โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP36 #คนรักกันไม่ควรทำร้ายกัน

สวนโมกข์

เผยแพร่ 01 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 น. • อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

ตอบโดย พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร

คนรักกันควรทำอย่างไรต่อกัน

คนรักกันไม่ควรทำอะไรต่อกัน

สำหรับสองคำถามนี้อ้อมก็ไม่แน่ใจว่าคำถามไหนตอบง่ายกว่ากันนะคะ เพราะจริตของคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แถมความรักของแต่ละคู่ก็มีปัจจัยแตกต่างกันไปอีก วันนี้มีคำถามว่าด้วยเรื่องความรักมาจากคุณผู้ชมที่เป็นทุกข์ว่า ทำไมคนรักกันถึงทำร้ายจิตใจกัน แล้วถ้าเราถูกคนรักทำร้ายจิตใจ เราควรจะดำเนินชีวิตหรือมีวิธีคิดยังไงต่อดีคะ พระมหาไพรวัลย์ เมตตาชี้ทางให้ดังนี้ค่ะ

“เวลาพูดเรื่องความรัก เรามักจะมีความเข้าใจพื้นๆ ว่า ความรักเป็นเรื่องของความสิเนหา รักใคร่ การชอบพอกัน แต่จริง ๆ ในพระพุทธศาสนาแบ่งความรักไว้หลายประเภท มีตั้งแต่ สิเนหา เมตตา ไปจนถึงกรุณา

“ ‘กรุณา’ เป็นความรักแบบสูงมาก และไม่ใช่ความรักแบบเห็นแก่ตัวเอง แต่ว่าทุกวันนี้เท่าที่อาตมามอง ชีวิตคู่ส่วนใหญ่มักเป็นความรักแบบราคะ แบบสิเนหา คือรักใคร่ชอบพอในตัวของคนที่เรารู้สึกชอบ อาจจะช่วงคบหากันใหม่ ๆ หรือรักกันที่หน้าตาภายนอก พออยู่ด้วยกันไปนานๆ ไม่ได้มีความรักแบบกรุณา เมื่อความใคร่เจือจางลงไป เราก็จะไม่รู้สึกพอใจในตัวของคนรักแล้ว เริ่มไม่ชอบพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ ถามว่าพฤติกรรมแบบนี้รู้กันตั้งแต่เริ่มต้นไหม ก็รู้นั่นแหละ แต่ตอนนั้นยังมีสิเนหาอยู่

“ฉะนั้น ถ้าจะรักกันให้ยืนยาว อาตมามองว่าต้องเป็นความรักแบบกรุณา คือความรักแบบไม่เห็นแก่ตัวเอง เห็นว่าคนที่เรารักเป็นเพื่อนของเรา อาตมามองว่าข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะเมื่อเป็นเพื่อน การทำร้ายกันหรือทำไม่ดีต่อกันอย่างที่ถามมาจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย”

ทีนี้ถ้าคนหนึ่งรักแบบกรุณา อีกคนหนึ่งรักแบบสิเนหา ก็จะทำให้ไปด้วยกันยากหรือเปล่าคะหลวงพี่

“ในหลักการทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบอกว่าคนเราจะอยู่ร่วมกันได้ ต้องมีปัจจัยอยู่สองอย่าง หนึ่งคือทิฏฐิสามัญญตา สองคือสีลสามัญญตา

“ ‘ทิฏฐิสามัญญตา’ หมายถึง มีความเห็นที่คล้ายคลึงกันหรือไม่ ส่วน ‘สีลสามัญญตา’ คือมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันหรือไม่ คู่รักบางคู่มีพฤติกรรมแตกต่างกันมาก คนหนึ่งตั้งใจทำมาหากิน อีกคนไม่ทำอะไรเลย สำมะเลเทเมา อย่างนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องแยกกัน เพราะพฤติกรรมเข้ากันไม่ได้

อ้าว! ที่เขาพูดๆ กันว่า “ต้องมีศีลเสมอ” กันนี่ ไม่ใช่ศีล 5 ข้อที่เราเข้าใจอย่างนั้นเหรอคะ

“ ไม่ใช่เลยโยมพี่ ‘สีลสามัญญตา’ หมายถึง พฤติกรรมพื้นฐานทั้งหมด มันคือพฤติกรรมที่ทั้งสองคนต่างมีร่วมกัน

“ อย่างไรก็ดี บางคู่แม้ว่าจะมี ‘ทิฏฐิสามัญญตา’ และ ‘สีลสามัญญตา’ ไม่ตรงกัน แต่เขามีความรักแบบกรุณา พยายามที่จะทำความเข้าใจในคู่รัก หรือคนรักของตัวเองอยู่เรื่อยๆ บางเรื่องพอยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัส ก็พยายามปรับตัวเข้าหากัน ชีวิตคู่ก็จะอยู่ด้วยกันได้”

ถ้าอย่างนั้นสำหรับคุณผู้ชมที่บอกว่า เขาโดนคนรักทำร้ายความรู้สึกบ่อยๆ ต้องมีวิธีคิดอย่างไรจึงจะทำใจยอมรับได้ว่า คนที่เขารักไม่ได้รักใคร่สิเนหาในตัวเขาอีกต่อไปแล้ว

“ลองคิดดูว่า การใช้ชีวิตคู่คือการศึกษาระหว่างคนสองคน มันเป็นช่วงเวลาของการศึกษาเพื่อที่จะเรียนรู้นิสัยใจคอร่วมกัน แต่สุดท้ายเมื่อศึกษาแล้วพบว่าคนที่เราตั้งใจจะครองคู่ด้วยไปกับเราไม่ได้ หรือสวนทางกับเราในหลายๆ เรื่อง เราอยู่ด้วยแล้วไม่มีความสุข หรืออาจจะทำให้ชีวิตเราไม่ดีขึ้น

“อาตมาชอบคำกล่าวที่ว่า จงรักใครสักคนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเราดีขึ้นกว่าการอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นถ้ารักใครแล้วรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ยิ่งกว่าอยู่คนเดียว ก็จงอย่าได้มีความรักแบบนั้นเลย”

ลองชวนคนรักมาร่วมกิจกรรมดีๆ ที่สวนโมกข์กรุงเทพด้วยกันสิคะ เผื่อจะพัฒนาความรัก ให้ได้เช้าใจกันมากขึ้น

เลือกนานากิจกรรมได้ที่นี่เลยคะ เพจ @กิจกรรมสวนโมกข์กรุงเทพ

อย่าลืมนะคะ ถ้าคุณรู้สึกทุกข์หรือหนักๆ ในใจ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife อ้อมจะไปหาคำตอบจากพระอาจารย์มาให้ค่ะ อะไรที่อ้อมช่วยได้ อ้อมยินดีค่ะ

ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line @Suanmokkh_Bangkok

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0