โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธุรกิจใหม่ในชุมชนเก่า การผสมวัฒนธรรมผ่าน Hostel

The MATTER

อัพเดต 15 ก.ค. 2561 เวลา 07.46 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2561 เวลา 06.32 น. • Pulse

“เมื่อสักประมาณ 6 ปีที่แล้ว เวลาเราบอกใครว่า จะขอเช่าตึกทำโฮสเทล มีแต่คนบอกว่า ห๊ะ! คืออะไร? ถึงขั้นบอกว่าไม่รู้จัก ไม่ให้เช่า แต่เดี๋ยวนี้มีขึ้นป้ายเลยว่า ให้เช่าสำหรับทำโฮสเทล ทุกคนรู้หมดแล้วว่าโฮสเทลคืออะไร”

ที่พักราคาไม่แรง อยู่แบบห้องรวมมีพื้นที่ส่วนกลางให้นั่งเล่น กินข้าว แลกเปลี่ยนข้อมูล รู้จักเพื่อนใหม่ นี่คือนิยามของ ‘โฮสเทล’ ที่พักสำหรับนักเดินทาง ซึ่งเข้ามาบูมในประเทศไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมาและกลายเป็นธุรกิจในฝันของหลายๆ คน

The MATTER จึงพูดคุยกับเพื่อนรัก 5 คน ผู้เป็นแอดมินเพจ How to Hostel และผู้ร่วมก่อตั้ง Old Town Hostel ได้แก่ วงศวัฒน์ จิรังบุญกุล,นรุตม์ชัย จักรภีร์ศิริสุข, คมสิทธิ์ แสงมณี, ธนัท ภาอารยพัฒน์ และธรรมนูญ วิศิษฏ์ศักดิ์ เรื่องการผสานโฮสเทลเข้ากับวัฒนธรรมแบบไทยๆ รวมถึงความเป็นไปของธุรกิจโฮสเทลในปัจจุบัน

โฮสเทลบูม เพราะคนเจนวาย

ที่พักแบบโฮสเทลเกิดจากวิธีท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ในยุคพ่อแม่เขาจะไปเที่ยวแบบทัวร์ ซื้อแพคเกจและไปพักตามโรงแรม ตื่น 6 โมง-กินข้าว 7 โมง-ขึ้นรถทัวร์ 8 โมง แต่คนเจน Y อยากท่องเที่ยวแบบที่แตกต่างออกไป ชอบค้นคว้ามากขึ้น มีนักท่องเที่ยวแบบเดี่ยวๆ แบ็กแพ็คเกอร์เยอะขึ้น การท่องเที่ยวแบบนี้เป็นเทรนด์ในยุโรปมาสักพักแล้ว แต่ของไทยเริ่มชัดเจนเมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดโฮสเทลในประเทศไทย

นักท่องเที่ยวโหยหาจิตวิญญาณท้องถิ่น

จุดขายของโรงแรมคือ ตั้งอยู่บนถนนใหญ่ มีความสะดวกสบาย แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งกลับเลือกพักโฮสเทลในซอยเล็กๆ หรือชุมชนเก่าแก่ เพราะมุ่งเน้นเรื่องจิตวิญญาณของสถานที่มากขึ้น เขาอยากเห็นวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่นจริงๆ ซึ่งไม่มีในบ้านตัวเอง นักท่องเที่ยวอาจไม่อยากเห็นอะไรที่เจริญแล้ว เพราะงานสถาปัตยกรรมที่ไหนก็เหมือนกัน ตึกโคโลเนียลที่บ้านเขาก็มี

นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงเลือกที่พักจากวัฒนธรรมที่เขาต้องการเรียนรู้ เช่น ไปเมืองแขก ก็อยากได้กลิ่นเครื่องเทศ มาเมืองไทยก็อยากได้กลิ่นกระเทียม กะเพรา เดินผ่านตลาดน้อย อยากได้ยินเสียงเคาะกระทะก๊อกๆๆ มีรถสั่นกระดิ่งขายผลไม้ หรือพิธีกรรมต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้โฮสเทลแต่ละแห่งและเป็นเหตุผลให้โฮสเทลส่วนหนึ่งไปอยู่ตามเมืองเก่าอย่างเกาะรัตนโกสินทร์หรือเยาวราช

การอยู่ร่วมกับชุมชน ไม่มีทฤษฎีตายตัว

แต่ยอมรับว่า การตั้งโฮสเทลในชุมชนเก่า ก็อาจทำให้คนท้องถิ่นเกิดอาการ culture shockขึ้นมาได้ เพราะโฮสเทลเป็นวัฒนธรรมจากตะวันตก และคนที่มาพักส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นคึกคะนอง กินเหล้า เล่นดนตรีเสียงดัง ซึ่งอาจไปรบกวนคนในชุมชน

โดยเฉพาะคนรุ่นพ่อรุ่นปู่ อายุ 50-60 ปีขึ้นไป เขารู้ว่าพื้นที่ในเมืองเก่าคือความสงบ เช่น ในชุมชนตลาดน้อย แถวเยาวราชอยู่กันมา 60-70ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 ข้างในก็คือชุมชนคนจีนทั่วไป แต่อยู่ดีๆ มีโฮสเทลเหมือนเป็นเอเลี่ยนโพล่งเข้าไป เขาก็ตกใจเหมือนกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น?

โฮสเทลและชุมชนก็ต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน มันไม่มีทฤษฎีตายตัว และขึ้นอยู่กับการผ่อนปรน แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาระยะแรก แต่พอเข้าใจกันแล้ว ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

“เราต้องพยายามควบคุมคนของเรา อีกอย่างเราพยายามสร้างโอกาสให้เขายกตัวอย่างเช่น คุณลุงอาจจะทำร้านขายของชำมา 30-40 ปีแล้ว เราอาจจะเสนอว่า จะส่งคนไปช่วยซื้อของนะ จะแนะนำให้ลูกค้าไปลองอาหารที่ร้าน จะทำทำป้ายเมนูภาษาอังกฤษไปให้ เป็นการส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนไปในตัว” ธนัท ภาอารยพัฒน์ กล่าว

แต่บางชุมชนก็ชอบที่มีโฮสเทลเกิดขึ้น เช่น ซอยที่เคยเปลี่ยว แค่ 2 ทุ่มก็เดินไม่ได้แล้ว กลับมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้าออกตลอดเวลา เริ่มมีกิจกรรมตอนกลางคืน ตำรวจก็เข้ามาเป็นหูเป็นตาบ่อยขึ้น คนในชุมชนก็สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมากขึ้น ร้านอาหารตามสั่ง ร้านกาแฟ ก็เริ่มมีเมนูภาษาอังกฤษเพื่อขายนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกค้ากลุ่มใหม่

Baby Mindset คือหัวใจของพนักงานโฮสเทล

สำหรับภาพรวมโฮสเทลของไทยสวยสู้กับต่างประเทศได้สบาย แต่สิ่งที่ยังมีน้อย คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับลูกค้า หรือลูกค้ากับพนักงาน เพราะช่องว่างนี้น่าจะเกิดจาก คนไทยถูกปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัว ไม่ค่อยกล้าออกความเห็นหรือกล้าแสดงออก ต่างจากโฮสเทลเมืองนอกที่เราจะได้เห็นพนักงานนั่งดื่มเหล้า เล่นเกมส์กับลูกค้าอย่างไม่ต้องกังวล เข้าไปยังไม่รู้เลยว่าคนไหนเป็นพนักงาน คนไหนลูกค้า

โฮสเทลจึงต้องเทรนพนักงานคนไทยให้กล้าคุยกับฝรั่ง ซึ่งพนักงานที่อยู่ในโฮสเทลส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มี baby mindset คืออยากเรียนรู้ อยากคุยกับคนต่างชาติ เพียงแต่ไม่มีโอกาส การทำงานโฮสเทลก็เหมือนการกดปุ่มให้เขาเปิดศักยภาพตัวเองออกมา ทำให้เขามีแรงบันดาลใจ อยากชวนลูกค้าคุย แลกเปลี่ยนภาษาวัฒนธรรมกัน

คนที่มาสมัครเป็นพนักงานโฮสเทลมีหลากหลายและมีผู้สูงอายุมาสมัครเยอะเหมือนกัน อย่าง รปภ. ของเรา เขาอยู่ที่นี่กับเราตั้งแต่เปิดและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว ตอนนี้เขาก็เริ่มพูดภาษาอังกฤษแล้ว เริ่มพยายามฟังว่าลูกค้าพูดอะไรกัน เริ่มซื้อหนังสือมาอ่านเองระหว่างเวลาว่างๆ ตอนกลางคืน ก็ทำให้เขาเริ่มพัฒนาตัวเองมากขึ้น เริ่มคุ้นเคยกับวัฒนธรรมต่างถิ่น ทักทายแบบฝรั่งได้แล้ว ตอนแรก รปภ. คนนี้จะเกษียนภายใน 1 ปี ปัจจุบันนี้เขาก็ยังอยู่ 3 ปีกว่าเกือบ 4 ปีแล้ว

โฮสเทลลงทุนไม่มาก แต่อยู่รอดจริงแค่ 20%

สำหรับกระแสโฮสเทลในประเทศไทยมีมาสักพักแล้ว แต่บูมมากๆ ช่วง 1-2 ปีที่แล้ว บวกกับความบูมของธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้คนสนใจเยอะขึ้น เพราะการทำโฮสเทลก็เป็นจุดเริ่มต้นของการธุรกิจโรงแรมที่ง่ายที่สุด ใช้งบประมาณลงทุน 5-8 ล้านบาทต่อแห่ง ตกแต่งแบบเรียบง่าย และกรุงเทพฯ ก็มีตึกเก่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่หลายแห่ง ที่เอามาพัฒนาได้

แต่จริงๆ การทำธุรกิจโฮสเทลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของหรือผู้ประกอบการต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะคนที่มาพักเขาก็อยากพบปะกับเรา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมลูกค้าต่างชาติถึงยอมเลือกโฮสเทล เพราะเขาต้องการความอุ่นใจ แหล่งข้อมูลข่าวสาร พบปะผู้คน เข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่งั้นเขาก็ไปพัก ห้องเช่ารายวันราคาถูกก็ได้

คมสิทธิ์ แสงมณี ให้ความเห็นว่า “โฮสเทลเหมือนกับทุกธุรกิจ 10-20% ที่ประสบความสำเร็จ คนที่ดีก็ดีต่อเนื่อง เปิดแล้วเปิดอีก ขยายหลายสาขา ส่วนที่ๆ ทำออกมาแล้วหายไปภายใน 1-2 ปีก็มี คนบางกลุ่มคิดว่าโฮสเทลทำง่าย รายได้ดี แต่จริงๆ โฮสเทลเป็นธุรกิจต้องการความใส่ใจค่อนข้างสูง เพราะลูกค้าที่เข้าพัก จะแตกต่างจากพวกเข้าพักโรงแรมโดยสิ้นเชิง”

อยากอยู่รอดต้องหารายได้เสริมและมุ่งสู่ความ Niche

ตอนที่เราเริ่มลงทุน มีคนเปิดขึ้นมาบ้าง แต่ไม่เยอะเท่าไหร่ ตอนนั้นมีแค่ประมาณ 200 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเกือบ 400 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และ 2,000 แห่งทั่วประเทศ แล้วตอนนี้โฮสเทลเปิดใหม่ ตกแต่งสวยเกือบจะเป็นโรงแรมและต้นทุนอาจแพงขึ้นถึง 2 เท่า

การแข่งขันในธุรกิจโฮสเทลจึงเพิ่มขึ้นทั้งราคาและคุณภาพสินค้า ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น แต่ประเด็นหนึ่งของคนทำโฮสเทลคือไม่สามารถขึ้นราคาได้ เพราะขึ้นราคาไปนิดนึงก็ชนกับโรงแรม

โฮสเทลเลยต้องพัฒนาสินค้าอื่นมาเสริม หลายๆ ที่ใช้พื้นที่ล็อบบี้เป็น Mix-used เพื่อก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช่เป็นที่พบปะอย่างเดียวส่วนใหญ่ใช้เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร จักรยานแพจเกจทัวร์ หรือพัฒนาไปเป็นโรงแรมสอนทำอาหาร แกลเลอรี่ ศูนย์โยคะ ต่อยมวย ฯลฯ ที่เหมาะกับคนเฉพาะกลุ่ม

“ล่าสุดเห็นโฮสเทลไปไกลถึงขึ้น อยู่ในทำเลที่เข้าถึงยาก แถวนั้นเงียบสงบ ก็ทำเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมบวกกับโฮสเทล ขายคนเฉพาะกลุ่ม คือคนไทยหรือฝรั่งที่นั่งสมาธิ เขาหาโฮสเทลพวกนี้เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมก็มี” ธรรมนูญ วิศิษฏศักดิ์ กล่าวถึงพัฒนาการล่าสุดของโฮสเทล

Photo by Watcharapol Saisongkhroh

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0