โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธุรกิจโคม่า ปลดคนรายวัน ปิด 4 พันโรงงาน ช็อกระลอกสอง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 26 ส.ค. 2563 เวลา 03.08 น. • เผยแพร่ 03 ก.ค. 2563 เวลา 03.00 น.
โรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์
Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

พิษโควิดลามไม่หยุดทุบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง กระทรวงแรงงานสั่งจับตาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการหลังพบสัญญาณเสี่ยง ผวาอาฟเตอร์ช็อกโควิดเดือนกรกฎาคมจ่อตกงานเพิ่มระลอกสอง 7-8 ล้านคน ชี้ครึ่งปีแรก 4.2 พันโรงงานเซ่น ลูกจ้างว่างงาน 1.1 ล้านคน เผย “อยุธยา-เมืองชล” โคม่า ลดคน-เลิกจ้างยังพุ่ง

แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงมาก รัฐบาลประกาศคลายล็อกระยะที่ 5 ให้สถานประกอบการทุกประเภทเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ผลกระทบจากโควิดและสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2563 เริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยงโรงงานและสถานประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาและพยายามประคองตัวช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อาจต้องปิดกิจการเพิ่ม ทำให้กระทรวงแรงงานต้องมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมรับมือลูกจ้าง พนักงานถูกเลิกจ้างตกงานอีกระลอก

ปิด 4.2 พันโรงงานเซ่นโควิด

ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์แรงงานยังค่อนข้างน่าห่วงแม้สถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ล่าสุด กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน พบว่า มีสถานประกอบกิจการที่ใช้มาตรา 75 ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 หรือขอหยุดกิจการทั้งหมด หรือปิดกิจการบางส่วนช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น

โดยช่วงตั้งแต่ 1-21 มิถุนายน 2563 ยอดรวมทั้งหมด 1,310 แห่ง จำนวนแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 319,824 คน หากย้อนข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 พบว่ามีการยื่นขอปิดกิจการ 114 แห่งเท่านั้น และเมื่อโควิด-19 ระบาดแบบกระจายตัวมากขึ้น ภาครัฐประกาศภาวะฉุกเฉิน เศรษฐกิจหยุดชะงัก เดือนเมษายน 2563 มีการยื่นขอปิดกิจการสูงถึง 2,456 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 472,855 คน

สรุปยอดปิดกิจการช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 62-21 มิ.ย. 63) ทั้งหมด 4,254 แห่ง ลูกจ้างตกงานรวม 853,696 คน เดือนกรกฎาคมนี้ยังต้องจับตาดูสถานการณ์แรงงานอย่างใกล้ชิด

อุตฯชิ้นส่วนยานยนต์เบอร์ 1

โดย 5 อันดับแรกที่ยื่นขอปิดกิจการในเดือนมิถุนายน คือ 1) การผลิต เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์-เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์โลหะอื่น ๆ 2) บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 3) การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ 4) การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและการคมนาคม เช่น การบรรจุหีบห่อเพื่อการขนส่ง รถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ และการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น 5) การให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น กิจกรรมความบันเทิง

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้รายงานการขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-มิ.ย. 63) อยู่ที่ 1.1 ล้านราย ในจำนวนนี้ได้ใช้บริการจัดหางานของกระทรวงแรงงานในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 รวม 115,748 คน

ชี้อาฟเตอร์ช็อกจากโควิด

“ผมมองว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากโควิด-19 ซึ่งกระทรวงแรงงานเตรียมตั้งรับไว้แล้ว หากย้อนกลับไปดูการเยียวยาลูกจ้างด้วยการให้ประกันสังคมจ่ายเงินเยียวยาที่ 62% จากอัตราค่าจ้างรายวัน เป้าหมายคือเพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ยืดระยะเวลาการปิดโรงงานออกไปอีก เพื่อให้เวลาทั้งลูกจ้าง-นายจ้างได้ปรับตัว นอกเหนือจากการติดตามสถานการณ์แล้วยังให้หน่วยงานในกำกับดูแลวางมาตรการรองรับไว้ อย่างเช่น การฝึกอาชีพให้ลูกจ้างที่ตกงานและต้องการเปลี่ยนอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ หรืองานใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น”

สั่งประกบ โรงงานส่อเลิกจ้างเพิ่ม

ดร.ดวงฤทธิ์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เฝ้าระวังสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกประกอบกิจการ หรือเลิกจ้าง หรือลดจำนวนลูกจ้าง และให้จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างประเภทกิจการเดียวกันรองรับ และให้ประสานงานกับส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เตรียมมาตรการช่วยเหลือด้วย

เช่น ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งนายจ้าง สำรวจความต้องการของผู้ถูกเลิกจ้าง ขึ้นทะเบียนคนหางาน แนะแนวอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีโปรเจ็กต์ “จ้างงานลดผลกระทบจากโควิด-19” ซึ่งเฟสแรกประสบความสำเร็จอย่างมาก จนต้องเปิดเฟส 2 โดยจ้างงานจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเพิ่มอีกกว่า 400 คน รวมผู้ว่างงานเข้ามาสมัครงานกว่า 8,000 คน ผ่านการสัมภาษณ์ภายใต้โปรเจ็กต์นี้ 3,189 คน

จ่อว่างงานเพิ่มอีก 7-8 ล้านคน

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรมและโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การเยียวยาผู้ว่างงาน 62% ของอัตราค่าจ้างรายวัน เหลือเฉพาะรอบสุดท้าย คาดว่าจะสั่งจ่ายแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ประเมินเบื้องต้นใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมรวม 12,000 ล้านบาท และขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “ตกงานปกติ” ตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 หลายกิจการอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของเงินเดือนเป็นการชั่วคราว หรือเลิกจ้าง และปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม หลังติดตามสถานการณ์พบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีการเลิกจ้าง-ปิดกิจการ และว่างงานอีกกว่า 7-8 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีผู้ประกันตนอยู่ราว 200,000 คน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, ระยอง ฉะเชิงเทรา สปส.จึงต้องเตรียมการบริหารเงินเพื่อจ่ายชดเชย โดยเตรียมเสริมสภาพคล่องไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

“เดิมประเมินไว้ว่า 90 วันภาคธุรกิจจะกลับมาได้เหมือนเดิม หลังจากนั้นนายจ้างจะฟื้นตัวได้หรือไม่ได้ต้องดูอีกครั้งว่า หากไม่ไหวต้องปิดกิจการ เลิกจ้าง ลดจำนวนลูกจ้าง ต้องอัพเดตสถานการณ์เรื่อย ๆ พร้อมทั้งดูแลสภาพคล่องกองทุนประกันสังคมว่าต้องดึงเงินอีกบางส่วนเข้ามาเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือไม่”

“อยุธยา-เมืองชล” ยังโคม่า

นายจรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบรูณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากข้อมูลการขึ้นประกันตนผู้ว่างงานที่ขอรับสิทธิเยียวยาจากประกันสังคมช่วง 3 เดือน จากสถานการณ์โควิด มีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 150,000-170,000 คน แต่ยังน่าห่วงมาก เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสถานประกอบการยังไม่คลี่คลาย แต่ขณะนี้ประกันสังคมสิ้นสุดการเยียวยาแล้ว ดังนั้นหากบริษัทไม่กลับมาเปิดกิจการตามปกติ พนักงานจำนวนนี้อาจเสี่ยงตกงาน เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดช่วยเยียวยาต่อไป

เช่นเดียวกับนายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ที่ระบุว่า ในจังหวัดชลบุรียังมีโรงงานต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากผลกระทบโควิดอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ เนื่องจากคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย บางโรงงานไม่มีคำสั่งเข้ามาเลย แต่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายภายในโรงงานสูง เป็นเหตุให้ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว โดยแจ้งใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชลบุรี ระบุว่า ช่วง 2 เดือนตั้งแต่ 3 เมษายน-29 พฤษภาคม 2563 มีสถานประกอบการแจ้งใช้มาตรา 75 รวม 2,572 บริษัท ลูกจ้างได้รับผลกระทบรวม 961,294 คน

ลดคน-เลิกจ้างพุ่งไม่หยุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจพบว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 มีบริษัท โรงงานในพื้นที่หลายจังหวัดปิดกิจการ เลิกจ้าง ในจำนวนนี้มีทั้งแรงงานที่บริษัทหรือโรงงานจ้างงานโดยตรง และการจ้างงานผ่านซับคอนแทร็กต์ เช่น บจ.พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จ.ฉะเชิงเทรา ปิดโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ย้ายฐานการผลิตไปควบรวมกับโรงงานในเวียดนาม พนักงานถูกเลิกจ้าง 800 คน และมีแผนจะปิดโรงงานเพิ่มอีก, โรงงานปากพนังห้องเย็น จ.นครศรีธรรมราช ผลิตปูพาสเจอไรซ์กระป๋อง ในเครือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ปิดกิจการ พนักงานถูกเลิกจ้าง 400 คน, โรงงานไทย เฮอร์ริค จ.ปราจีนบุรี ปิดโรงงาน พนักงานถูกเลิกจ้าง 140 คน เป็นต้น

นอกจากนี้ มีบริษัทที่ไม่ได้ปิดกิจการ แต่ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยทยอยปลดพนักงานช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งพนักงานบริษัทซับคอนแทร็กต์ พนักงานสัญญาจ้าง พนักงานที่ไม่ผ่านการทดลองงาน และพนักงานประจำ ฯลฯ เช่น บริษัท ซัมมิท แหลมฉบัง โอโต บอดี้ เวิร์ค จ.ระยอง ปลดพนักงาน 750 คน, บจ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จ.สมุทรปราการ ปลดพนักงาน 300 คน บจ.ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จ.สมุทรปราการ ปลดพนักงาน 200 คน, บจ.วาย-เทค จ.ปราจีนบุรี ปลดพนักงาน 300 คน, บจ.ไดกิ้นอินดัสตรีส์ (ประเทศไทย) จ.ชลบุรี ปลดพนักงาน 200 คน, บจ.E&H Precision Thailand จ.ชลบุรี ปลดพนักงาน 200 คน

6 เดือนจ้างเพิ่ม 1.23 แสนคน

ส่วนสถานการณ์การจ้างงาน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2563 (ม.ค.-29 มิ.ย.) การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรม มียอดรวม 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22% จ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23% เงินลงทุนรวม 174,850.47 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.09% ชี้ให้เห็นว่าแม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ภาคอุตสาหกรรมมีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้า ทำให้ตัวเลขลงทุน การจ้างงานสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ผลกระทบจากโควิดจะเป็นตัวชี้วัด คาดว่าทั้งปี 2563 จะมียอดขอใบอนุญาต รง.4 ที่ 3,000 โรงเท่ากับปี 2562

“ความต้องการแรงงานใหม่ถือว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561 อย่างน้อยจะรองรับการจ้างงานให้เพิ่มขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และรองรับนักศึกษาจบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง”

ขณะที่ยอดโรงงานขอยกเลิกกิจการ 404 โรง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ปิดกิจการ 666 โรง เลิกจ้าง 16,680 คน เงินลงทุนลดลง 25,414 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการผลิตภัณฑ์จากพืช 47 โรงงาน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอโลหะ และอื่น ๆ

เครื่องใช้ไฟฟ้า-อาหารจ้างสูง

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 20,112 คน กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน, กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 คน กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน แยกเป็นการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 1,267 ราย ลดลง 3.36% จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58% วงเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16% การขยายกิจการ 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07%

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0