โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ธุรกิจโรงแรม Q2 ทรงตัว "อาหาร-รีเทล" หนุนรายได้รวมโต

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 16.07 น.
tou01200861p1

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ธุรกิจโรงแรมในไทยมีการขยายตัวในเชิงจำนวนห้องพักค่อนข้างสูง เพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมระดับ 3-4 ดาว และต่ำกว่าระดับ 3 ดาว รวมถึงที่พักในรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การนำคอนโดมิเนียมมาปล่อยเช่ารายวันผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงที่พักในกลุ่มโฮมสเตย์ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมมีการแข่งขันที่รุนแรงไม่แพ้ธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับขึ้นกันได้มากนัก แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

รร.โตต่ำสวนทางนักท่องเที่ยว

แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น หากประเมินตัวเลขจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯยังคงพบว่า รายได้ในส่วนของธุรกิจโรงแรมยังเติบโตในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยดุสิตธานีแม้ว่ารายได้รวมในช่วงไตรมาส 2/2561 จะขยายตัวที่ 3.9% แต่หากดูเฉพาะธุรกิจโรงแรมติดลบ 3.5% ขณะที่กลุ่มดิ เอราวัณ รายได้รวมธุรกิจโรงแรมของไตรมาส 2/2561 เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กลุ่มโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือเซ็นเทล รายได้กลุ่มธุรกิจโรงแรมขยายตัวที่ 5.6% ส่วนกลุ่มไมเนอร์ฯ รายได้กลุ่มธุรกิจโรงแรมเติบโตที่ 23% (ดูตารางประกอบ)

“อาหาร” หนุน CENTEL โต

รายงานข่าวจากบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2561 นี้ บริษัทมีรายได้รวม 5,191.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิจำนวน 371.7 ล้านบาท ลดลง 26.6 ล้านบาท หรือ 6.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวม 2,139.5 ล้านบาท เติบโต 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจากการเติบโตของกลุ่มโรงแรมเดิม รวมถึงการรับรู้รายได้ของโรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และโรงแรมโคซี่ สมุย เฉวง บีช ที่เปิดดำเนินการในปลายปี 2560

ส่วนธุรกิจอาหารพบว่ามีรายได้รวม 3,051.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทขยายตัวได้ถึง 8.2%

“เรามีความเชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานทั้งธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอาหารยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังนี้”

“ดุสิตธานี” ได้การศึกษาหนุน

ขณะที่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC นั้น จากรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 2/2561 บริษัทมีรายได้รวม 1,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยรายได้จากธุรกิจโรงแรมลดลง 3.5% เนื่องจากผลกระทบจากการแปลงค่างบการเงินจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นของโรงแรมในต่างประเทศ การขาดรายได้จากโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช เนื่องจากการขายโรงแรมเมื่อสิ้นปี 2560 และรายได้ที่ลดลงจากข่าวการประกาศปิดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

ขณะที่รายได้จากธุรกิจการศึกษาคิดเป็นมูลค่า 82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เป็นผลจากการเลื่อนภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์มารับรู้รายได้ในไตรมาสนี้ และมีกำไรจากการลงทุนในเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้เข้าไปลงทุนในช่วงปลายไตรมาส 1/2561

อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจโรงแรมของกลุ่มดุสิตธานีคิดเป็นร้อยละ 84.9 ของรายได้รวม ขณะที่รายได้จากธุรกิจการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 7.3 และรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 7.8

“ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” โตจากรีเทล

เช่นเดียวกับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ที่รายได้จากกลุ่มธุรกิจโรงแรมทำรายได้ได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไม่มีอัตราการเติบโต โดยธุรกิจที่หนุนให้กลุ่มดิ เอราวัณ กรุ๊ป เติบโตได้คือ ธุรกิจอื่น ๆ และจากธุรกิจค้าปลีก (ค่าเช่าและบริการ)

โดยจากรายงานที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า กลุ่มดิ เอราวัณ กรุ๊ป มีรายได้จากการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2561 เท่ากับ 1,349 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2560 โดยรายได้จากธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นรายได้หลักเท่ากับ 1,293 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2560 ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการปิดปรับปรุงห้องพักของโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ขณะที่รายได้ค่าเช่าและค่าบริการเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 4

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลอดทั้งปีนี้ธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นรายได้หลักจะเติบโตร้อยละ 10 จากปี 2560 โดยมีคาดการณ์การเติบโตทั้งในส่วนห้องพัก และรายได้ค่าอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นจากโรงแรมที่เปิดให้บริการในปี 2561 จำนวน 9 แห่ง

ไมเนอร์ฯติดลมทุกกลุ่มธุรกิจ

ด้านบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ในไตรมาส 2/2561 บริษัทมีรายได้รวม 15,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิต โดยธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ธุรกิจอาหารเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิตเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ตัวเลขกำไรสุทธิก็ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน โดยไตรมาส 2/2561 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,205 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากตัวเลขข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กลุ่มทุนธุรกิจโรงแรมในช่วงไตรมาส 2/2561 นี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะที่ต้องประคับประคองตัวเองไม่หวือหวา โดยมีธุรกิจในเครือ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก, อาหาร ฯลฯ เป็นตัวสนับสนุนให้ยังคงรักษาอัตราการเติบโตในภาพรวมต่อไปได้…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0