โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.67 | #ชีวิตใหม่หลังโควิด

สวนโมกข์

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2563 เวลา 17.01 น.

เราคงปฏิเสธไม่ได้นะคะ ว่า COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของพวกเราไปอย่างมาก ล่าสุดก็มีคำว่า New Normal ที่เราได้ยินในสื่อกันบ่อยๆ จนหลายคนเริ่มกังวลว่าจะปรับตัวปรับใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยชินมาให้เข้ากับ New Normal นี้ได้ไหม แล้วถ้าทำไม่ได้จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร อ้อมเลยไปขอคำชี้แนะจาก พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งท่านเมตตาให้แนวทางมาแบบนี้ค่ะ

ตอนนี้ดูเหมือนคำว่า New Normal ตามสื่อต่างๆ จะทำให้หลายคนเราจะตื่นเต้น บางคนถึงกับกังวล ถึงกับเครียดว่าโลกข้างหน้า โลกหลังโควิด-19 นี้ เราจะเป็นอย่างไร  เราจะอยู่อย่างไร คำตอบที่แน่นอนที่สุดคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อันนี้คือธรรมชาติของอนิจจธรรม คือธรรมชาติของสามัญญลักษณะ ที่พระพุทธเจ้าได้พูดถึงไว้ ดังนั้นเราจะเรียก New Normal หรือ Old Normal อะไรก็แล้วแต่ ความจริงแล้ว มันก็คือชีวิตทุกวันนี้ มันก็เป็น New อยู่แล้วตลอดเวลา ขนาดทุกปีใหม่ เรายังเรียกปีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น “ความปกติใหม่” มันก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่อันนี้เรามาใช้ในกรณีของโควิด  

จริงอยู่ ทุกคนอาจจะบอกว่า ชีวิตหลังโควิด อาจจะต้องมีหน้ากากติดตัว อาจจะอยู่กับบ้านมากขึ้น  Work from home มากขึ้น เป็นเรื่องใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มาเป็นประจำทุกปีเหมือนปีใหม่ แต่อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศที่พัฒนา ประเทศที่เจริญ หรือประเทศที่มีปัญหา เช่น มีมลพิษทางอากาศมาก เขาก็ใช้หน้ากากมาตั้งนานแล้ว ส่วนกรณีของ Work from home

ประเทศที่พัฒนาเขาก็ใช้หลักการนี้ เพื่อที่จะประหยัดเวลาลดปัญหาการจราจรก่อนที่จะเกิดโควิดด้วยซ้ำไป

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า New normal จริง ๆ นั้น ถ้าเราดูในบริบทที่กว้าง หรือมองโลกในมุมที่กว้างขึ้นจะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีอะไรที่เรียกว่าใหม่ แท้จริงแล้วมันเป็นการเปลี่ยนผ่านไปเรื่อย ๆ เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นมา และความเปลี่ยนแปลงนั้น มันก็จะเป็นต้นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่สามารถอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ทางภาษามานุษยวิทยา เขาเรียกว่า Survival of the fittest คือใครที่แข็งแรงก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์เราถ้าจะอยู่รอด ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุผล ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นแวดล้อมกับเรา

 

สมัยก่อนเราไม่มีเครื่องปรับอากาศเราก็อยู่กับพัดลมได้ ก่อนมีพัดลมเราก็อยู่กับพัดมือได้ แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่ามีเครื่องปรับอากาศ ถ้าใครอยากที่จะอยู่กับพัดมือ ก็อยู่ได้  แต่ว่าโดยธรรมดา ถ้าทุกคนหันมาใช้เครื่องปรับอากาศ อย่างนี้เรียกว่า New Normal ไหม ความนิยมไปห้าง จากที่สมัยก่อนนิยมไปวัด เรียกว่า New Normal ไหม ความเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี

ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมตะวันตกที่มีผลมาถึงตะวันออกของเราอย่างนี้ก็คือ New Normal ในอีกแบบหนึ่ง

 

เราจะเห็นได้ว่าคัมภีร์ในพระพุทธศาสนายุคแรก ๆ ที่เรียกว่ามุขปาฐะ ทุกคนใช้วิธีจำและเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก วันหนึ่งพอจะจารึกลงใบลาน คนก็บอกว่ามันไม่ดีแน่ เพราะความศักดิ์สิทธิ์จะลดลง แต่ไป ๆ มา ๆ มันก็กลายเป็น New Normal ที่เราใช้ใบลาน

พอมาสมัยรัชกาลที่ 5 จากใบลานออกมาเป็นหนังสือ ทุกคนก็บอกว่า ออกมาเป็นหนังสือ มันก็เสียความศักดิ์สิทธิ์ไป มันจะทำให้แย่ แต่ไป ๆ มา ๆ พระไตรปิฎก ก็เป็น New Normal เราก็ยังกราบพระไตรปิฎก นำไปถวายวัด วัดก็นำไปบูชาข้าง ๆ พระพุทธรูป อย่างนี้มันก็คือ New Normal 

ทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนรูปแบบไหนก็ตาม แต่เนื้อหาสาระคืออันเดียวกัน คือจะทำอย่างไรให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ ทำอย่างไรเป็นชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตน และเบียดเบียนสังคม

ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังต้องเผชิญกับความยากลำบาก ระบายความหนัก ความเหนื่อย หรือความเครียด ความทุกข์ของคุณมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจเฟซบุค : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ LINE : @Suanmokkh_Bangkok  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0