปก่อนว่าใครดีกว่าหรือใครด้อยกว่า ใครบริสุทธิ์กว่าหรือบาปมากกว่าใคร มันถึงได้มีคำว่า presume innocent หรือทุกคนต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างเสมอภาคเท่ากันก่อนภายใต้กฎหมายนั่นเอง

แต่หลักคิดเรื่องกงกรรมกงเกวียนที่เวียนว่ายตายเกิดไปกับกรรมนี้เองที่ทำให้โดยหลักการแบบพุทธแล้ว ดูจะตรงข้ามกันไปเลย

เราไม่สามารถ presume innocent กับใครได้ ทุกคนต้องถูกมองว่ามีบาปมีกรรมติดตัวอยู่ก่อนเสมอ และไม่อยู่ในระดับที่เท่ากันด้วย ความไม่เท่ากันของบาปกรรมติดตัวเหล่านี้นี่เองที่ผมกลับมองว่าไม่เพียงไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีผลในการบั่นทอนพัฒนาการของประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ไม่นับไปถึงการทำลายแนวคิดแบบนิติรัฐ (กระนั้นแนวคิดแบบพุทธและประชาธิปไตยกลับถูกนำไปใช้อบรมในองค์กรระดับศาลรัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว ซึ่งผลที่ออกมาก็ดูจะเป็นอย่างที่เห็นๆ กันอยู่)

ที่ผมกล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า เราไม่อาจจะปฏิเสธอำนาจของวาทกรรมของศาสนาที่มีอิทธิพลกับสังคมได้เลย และมันมีความเป็นสถาบันที่เหนียวแน่นในตัวเองด้วย นั่นแปลว่าศาสนาอยู่กับเรามานานและจะอยู่กับเราไปอีกนาน และเมื่อศาสนามีอิทธิพล ศาสนาพุทธก็ย่อมสร้างค่านิยมในการมองคนอย่างไม่เท่ากันตามฐานตรรกะแบบบาปกรรมที่ว่ามาอยู่ตลอดเวลา เราพร้อมจะมองและให้ค่ากับสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต้องให้ค่าอะไรสูงเป็นพิเศษ เราพร้อมจะนอบน้อมและอดกลั้นต่อการขบถออกจากรีตวิถีมากกว่าปกติ เพราะมุมมองที่เรามีต่อเรื่องบุญญาบารมีและความเป็นผู้น้อย เราไม่ลังเลงที่จะลดทอนคุณค่าของคนบางกลุ่มอย่างไม่มีมูลอะไรมาก่อน อย่างกลุ่มเจ็กจีนคลั่งพุทธในไทยจำนวนมาก ที่หัวโบราณ และไม่ยอมให้ลูกคบหรือแต่งงานกับคนเชื้อสายไทย แขกอินเดีย หรือคนนิโกร (โดยอาจจะลืมนึกไปว่า พระพุทธเจ้าเองก็คนแขก) สิ่งเหล่านี้คือค่านิยมที่ยังคงตลบอบอวนอยู่ในสังคมไทย และดูไม่ healthy กับวิถีคิดแบบประชาธิปไตย

ผมคิดว่าถึงวันนี้เราต้องกล้าพูดกันอย่างชัดเจนได้แล้วครับว่า หากเราคิดจะเป็นประเทศประชาธิปไตยจริงๆ มีประชาธิปไตยเป็นแก่นแกนจริงๆ วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่ออะไรที่ขัดกันกับคุณค่าหลักของประชาธิปไตยนั้นจะมาอ้างเรื่องความหลากหลายไม่ได้อีกต่อไป ต้องปรับกันเสียบ้าง หากปรับหรือแก้ไขไม่ได้ก็ต้องพิจารณาว่าจะเททิ้งดีไหม ไม่มีประเทศชาติไหนหรอกครับที่เกิดมาแล้วพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยเลยโดยไม่ปรับอะไร เค้าก็ปรับกันทั้งนั้น และผมก็คิดว่าควรจะถึงวันที่เราจะกล้าออกมาพูดให้จัดระเบียบความคิดทางศาสนากันได้แบบเต็มปากเต็มคำ ไม่ต้องอิดออดหรือเกรงใจกันอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้ผมจะรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์เพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม และโกรธโมโหกับโพสต์พุทโธเลี่ยนที่ว่าไป ก็ไม่ได้แปลว่าโพสต์นั้นไม่มีค่าควรให้พูดถึง หรือเป็นลักษณะที่แปลกประหลาดเกินเลยอะไรนะครับ คือ ความโกรธหรือการเย้ยหยันประเทศมหาอำนาจหรือสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย (แต่ที่มันประหลาดและผิดในโพสต์นั้นคือตรรกะ ไม่ใช่ตัวการเย้ยหยัน) เพราะถึงท้ายที่สุดแล้วผมคิดว่าก็เป็นเรื่องจริงด้วยที่เราไม่สามารถตัดความเป็นมหาอำนาจของรัฐออกจากการกดขี่ การล่าอาณานิคม แนวคิดเรื่องชาตินิยม และการหาทางปลดแอกตัวเอง (self-emancipation) ได้

แม้มหาวิหารนอเทรอดาม หรือแลนด์มาร์กระดับโลกใดๆ ตั้งแต่กำแพงเมืองจีน ปราสาทฮิเมจิ บุโรพุทโธ นครวัดนครธม ทัชมาฮาล พีระมิด ซานเปโตร ฯลฯ นั้น แม้จะสวยงาม ยิ่งใหญ่ ป็นที่ระลึกจดจำ แต่พร้อมๆ กันไปก็เป็นความจริงด้วยว่าการสร้างสิ่งสวยงามยิ่งใหญ่เหล่านี้ขึ้นมาคือการขูดรีดแรงงาน การกดขี่ หยาดเหงื่อ น้ำตา และกระทั่งชีวิตของแรงงานและผู้ศรัทธาต่างๆ เพียงเพื่อตอบโจทย์ความปราถนาของผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้นๆ มันมีราคาของความสวยงามและยิ่งใหญ่อยู่ครับ การมองมหาวิหารเหล่านั้น พร้อมๆ กับความสวยงาม เราจึงควรต้องเห็นผลรวมของความงมงายและรอยเลือดไปพร้อมกันด้วย ฉะนั้นในแง่นี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะรังเกียจ (defy) สถานที่แบบนี้ (ผมรู้จักนักวิชาการไม่น้อยที่มองสถานที่หล่านี้ด้วยสายตาแบบนี้ด้วยซ้ำ) กระนั้น แม้แต่กับคนที่มองมหาแลนด์มาร์กเหล่านี้ด้วยสายตาดังกล่าว ผมก็ยังไม่พบเจอใครสักคนที่ออกมาโห่ร้องดีใจกับเพลิงไหม้นอเทรอดามอย่างที่โพสต์พุทโธเลี่ยนทำ (และนั่นคือความประหลาด) เพราะมั่นใจว่าถึงที่สุดแล้วแม้แต่กับคนที่ปฏิเสธการมีอยู่ของสถานที่เหล่านี้ ก็รู้ดีว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์สถานของการกดขี่เท่านั้น แต่เป็นศูนย์รวมของมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่ไม่อาจปฏิเสธใดๆ ได้เลย และถึงที่สุดแล้วผมคิดว่าการหัวเราะย่ำยีในวันที่สิ่งก่อสร้างพังลง ดูจะเป็นการดูหมิ่นและไม่ให้เกียรติคนที่ต้องโดนกดขี่ คนที่ต้องตายเพื่อสร้างมันขึ้นมาด้วย แน่นอนว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ผิดหรืออยู่ในบ่วงกรรมอะไรใดๆ เลยกระทั่งตามคติพุทธ เพราะนอเทรอดามสร้างก่อนที่ฝรั่งเศสจะขนเรือกลไฟมาแถวเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้หลายร้อยปี

เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่ออยากจะกระชากสติของพุทโธเลี่ยนแรงๆ น่ะครับ ว่า เออ ตั้งสติได้แล้ว ลองปรับตัวให้สมยุคดูบ้าง เราคือโมเดิร์นแมนแล้ว ถ้าจะยึดความคิดแบบสองพันปีก่อน บอกตรงๆ ผมว่ามันไม่ดูไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] โปรดดู mcu.ac.th

[2] โปรดดู www.constitutionalcourt.or.th

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0