โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ธุรกิจดาวรุ่ง! SCB ประเมิน "ขนส่งพัสดุ" ปี 2020 โตพุ่ง 35% แข่งขันหนัก-ค่าบริการลดลง

Positioningmag

อัพเดต 23 ม.ค. 2563 เวลา 13.52 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 13.27 น.
  • ธุรกิจบริการ "ขนส่งพัสดุ" คือธุรกิจดาวรุ่งแห่งปีนี้ โดย SCB EIC ประเมินมูลค่าทั้งตลาดอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% จากปีก่อน ควบคู่ไปกับการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ
  • 2 เจ้าใหญ่ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย และ Kerry ครองส่วนแบ่งตลาดรวม 80% แต่มีผู้เล่นใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้การแข่งขันดุเดือด ค่าบริการลดลงเหลือเริ่มต้น 27 บาทเพื่อชิงลูกค้า
  • บริษัทจะยั่งยืนได้ต้องเป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มีโมเดลธุรกิจที่ลดต้นทุน

อี-คอมเมิร์ซโต ขนส่งพัสดุก็โตตาม! SCB EIC เปิดรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมขนส่งพัสดุของไทย พบว่าภาคธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโต 35% YoY ในปี 2020 ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญยังคงเติบโต โดยมองว่าปีนี้อี-คอมเมิร์ซจะโตขึ้นอีก 17% YoY ทำให้มีมูลค่าแตะ 1 แสนล้านบาท

ภาพรวมตลาดมีการแข่งขันกันดุเดือดขึ้น เพราะนอกจากผู้เล่นหน้าเก่าที่เราคุ้นเคยอย่าง "ไปรษณีย์ไทย" และ "Kerry Express" ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาห้ำหั่นเพิ่มขึ้นอีก สภาวะตลาดเป็นอย่างไร และ SCB EIC มองเทรนด์อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ติดตามต่อได้ด้านล่าง  

ไปรษณีย์ไทย-Kerry ยังเป็นเจ้าตลาด

ข้อมูลจากปี 2018 ระบุส่วนแบ่งตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ มีเจ้าตลาด 2 รายที่ครองส่วนแบ่งรวมกัน 80% ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย มาร์เก็ตแชร์ 41% Kerry Express ตามมาแบบรดต้นคอที่ 39% ส่วน Lazada Express ซึ่งรับขนส่งให้แพลตฟอร์มของตัวเองมีส่วนแบ่งที่ 8% นอกเหนือจากนี้เป็นบริษัทรายอื่นๆ เช่น Nim Express ส่วนแบ่ง 3% DHL ส่วนแบ่ง 2%

อย่างไรก็ตาม แค่เพียงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2018-2019) มีผู้เล่นใหม่ที่เป็นทุนใหญ่จากต่างชาติเข้าตลาดมาถึง 3 ราย ได้แก่ Best Logistics ซึ่งมี Alibaba เป็นหุ้นส่วน, J&T Express ทุนจีนที่ขณะนี้เป็นเบอร์ 1 ธุรกิจขนส่งพัสดุในอินโดนีเซีย และ CJ Logistics บริษัทในเครือธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ และยังมีบริการเดลิเวอรี่ส่งด่วน เช่น Lalamove, Grab Express, Lineman เข้ามาชิงตลาดในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลอีกด้วย  

กดค่าบริการเริ่มต้นเหลือเฉลี่ย 27 บาท

สภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดย SCB พบว่าค่าบริการเริ่มต้นเฉลี่ยทั้งตลาดลดลงเหลือ 27 บาทในปี 2019 เทียบกับช่วงปี 2016-2018 ซึ่งเฉลี่ยเริ่มต้น 34 บาท หากเจาะลึกไปรายบริษัท จะพบว่าผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง J&T Express คือผู้ดัมพ์ราคาลงมาเริ่มต้นเพียง 19 บาท หรือผู้เล่นดั้งเดิมอย่าง ไปรษณีย์ไทย ก็กดราคาลงมาเริ่มต้นที่ 25 บาท และปีนี้ตลาดอาจจะลดราคาลงอีกเพื่อดึงดูดลูกค้า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังแข่งขันกันให้การจัดส่งรวดเร็วและปลอดภัยขึ้น โดยขณะนี้การจัดส่งพัสดุทำได้เร็วที่สุดคือภายในวันเดียวสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภายในวันรุ่งขึ้นสำหรับต่างจังหวัด เทียบกับในอดีตต้องใช้เวลาจัดส่ง 5-7 วัน ส่วนความปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคพิจารณามากขึ้น เพราะสินค้าที่ส่งมีมูลค่าสูงขึ้น อ้างอิงจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มูลค่าเฉลี่ยของสินค้าที่ส่งเพิ่มจาก 1,300 บาทต่อชิ้นในปี 2017 มาเป็น 1,700 บาทต่อชิ้นในปี 2018  

จะเกิดอะไรขึ้นในโลกแห่งการขนส่งพัสดุ

SCB มองว่า เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญมากขึ้นในธุรกิจนี้ เช่น รถขนส่งมี GPS ติดตั้ง คลังสินค้าระบบอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์แพ็กสินค้า กระทั่งใช้ยานยนต์ไร้คนขับหรือการใช้โดรนส่งในพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม ในระยะใกล้ 2-3 ปีนี้ อาชีพ "คนขับรถ" จะมีความต้องการสูงขึ้น ประเมินจากทั้งบริษัทขนส่งพัสดุข้ามจังหวัดและบริษัทเดลิเวอรี่ส่งด่วน คาดว่าจะต้องการคนขับรถเพิ่มอีก 50,000 คน

รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าและร้านบริการรับพัสดุจะเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่ง SCB ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเปิดร้านแฟรนไชส์ พึงคำนึงถึงทุกปัจจัยให้รอบด้าน เช่น ดีมานด์ผู้ใช้ในพื้นที่ ส่วนแบ่งรายได้จากแบรนด์ ฐานลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ การทับซ้อนจากร้านบริการพัสดุที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ทั้งแบรนด์เดียวกันและคู่แข่ง

แข่งขันหนัก ใครกันที่จะรอด

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่หรืออผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่กำลังต่อสู้กันในตลาด SCB มองว่าผู้ที่จะอยู่รอดได้ควรจะใช้กลยุทธ์เหล่านี้ 1.เป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เพราะกลุ่มนี้เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการจัดส่งพัสดุจำนวนมาก แม้ว่าจะถูกหักค่าคอมมิชชันจากเจ้าของแพลตฟอร์มแต่จะทำให้ได้ลูกค้ามากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทั้ง Lazada, Shopee และ JD Central คือ Kerry และ DHL 2.สร้างความแตกต่าง เจาะกลุ่มเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น SCG Express เป็นเจ้าแรกที่จัดส่งพัสดุควบคุมอุณหภูมิได้ หรือLalamove กับ Deliveree มีบริการเรียกรถขนส่งได้ 24 ชม. และจองล่วงหน้าได้ 3.โมเดลความร่วมมือ เป็นการหาทางบริหารต้นทุน ตัวอย่างเช่นBest Express ใช้วิธีปล่อยสิทธิแฟรนไชส์ในการบริหารจัดส่งพัสดุช่วง Last-mile (การส่งขั้นสุดท้ายที่จะส่งให้บ้านลูกค้า) ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ตัวบริษัทจะดูแลเฉพาะศูนย์กระจายสินค้า การขนส่งระหว่างศูนย์ฯ และซอฟต์แวร์ระบบ ทำให้ประหยัดต้นทุนมากกว่า ต้องติดตามกันต่อว่าใครจะอยู่หรือไปในปี 2020!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0