โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ : ตำนานหมอ 5 บาทรักษาโรค : เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

 

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้วเคยมีคลินิกเล็กๆ ในซอยระนอง 1 

ที่นี่มีกระดานสีขาวเขียนข้อความ 'ค่ารักษา 5-70 บาท ทุกโรคทั่วไปที่รักษาได้'

เจ้าของคลินิกแห่งนี้เป็นอาจารย์หมอจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขาเริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2507 และไม่เคยเปลี่ยนอัตราค่ารักษา เป็นเวลานานกว่า 40 ปี 

โรงหมอแห่งนี้จึงไม่ต่างจากที่พึ่งยามยากของคนไข้ที่ไร้เงินมากมายมหาศาล 

อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้อาจารย์หมอท่านนี้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อผู้ป่วยมากเช่นนี้ 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านไปค้นหาคำตอบ ผ่านเรื่องราวชีวิตของ รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การผู้สร้างตำนาน ‘หมอ 5 บาท’ ในเมืองไทย

01

จากหมอช่างภาพสู่คลินิกคนยาก

เส้นทางการเป็นหมอของอาจารย์สภาจะเรียกว่าความบังเอิญก็คงไม่ผิด เพราะเดิมทีอาชีพนี้ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจเท่าใดนัก  

สิ่งที่อาจารย์สนใจมากสุดคือ กล้องถ่ายรูป

อาจารย์เริ่มหลงใหลการถ่ายภาพมาตั้งแต่ ม.6 หลังคุณพ่อซื้อกล้องถ่ายรูปให้ อาจารย์พยายามศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง อ่านคอลัมน์การถ่ายภาพแปลกๆ ในนิตยสาร Popular Mechanics เนื่องจากสมัยนั้นหนังสือเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปหายากมาก

แต่ด้วยความเป็นเด็กเรียนเก่ง และสมัยก่อนมีค่านิยมว่า เรียนเก่งก็ต้องเป็นหมอ ทำให้ปู่ย่าตายายยุให้สอบแพทย์ อาจารย์ก็เลือกตาม แล้วก็สอบติด ตามความต้องการของทุกคน

หากชีวิตในการเรียนแพทย์ของอาจารย์ไม่เหมือนคนอื่น เพราะขณะที่ทุกคนต่างคร่ำเคร่งกับการเรียน แต่นักเรียนแพทย์สภากลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถ่ายภาพกิจกรรมต่างๆ ถึงขั้นแปลงห้องพักในหอแพทย์ให้เป็นห้องมืดสำหรับอัดรูป

แล้วในปีสุุดท้าย ความสนุกสนานก็เริ่มกลายเป็นพิษ เพราะคณะแพทยศาสตร์ศิริราช จะมีหนังสือประจำปีอยู่เล่มหนึ่งชื่อ ‘เวชนิสิต’ ครั้งนั้นอาจารย์รับหน้าที่เป็นสารณียกร คอยดูแลการจัดทำต้นฉบับทั้งหมด อาจารย์เพลินกับการทำหนังสือจนไม่มีเวลาอ่านหนังสือเรียน และพอถึงช่วงสอบก็เลยทำไม่ได้เลย

“ตอนสอบปลายภาค สอบไป 2 วิชา ก็คิดว่าได้ซ้ำชั้นแน่ พอวิชาที่ 3 ก็ทำไม่ได้อีก ทีนี้ผมเลยไม่อ่านหนังสือ นอนดีกว่า แต่พอวิชาที่ 4 สูติศาสตร์ ปรากฏว่าทำได้หมด เหมือนฟื้นคืนชีพ ผมเลยตะลุยอ่านวิชาอื่นต่อจนสอบเสร็จ ผลออกมาคือไม่ต้องซ้ำชั้น แต่ต้องลงซัมเมอร์เพื่อสอบแก้ตัว 3 วิชาแรกที่ทำไม่ได้ ใช้เวลาทั้งหมด 9 เดือน”

การสอบรอบนั้น อาจารย์สอบได้เป็นแพทย์ประจำ สาขาสูติศาสตร์ ด้วยคะแนนอันดับ 1 แต่เนื่องจากยังเรียนไม่จบ จึงต้องถอนตัวด้วยความจำใจ และพอสอบแก้ตัวเสร็จกลายเป็นแพทย์โดยสมบูรณ์ ราชการก็ปิดรับสมัครงานแล้ว หมอใหม่ก็เลยกลายเป็นคนว่างงานไม่มีอะไรทำ

แต่เหมือนชีวิตถูกลิขิตแล้วให้ต้องอยู่กับกล้องถ่ายรูป

วันหนึ่ง ศ.นพ.สุด แสงวิเชียรปรมาจารย์กายวิภาคศาสตร์ของเมืองไทย เห็นอาจารย์สภาอยู่ว่างๆ ก็ชวนให้มาทำงานด้วยกัน โดยตอนนั้นอาจารย์หมอสุดมีโครงการอยากถ่ายภาพทางการแพทย์ เพื่อผลิตสื่อการสอนทางการแพทย์ให้แก่อาจารย์ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และงานต่างๆ ของคณะ แต่เนื่องจากงานนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาโรค จึงให้ลูกศิษย์ไปปรึกษาครอบครัวก่อนว่าจะรับดีหรือไม่

“ความจริงอาจารย์ไม่ค่อยอยากรับ เพราะรู้ว่าอาชีพนี้มันไม่เจริญ แต่ตัวผมตัดสินใจแล้วว่าจะทำ พอกลับไปถามพ่อแม่ พวกท่านก็ไม่ว่าอะไร ผมจึงไปทำงานกับอาจารย์สุด”

จากนั้นเส้นทางของอาจารย์ก็วนเวียนกับงานถ่ายภาพเรื่อยมา โดยอาจารย์ได้ทุน The China Medical Board of New York Institute ของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ให้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นอาจารย์ได้ไปฝึกงานในแผนก Medical Illustration ที่มหาวิทยาลัย John Hopkins นาน 6 เดือน จากนั้นก็เดินสายฝึกถ่ายภาพตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

ก่อนกลับมาประจำอยู่ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดาล และร่วมบุกเบิกโรงเรียนช่างภาพการแพทย์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา) ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนถ่ายภาพทางการแพทย์แห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย

ในช่วงนั้นเองก็มีเพื่อนหมอท่านหนึ่ง มาบอกว่าตึกชั้นล่างของเขาว่างอยู่ เลยอยากชักชวนให้มาทำคลินิกร่วมกัน อาจารย์สภาเห็นเป็นโอกาสที่จะทำงานรักษาคนบ้าง จึงตอบตกลง แต่ทำไปได้ไม่กี่เดือน พอมาคิดกำไร ปรากฏว่าไม่เหลือแบ่ง เพื่อนเลยขอถอนตัว ให้อาจารย์สภาทำคนเดียว ส่วนเพื่อนก็เปลี่ยนมาเก็บค่าเช่าสถานที่แทน

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘คลินิก 5 บาท’ ตำนานที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึง 40 กว่าปี

 

02

คลินิกที่ทุกคนเข้าถึงได้

หากแต่เส้นทางการเป็นหมอประจำคลินิกของอาจารย์นั้นแตกต่างกับแพทย์คนอื่นอย่างสิ้นเชิง 

เพราะสมัยก่อนการรักษาคลินิกก็ไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนทุกวันนี้

ข้อดีคือ ได้รับบริการที่รวดเร็ว ไม่ต้องมานั่งรอกันนานเป็นวันๆ เหมือนโรงพยาบาลรัฐ แต่ขณะเดียวกัน คนไข้ก็ต้องยอมจ่ายค่าบริการในราคาที่สูงกว่าเกือบเท่าตัว

แต่อาจารย์สภายึดหลัก ‘ไม่หวังรวย แค่คนไข้หายก็พอใจ’

เนื่องจากสมัยวัยเด็ก อาจารย์ป่วยบ่อยมาก ตอน 3-4 ขวบเป็นโรคคอตีบ พอโตขึ้นก็เป็นไทรอยด์ ต่อมาก็ปอดบวม คุณแม่เลยต้องพาไปโรงพยาบาลเป็นประจำ แถมแต่ละครั้งก็ต้องเสียเงินจำนวนมาก พอมาทำคลินิกของตัวเอง อาจารย์ก็เลยมีภาพในฝัน อยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการในราคาไม่แพงนัก

อาจารย์พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่ารักษาแพง มาจากค่าหมอที่แพงกว่าค่ายา อาจารย์เลยไม่คิดค่าตัว คิดแต่ค่ายาบวกกำไรนิดหน่อย โดยยาส่วนใหญ่ก็สั่งจากโรงงานในเมืองไทย สั่งมาครั้งละเยอะๆ เพื่อจะได้ประหยัดต้นทุน พอได้ยาถูก อาจารย์ก็จะมาบวกกำไรเล็กนิดหน่อย เช่นเม็ดละ 80 สตางค์ อาจารย์คิดแค่เม็ดละบาท แล้วก็จ่ายให้คนไข้ต่อ

“ยากระปุก 1,000 เม็ด เดิมกระปุกละ 100 บาท ตอนนี้เป็น 140 บาท จ่ายให้คนไข้ 5 เม็ดบาท ก็ยังมีกำไรอยู่นิดหน่อย.. ร้านยาทุกวันนี้ค่าโสหุ้ยเยอะ ถ้าขายอย่างเราก็ขาดทุน อย่างคลินิกทั่วไปค่าเซ้งห้องเป็นล้าน ตกแต่งอีกหลายแสน หรืออย่างโรงพยาบาลเอกชนสร้างทีต้องลงทุน 30-40 ล้านบาท เขาก็ต้องเก็บแพงหน่อยให้คุ้มกับที่ลงทุน คลินิกของผมมันแค่ห้องเล็กๆ ค่าเช่าเดือนละ 2,500 บาท

“ถ้าแค่ปวดไข้ธรรมดาให้ยาพาราเซตามอล ผมก็คิดแค่ 5 บาท จ่ายไป 25 เม็ด ต่างจากโดยทั่วไปที่เขาขายกันเม็ดละบาท .. คือเวลาคิดเงินก็จะดูจากยาว่ายาถูกหรือยาแพง แต่ถ้าคนไข้ไม่มีจริงๆ ก็ไม่คิด หรือบางทีเขามีไม่พอก็บอกว่าไม่ต้องก็ได้ แต่พอเขามีเขาก็มาจ่ายทีหลัง คนไข้เป็นคนซื่อตรงมาก ถ้ารักษากับผมไม่ต้องเอามาเกินใบละร้อย”

วิธีคิดแบบหนึ่งของอาจารย์ คือคนไข้ต้องสิ้นเปลืองน้อยที่สุด และยาที่จ่ายไปให้ต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด อาจารย์ไม่ชอบให้คนไข้ไปซื้อยากินเอง เพราะหลายคนซื้อมาแล้วก็กินแบบทิ้งๆ ขว้างๆ กิน 2 เม็ด รู้สึกว่าหายแล้วก็เลิกกิน จนสุดท้ายกลับมาเป็นอีก และบางครั้งรุนแรงถึงขั้นดื้อยา

ที่สำคัญคือ อาจารย์จะไม่จ่ายยาเผื่อ กินให้หมดแล้วค่อยกลับมาเอาใหม่ และอาการบางประเภทเช่นน้ำมูกไหลนิดๆ หน่อยๆ อาจารย์จะไม่จ่ายยา แต่ให้ไปพักสักหน่อย พอน้ำมูกหมดก็หายเอง

“ผมรับรักษาเฉพาะโรคพื้นฐานทั่วไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ฤดูฝนคนไข้ก็เป็นหวัด ทอนซิลอักเสบ เด็กๆ ไอเจ็บคอมากันเยอะ แต่ถ้าตรวจพบว่ามีอาการหนัก ก็จะแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งเครื่องมือทันสมัยสามารถตรวจได้อย่างละเอียด  แต่คนไข้มักจะบอกว่าไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะเสียเวลาเต็มวัน หมอก็ต้องเตือนสติคนไข้ว่า เสียเวลาวันเดียวดีกว่าต้องนอนแซ่วอยู่บนที่นอนหลายวัน”

นอกจากการรักษาให้หายด้วยราคาประหยัดแล้ว อีกสิ่งที่อาจารย์ย้ำเสมอ คือการดูแลรักษาตัวเอง พร้อมแนะนำการปฏิบัติต่างๆ เพราะนั่นหมายถึงการมีสุขภาพที่ดี และหนทางที่ทุกคนจะได้ใช้ชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแพทย์เกินความจำเป็น

“วิธีช่วยคนไข้ที่ดีสุด คืออธิบายให้เข้าใจว่าเขาเป็นอะไร ต้องกินยายังไง ต้องรักษาตัวยังไง ถึงจะหายตามที่เราต้องการ เชื่อไหม ผมจับได้ทุกครั้ง เวลาคนไข้กินยาไม่ครบ กินมื้อเว้นสองมื้อ ให้กิน 4 เวลา กินเสีย 2 เวลา เลยต้องกำชับให้กินให้ถูกต้อง แล้วก็หายทุกราย ซึ่งพอหายเราก็มีกำลังใจขึ้น เพราะผมไม่ใช่หมอทางคลินิก แต่เป็นหมอทางปรีคลินิก”

03

เรื่องเล่าหลังความเจ็บป่วย

“ผมเปิดคลินิกเพราะอยากใช้วิชาชีพรักษาคนตามที่ร่ำเรียนมา มันยังทำให้เราได้รู้จักคนหลายๆ แบบ ได้พูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนเหล่านั้น”

ตลอด 40 กว่าปี อาจารย์สภาทำงานคนเดียว ไม่มีผู้ช่วยเลย หากถามว่าคลินิกนี้ช่วยคนไข้มาแล้วกี่คน อาจารย์ไม่เคยนับ เนื่องจากไม่ทำเวชระเบียนคนไข้ เพราะอาจารย์ยึดหลักรักษาโรคพื้นฐานเป็นหลัก ส่วนโรคหนักๆ ส่งให้ไปโรงพยาบาล

หากแต่การช่วยเหลือของอาจารย์สภา ไม่ได้จำเพาะแค่โรคทางกายเท่านั้น แม้แต่โรคทางใจอาจารย์ก็เยียวยามาแล้วนับไม่ถ้วน

“มีรายหนึ่งที่ผมจำได้แม่นเลย เป็นหญิงตั้งครรภ์ มาหาผมบอกว่าตั้งครรภ์แล้วรู้สึกหงุดหงิด หวาดระแวงว่าสามีจะไปทำตัวเหลวไหล พานทำให้คิดมาก นอนไม่หลับ ขี้โมโห โรคอย่างนี้ยารักษาไม่ได้ ผมต้องนั่งอธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าหงุดหงิดอารมณ์เสีย เราเองเป็นฝ่ายที่ขาดทุน เครียดแล้วเหนื่อยเปล่าๆ จากนั้นก็ให้เรียกสามีมา ผมก็สั่งสอนเขาว่าให้ดูแล มีเวลาให้ภรรยามากๆ คนกำลังท้องกำลังไส้ อารมณ์แปรปรวนง่าย วันต่อมาเดินมายิ้มทั้งสองคนเลย”

สิ่งที่อาจารย์เรียนรู้จากการทำคลินิกนี้ คือ เงินทองมีเยอะแค่ไหน ตายไปก็ไม่ใครเอาไปได้ สู้เลือกมีความสุขกับการช่วยเหลือคนดีกว่า

เชื่อหรือไม่ ตั้งแต่ทำคลินิกมา อาจารย์ไม่เคยทะเลาะกับคนไข้เลย เพราะเขาเห็นทุกคนเป็นเหมือนลูกหลาน เช่นเดียวกับคนไข้ที่มองเห็นคุณหมอเป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่ บางคนเรียกอาจารย์ว่า พ่อบ้าง คุณลุงบ้าง คุณหมอใจดีบ้าง นี่คือผลของความสัมพันธ์ที่ถูกส่งจากรุ่นสู่รุ่นมาเนิ่นนาน

“บางคนมารักษากับผมตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวันนี้ก็โตมีลูก ก็เอามารักษากับเรา ปรัชญาในการทำงานของผมก็คือเราต้องดีกับเขา เวลาพวกเขาให้เกียรติมารักษากับเรา ผมจะไม่เลี้ยงไข้และจะไม่ปล่อยให้เขาหนัก ถ้าตรวจแล้วเห็นว่าเขาสมควรส่งโรงพยาบาล ก็ต้องรีบส่งเลย”

เพราะฉะนั้นคลินิกนี้จะแทบไม่ได้เพิ่มรายได้แก่อาจารย์เลย และหลายครั้งเอาอาจารย์ยังต้องเอาเงินเดือนประจำที่ได้จากราชการมาประคองให้คลินิกเล็กๆ ยังคงอยู่ได้

ไม่แปลกเลยว่าทำไมเพื่อนของอาจารย์บางคนจึงมักบอกเสมอว่า ‘โง่’ ทำแล้วก็เหนื่อยเปล่าๆ แต่อาจารย์ก็ไม่สนใจ 

นอกจากนี้อาจารย์ยังเคยถูกสรรพากรเรียกเก็บเงิน 10,000 บาท ด้วยความเชื่อว่าเป็นหมอเปิดคลินิกต้องรวย ต้องมีเงิน แต่อาจารย์ไม่ยอมจ่าย เพราะเปิดคลินิกมาตลอดทั้งปี ก็ยังได้เงินไม่ถึงเลย จนกรมสรรพากรขู่ว่าจะฟ้อง ซึ่งอาจารย์ก็ขอสู้ เพราะหากฟ้องจริง คนไข้ก็พร้อมเหมารถไปเป็นพยานให้

แต่สุดท้ายอาจารย์ก็ยอมจ่าย เพราะสงสารเจ้าหน้าที่สรรพากร

“เขามาขอร้อง บอกว่าทุกคนจ่ายหมดแล้วยกเว้นผมคนเดียว ถ้าเขาเก็บเงินผมไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดของเขา ไม่ใช่หัวหน้า เขาอ้อนวอนบอกว่าให้ผมผ่อนก็ได้ อย่าทำให้เขาเสียประวัติเลย ผมตกลงผ่อนส่ง 3 เดือน จะได้หมดเรื่องกันไป”

ด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้เอง ทำให้อาจารย์สภากลายเป็นที่รักที่เคารพของผู้คนเรื่อยมา 

04

ปณิธานที่ไม่เคยตาย

แม้อายุจะเลย 70 มาหลายปี แต่อาจารย์สภายังคงเดินทางจากบ้านย่านบางขุนนนท์มาที่คลินิกย่านพญาไทเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

คลินิกแห่งนี้เปิดทำการทุกวัน เว้นวันเสาร์ วันละประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากอาจารย์มีภารกิจต้องสอนหนังสือที่โรงเรียนเวชนิทัศน์ฯ ซึ่งทำต่อเนื่องแม้เกษียณมาเป็นสิบปีแล้ว โดยแต่ละวันมีคนไข้มานั่งรอราวๆ สิบกว่าราย เว้นแต่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาลที่คนจะป่วยมากเป็นพิเศษ

“ที่นี่มันคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต.. คนไข้แก่ๆ ก็จะบอกว่าอย่าเพิ่งตายนะ อยู่ดูแลเขาก่อน.. แต่คนจะตายมันห้ามกันไม่ได้ ผมเลยบอกไปว่า หากหมอปิดร้านเกิน 3 วันโดยไม่มีป้ายบอก แสดงว่าเสร็จแล้ว ไม่ตายก็เจ็บหนัก ไม่ต้องมานั่งรอกันล่ะ..

“แต่ผมก็เตรียมไว้หมดแล้ว ของสะสม 2 ตู้เอาออกมาแจก บอกใครชอบอะไรมาหยิบเอาไป หนังสือเป็นพันเล่มบริจาคให้ห้องสมุด ส่วนคลินิกก็มีผู้ปกครองนักศึกษาแพทย์พาลูกมาดู ผมบอกว่าเรียนแล้วมาเลย ผมจะยกให้ทุกอย่าง จะขนยาที่บ้านมาให้ด้วย ให้เขาทำต่อ”

กระทั่งในปี 2553 อาจารย์เริ่มประสบปัญหาสุขภาพรุมเร้า ทั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง แล้ววันหนึ่งก็เกิดอาการหน้ามืด ต้องแอดมินเข้าโรงพยาบาลด่วน ผลปรากฏว่า ประสาทหูด้านขวาเสีย เพราะขาดเลือด ส่วนหูข้างซ้ายเสียไป 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 วัน

สุดท้ายอาจารย์จึงเลิกสอนหนังสือ เหลือแค่งานที่ปรึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ไม่เคยหยุด คือคลินิก 5 บาทแห่งนี้ แม้จะขับรถมาไม่ไหว ต้องถือไม้เท้านั่งแท็กซี่จากบ้านไม่ต่ำร้อยบาท เพื่อมาตรวจรักษาคนไข้ แม้จะได้เงินไม่กี่สิบบาท ไม่คุ้มค่ารถหรือค่าเช่า แต่อาจารย์ก็เลือกที่จะทำ เพราะรู้ว่ายังมีคนไข้ที่ต้องการที่พึ่งอยู่

สำหรับอาจารย์แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นมาตลอดคือ เมืองไทยมีบริการทางการแพทย์ที่ดีๆ ออกมารองรับผู้ป่วย ในราคาที่เป็นธรรม และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 

หลังจากนั้นไม่นานสุขภาพของอาจารย์ก็เสื่อมลง และต้องย้ายไปพักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช จนกระทั่งจากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559

แม้วันนี้ ตำนานหมอ 5 บาทจะปิดฉากลงตลอดกาล แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไป คือจิตวิญญาณและความเชื่อของอาจารย์สภาในฐานะของหมอที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคนไข้ให้ดีที่สุด

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบ

  • นิตยสาร Open ปีที่ 5 ฉบับที่ 37 เดือนพฤศจิกายน 2546
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 26 ฉบับที่ 302 เดือนสิงหาคม 2553
  • MGR Online วันที่ 31 พฤษภาคม 2547
  • หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 4 มิถุนายน 2555
  • รายการบัลลังก์คนดี ตอน หมอห้าบาท วันที่ 10-12 พฤษภาคม 2553
  • ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2559
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0