โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ธ.ก.ส. ผ่าตัดใหญ่!ปรับโครงสร้างองค์กรดูแลเกษตรกรเชิงลึก

ไทยโพสต์

อัพเดต 16 ก.ค. 2561 เวลา 03.14 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2561 เวลา 01.38 น. • ไทยโพสต์

                            ธ.ก.ส. ผ่าตัดใหญ่!ปรับโครงสร้างองค์กรดูแลเกษตรกรเชิงลึก

 

ธ.ก.ส. ผ่าตัดใหญ่ ลุยปรับโครงสร้างองค์กรรับลูกนโยบายรัฐเดินหน้าดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่ม ยันไม่มีปิดสาขาแน่นอน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.นี้ ธนาคารได้เริ่มปรับใช้โครงสร้างบริหารแบบใหม่ เพื่อใช้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการดูแลเกษตรผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเกษตรกร  เอสเอ็มอีภาคเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ให้พ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการปรับครั้งนี้ได้เพิ่มตำแหน่งรองผู้จัดการดูแลงานจาก 5 ด้าน เป็น 6 ด้าน มีสายงานเพิ่มเป็น 14 สายงาน ฝ่ายงาน 28 ฝ่าย และสำนักเพิ่มเป็น 20 สำนัก

ทั้งนี้ภายในโครงสร้างใหม่มีการปรับปรุงรายละเอียดการทำงานค่อนข้างเยอะ เช่น กลุ่มดูแลการทางการเงินสินเชื่อ เงินฝาก เดิมจะมีเพียงฝ่ายเดียวดูแลลูกค้าทุกกลุ่มเหมือนกันหมด แต่ในโครงสร้างใหม่จะแบ่งฝ่ายสินเชื่อออกเป็น 3 ฝ่ายเพื่อดูแลลูกค้าแยกออกจากกันอย่างชัดเจน คือ กลุ่มสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อย สินเชื่อสำหรับเกษตรกรทั่วไป และสินเชื่อสำหรับลูกค้าองค์กร เอสเอ็มอีเกษตร ลูกค้าชุมชน และสหกรณ์  โดยแต่ละกลุ่มจะมีทีมงานดูแลสินเชื่อเฉพาะเพื่อออกแบบมาตรการดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรจะเป็นหัวใจหลักที่ช่วยกระจายรายได้ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ในฝ่ายสินเชื่อยังมีการแบ่งแยกหน้าที่ตามข้อแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ กลุ่มวิเคราะห์สินเชื่อ ได้แยกออกจากกลุ่มออกผลิตภัณฑ์ และมีสำนักพิธีการตรวจสอบเงื่อนไขและหลักประกัน กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ขายแยกออกมา เพื่อให้สามารถตรวจสอบกันได้เอง ทำให้ต่อไปการออกบัญชีเงินฝาก สินเชื่อเงินกู้ ดอกเบี้ยพิเศษของธ.ก.ส.จะเข้าไปบริการลูกค้าได้ตรงมากขึ้น เช่น ผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถออมเท่าไร ได้ประโยชน์เท่าไรก็จะมีแพ็กเก็จรวมเงินสินเชื่อ เงินกู้ และประกันภัยให้ตรงกับความต้องลูกค้า รวมถึงยังมีการแยกฝ่ายงานดิจิตอลออกมาด้วย

“ธนาคารยืนยันว่าไม่มีนโยบายปิดสาขา แต่เมื่อได้รับภารกิจในการทำงานเพิ่มขึ้นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของธ.ก.ส.ระยะ 9 ปีด้วย  โดยโครงสร้างใหม่จะเหลือฝ่ายที่ทำงานแบบเดิมไม่ถึง 10 ฝ่าย ที่เหลือจะปรับการทำงานใหม่หมด แต่ก็ยอมรับว่าหลังการปรับโครงสร้างใหม่แล้ว อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวในการทำงานบ้างเพราะครั้งนี้ปรับเยอะ แต่ธนาคารก็จะเร่งผลงานให้ตามเป้าหมาย และธนาคารกำลังหารือถึงแนวคิดการปรับโครงสร้างสาขาธนาคารช่วงเดือนต.ค.นี้ด้วย แต่จะค่อยๆทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบมาก” นายอภิรมย์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่ของ ธ.ก.ส. ประกอบด้วย ด้านกลยุทธ์ดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านกลยุทธ์องค์กรและทรัพยากรมนุษย์ อาทิ สายงานกลยุทธ์องค์กร ด้านบัญชีการเงินและธุรกิจธนาคาร ได้แก่ สายงานบัญชีและการเงิน สายงานธุรกิจธนาคาร สายงานสนับสนุนผลิตภัณฑ์ ด้านธุรกิจสินเชื่อเกษตรกรและนโยบายรัฐ ประกอบด้วย สายงานสินเชื่อเกษตรกร สายงานบริหารงานนโยบายรัฐ ด้านธุรกิจสินเชื่อเกษตรรายใหญ่และสถาบันการเกษตรกร อาทิ สายงานสินเชื่อผู้ประกอบการ  และสายงานพัฒนาลูกค้าและชนบท ด้านบริหารสาขา ประกอบด้วยสาขาภาค 9 ภาค เป็นต้น

นายอภิรมย์ กล่าวด้วยว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายการทำงานไว้เหมือนเดิมในการก้าวเป็นศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท โดยในปีบัญชี 61 (1 เม.ย. 61-31 มี.ค.62) ตั้งเป้าหมายสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 9.3 หมื่นล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 5.75 หมื่นล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 4.8 พันล้านบาท หนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน หรือหนี้เสียไม่เกิน 4% คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น 85% มีกำไรสุทธิกว่า 8,000 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินงานไตรมาสแรก มีเงินฝากสุทธิเข้ามา 7,832 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากปกติในไตรมาสแรกจะมีเงินฝากเข้ามาน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรมีภาระรายจ่ายเยอะ ทั้งค่าเทอม ค่าการศึกษาบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายลงทุนเพาะปลูก แต่ในไตรมาสสองช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.ยอดเงินฝากจะเพิ่มขึ้นเร็วได้ เพราะมีลูกค้าเงินฝากจากภาครัฐเข้ามา รวมถึงผลผลิตทางเกษตรจะเริ่มเก็บเกี่ยวและขายได้ ทำให้ในสิ้นปีนี้ภาพรวมของเงินฝากสุทธิจะเพิ่มได้ตามเป้าหมาย 5.75 หมื่นล้านบาท  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0