โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นวัตกรรมหุ่นยนต์หมูปิ้ง ยกระดับสตรีตฟู้ดไทย

Rabbit Today

อัพเดต 15 ต.ค. 2562 เวลา 03.24 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 03.24 น. • โชติ เวสสวานิชกูล
นวัตกรรมหุ่นยนต์หมูปิ้ง ยกระดับสตรีตฟู้ดไทย

หลังจากปี 2560 ทาง CNN ได้ยกให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอาหารริมบาทวิถีดีที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งมีธุรกิจร้านอาหารริมทางจำนวนกว่า 103,000 ร้าน หรือคิดเป็น 69% ของร้านอาหารทั้งหมด และมูลมูลค่าสูงถึง 2.28 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.40% ต่อปี

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสตรีตฟู้ดในกรุงเทพฯ ยังต้องพบบ่อย ไม่ว่าจะเป็นย่านดังที่ไหนๆ ก็ตาม คือเสียงจากผู้บริโภคที่อยากให้สตรีตฟู้ดมีมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย เช่น การตรวจสอบสารปนเปื้อนในวัตถุดิบเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร การใช้น้ำมันทอดซ้ำ รวมถึงร้านค้าควรมีป้าย หรือเครื่องหมายอาหารปลอดภัย และป้ายบอกเมนูอาหารพร้อมราคาที่ชัดเจน หลายภาษาด้วยยิ่งดี

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้นำเอาแง่มุมดังกล่าวมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มธุรกิจสตรีตฟู้ด ตลอดจนธุรกิจอาหารระดับอุตสาหกรรม ในเชิงของการช่วยยกระดับมาตรฐานสตรีตฟู้ดด้านอาหารปลอดภัย ภายใต้แคมเปญ ‘สจล. เตรียมยกระดับสตรีตฟู้ดไทยหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส’ 

ล่าสุด ทาง สจล. ได้คิดค้นและพัฒนา ‘หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง’ หุ่นยนต์แขนกลที่ทำหน้าที่ปิ้งหมูแทนพ่อค้าแม่ขาย เพื่อให้ผู้ขายมีเวลาในการเตรียมการส่วนอื่นเพิ่มมากขึ้น และสามารถควบคุมเวลาหยิบหมูย่างขึ้นจากเตาได้ ทำให้แก้ปัญหาเรื่องบางส่วนที่ ‘ไหม้เกรียม’ ซึ่งเมื่อรับประทานในปริมาณมากและต่อเนื่อง ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว

นอกจากนี้ เนื่องจากหมูปิ้งเป็นเมนูอาหารริมทาง ที่หาซื้อง่ายและราคาไม่สูง แต่ก็ยังมีปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน จาก ‘ควัน’ ที่ลอยอยู่ในบริเวณข้างเคียงไปทั่ว ซึ่งนวัตกรรมหุ่นยนต์หมูปิ้งนี้จะช่วยลดในเรื่องของควันได้อย่างชัดเจน 
โดยองค์ประกอบของนวัตกรรมนี้ประกอบด้วย หุ่นยนต์แขนกล ที่มาพร้อมความสามารถในการหยิบจับ/ สายพานปิ้งหมู ที่สามารถหมุนได้อัตโนมัติ 360 องศา และระบบแก๊ส ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

ทั้งนี้ กระบวนการปิ้งหมูให้สุกทั่วทั้งไม้ จะใช้เวลาประมาณ 5-6 นาที ต่อไม้เท่านั้น ซึ่งในเบื้องต้นนวัตกรรมดังกล่าวยังต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ เพราะคนยังต้องเข้ามาช่วยในการเตรียมวัตถุดิบให้พร้อมต่อการปิ้ง และจัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟลูกค้าอยู่

สำหรับ ‘หุ่นยนต์แขนกล’ ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ในนามสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัทเอกชน และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขณะที่ ‘หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง’ ยังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร

สนใจนวัตกรรมสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทร. 0-2329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ Facebook: KMITL

ที่มา: ทีมนักวิจัย/ ผู้พัฒนา ดร. ภูมิ คงห้วยรอบ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0