โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นงนุช สิงหเดชะ | เหตุแห่งความ "พ่ายแพ้" ของ ปชป.

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 05.50 น.
นงนุช

ความพ่ายแพ้ของพรรคเก่าแก่ที่สุดอย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คงจะถูกกล่าวถึงไปอีกนาน เพราะถือว่าพลิกล็อกถล่มทลาย โดยเฉพาะการที่ไม่ได้ ส.ส.เขตในกรุงเทพฯ เลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ ปชป.เป็นแชมป์ กทม.มานาน

ที่ผ่านมา ปชป.มักได้จำนวน ส.ส.กรุงเทพฯ ในระดับ 2 หลักขึ้นไป หรือเฉลี่ยแล้วก็ไม่หนี 18-20 เขต จากทั้งหมด 30 เขต (เดิม 31 เขต) แต่ครั้งนี้อย่างที่ทราบกัน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายกำชัยในกรุงเทพฯ กวาดไป 12 ที่นั่ง ส่วนอีก 18 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยแบ่งไปคนละครึ่ง

สรุปให้เห็นภาพก็คือ เพื่อไทยรักษาเก้าอี้ กทม.ไว้ได้ใกล้เคียงของเดิม ส่วน พปชร.และอนาคตใหม่เป็นพวกตาอยู่มาแรง เป็นหน้าใหม่ที่สามารถกวาดเก้าอี้ได้มาก

โดยปกติฐานเสียงหลักของ ปชป.อยู่ที่ภาคใต้กับกรุงเทพฯ แต่เลือกตั้งคราวนี้แม้แต่ภาคใต้ ปชป.ก็เสียที่นั่งไปเกินครึ่งให้กับ พปชร. ภูมิใจไทยและประชาชาติ ได้มาเพียง 22 เก้าอี้ จากทั้งหมด 50 เขต

จึงทำให้รวมแล้วทั้งประเทศ ปชป.ได้ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ 52 ที่นั่ง หล่นมาอยู่อันดับ 4 รองจากเพื่อไทย พปชร. และอนาคตใหม่

นับว่าจำนวน ส.ส.ของ ปชป.ต่ำกว่าที่ประเมินราวครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่เชื่อว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 100 เก้าอี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคตามสัญญา

ก่อนการเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์เศษ นายอภิสิทธิ์และ ปชป.ได้ออกแคมเปญหาเสียงที่ฮือฮา เมื่อนายอภิสิทธิ์ออกคลิปประกาศจุดยืนทางการเมืองว่า “ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์”

ทำให้มีบางคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า การประกาศเช่นนั้นอาจทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพราะได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 ที่นั่งเป็นแน่แท้

การประกาศของนายอภิสิทธิ์ ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมาติงว่า ประกาศเร็วไปหน่อยไหม ไม่ควรออกมาพูดตอนนี้เพราะทำให้นักลงทุนขวัญกระเจิง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ตอบโต้ว่า หลังประกาศจุดยืนออกไป หุ้นขึ้นติดกัน 2 วัน

อันที่จริงการที่หุ้นขึ้น 12 จุดในวันที่ 13 มีนาคม หรือหลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนนั้น เกิดจาก FTSE ซึ่งเป็นบริษัทอิสระจัดอันดับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (เกิดจากความร่วมมือของไฟแนนเชียล ไทม์ส และตลาดหุ้นลอนดอน) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลและคำนวณเพื่อเพิ่มน้ำหนักก็ดำเนินการมาก่อนหน้านั้นระยะหนึ่งแล้ว

การที่หุ้นขึ้นจึงไม่เกี่ยวกับการประกาศจุดยืนของ ปชป.

นอกจากนี้ กรรมการบริหารของ ปชป.ก็ยังอ้างว่า หลังประกาศจุดยืนไปแล้ว ได้รับการตอบรับในทางสนับสนุนจากประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้คนที่ไม่ใช่เซียนการเมืองหรือคลุกคลีการเมือง เมื่อมองจากวงนอก ย่อมเห็นเค้ารางๆ ว่าการประกาศเช่นนั้นน่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และไม่มีทางที่ ปชป.จะได้คะแนนเพิ่ม

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบทำให้ ปชป.ช็อกไปทั้งพรรค นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมรับว่าเป็นผลจากการประกาศไม่เอาประยุทธ์ แต่น่าจะเป็นผลจากฮ่องกงเอฟเฟ็กต์ (กรณีภาพเหตุการณ์ในงานแต่งลูกสาวทักษิณที่ฮ่องกงก่อนเลือกตั้ง 1 วัน) ที่ทำให้คนยังกลัวทักษิณ

ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.ปชป.พิษณุโลก ที่ต้องพ่ายแพ้ครั้งนี้ด้วย ออกมาระบุว่า เกิดจากความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของพรรคที่ไปต่อสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย

คนที่มองอยู่วงนอก ค่อนไปในทางที่เห็นด้วยกับ นพ.วรงค์ว่า ปชป.ผิดพลาดที่ไปประกาศยืนคนละฝั่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ (แม้จะกั๊กว่ายินดีร่วมงานกับ พปชร.ต่อเมื่อไม่มี พล.อ.ประยุทธ์)

เพราะหากตรวจสอบจากโซเชียลมีเดีย จะรู้ว่า คนที่ไม่เอาทักษิณ แต่ยังลังเลว่าจะเลือกพรรคไหน ตัดสินใจว่าจะเลือกใครได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เมื่อพรรคไทยรักษาชาติประกาศชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

บางคนกัดฟันเลือกประยุทธ์แม้จะไม่ถูกใจเท่าไหร่ บางคนอาจเลือกอภิสิทธิ์เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว หลังเลือกตั้ง 2 พรรคนี้จะจับมือกันตั้งรัฐบาลเพื่อเอาชนะขั้วทักษิณ

ก่อนเลือกตั้ง ผลโพลเกือบทุกสำนักที่สำรวจหลายครั้ง ได้บทสรุปออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในฐานะผู้ที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาคือคุณหญิงสุดารัตน์ ส่วนคะแนนพรรคเพื่อไทยยังเป็นที่ 1 ปชป.ที่ 2 และ พปชร.ที่ 3

ฐานเสียง ปชป.กับ พปชร.ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงเดียวกัน แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศไม่จับมือกับประยุทธ์ ทำให้คนที่ไม่เอาทักษิณหมดทางเลือก จำต้องเทคะแนนให้กับพลังประชารัฐ เพราะรู้ว่าไม่มีทางที่ ปชป.จะได้ที่ 1 จนสามารถตั้งรัฐบาลได้ หนทางที่ดีกว่าคือทุ่มคะแนนให้พลังประชารัฐเพื่อขึ้นไปเบียดกับเพื่อไทย

แม้แฟนๆ จะยังรัก ปชป.อยู่ แต่สถานการณ์เช่นนี้ต้องให้แน่ใจว่า พปชร.จะสามารถมีคะแนนเสียงพอจะตั้งรัฐบาลได้และต้องได้เยอะกว่า ปชป. เนื่องจากการจะหวังให้ ปชป.ไปสู้กับพรรคเพื่อไทยได้อย่างสูสีคงยากมาก

นี่คือสถานการณ์และอารมณ์ประชาชนที่ ปชป.มองไม่ออก ทั้งที่คนรุ่นใหม่ในพรรคจำนวนมากเล่นโซเชียลมีเดีย น่าจะมองเห็นอารมณ์และแนวโน้มของฐานเสียงภายหลังหัวหน้าพรรคประกาศจุดยืนเช่นนั้น

หากเป็นยามบ้านเมืองปกติ การประกาศจุดยืนลักษณะนั้นอาจทำให้ ปชป.ได้รับความนิยมชื่นชม แต่ไม่ใช่สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ที่ประชาชนฝ่ายไม่เอาทักษิณมองว่า ประยุทธ์เท่านั้นคือคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับซีกทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนทักษิณมักจะวิเคราะห์ด้วยการ “ยัดเหตุผล” ที่ตัวเองตั้งธงไว้ว่า สาเหตุที่ ปชป.แพ้เพราะไม่เดินในเส้นทางประชาธิปไตย โดยอ้างตั้งแต่เรื่องที่บอยคอตไม่ลงเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ยุคยิ่งลักษณ์

อ้างเรื่องการไปร่วมกับกลุ่มนกหวีดประท้วง การเล่นการเมืองบนท้องถนน อ้างว่าตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร (ช่วงที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบแล้วนายอภิสิทธิ์ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ) แล้วก็สรุปเสร็จสรรพว่าไม่ได้แพ้เพราะประกาศต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์

ก็เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายตรงข้าม ปชป.จะยัดเหตุผลเช่นนั้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับซีกตัวเอง ที่อ้างว่าเป็นซีกประชาธิปไตย เพราะถ้ายอมรับว่า ปชป.แพ้เพราะต่อต้านประยุทธ์ ก็จะเป็นการสร้างความนิยมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์และพลังประชารัฐ

ถ้าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปชป.แพ้ เป็นไปตามที่ฝ่ายโปรทักษิณกล่าวอ้าง ปชป.ก็น่าจะแพ้เลือกตั้งหลุดลุ่ยตั้งแต่คราวเลือกตั้งปี 2554 แต่จะเห็นว่าในปีนั้น ปชป.ก็ยังได้เกือบ 160 ที่นั่ง

หาก ปชป.แพ้เพราะคนรักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ผละหนีจริง พลังประชารัฐที่เป็นขั้วเดียวกันก็ไม่น่าได้คะแนนรวมสูงเป็นอันดับหนึ่ง (8.4 ล้านเสียง) แต่กลับเป็นว่าคะแนนส่วนใหญ่ก็ยังไหลเวียนอยู่ในขั้วใครขั้วมันเช่นเดิม คือขั้วเอากับไม่เอาทักษิณ

หากดูให้ดีจะเห็นว่า คะแนนเดิมของเพื่อไทยคราวที่แล้ว 15 ล้านเสียง ปชป. 11.4 ล้านเสียง

แต่คราวนี้เพื่อไทยเหลือ 7.9 ล้านเสียง หายไป 7 ล้านกว่าเสียง ความน่าจะเป็นคือไหลไปอนาคตใหม่ (6.2 ล้านเสียง) เป็นหลัก ที่เหลือก็กระจายกันไปยังพรรคแบงก์ร้อยของเพื่อไทย เช่น ประชาชาติ เพื่อชาติ ฯลฯ เป็นหลัก อีกส่วนก็ถูกภูมิใจไทยและ พปชร.แย่งชิงไป

ส่วน ปชป.เหลือ 3.9 ล้านเสียง หายไป 7.5 ล้านเสียง ส่วนมากน่าจะไหลไปหา พปชร.และภูมิใจไทย และอีกส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะ กทม.) ไหลไปอนาคตใหม่

คะแนนใน กทม.ชัดเจนว่าฐานเดิมของ ปชป.ไหลไปหาพลังประชารัฐเป็นหลัก หากคนรักประชาธิปไตยไม่ชอบประชาธิปัตย์หรือพรรคที่ถูกหาว่าไม่ใช่ซีกประชาธิปไตย คะแนน กทม.ควรไปกองอยู่ที่เพื่อไทยและอนาคตใหม่ทั้งหมด การที่เพื่อไทยได้เก้าอี้ กทม.ใกล้เคียงของเดิม ก็แสดงว่าไม่มีฐานเสียงใหม่ๆ ย้ายมาหาเพื่อไทย แม้จะพร่ำเรื่องประชาธิปไตย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0