โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.52 #ถ้าติดเชื้อ COVID-19 ครองสติอย่างไรไม่ให้ใจป่วย

สวนโมกข์

เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 21.00 น.

ธรรมlife โดยอ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

คำถาม #ถ้าติดเชื้อ COVID-19 ครองสติอย่างไรไม่ให้ใจป่วย

ตอบโดย พระสุธีรัตนบัณฑิต ( สุทิตย์ อาภากโร ) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร

"ในเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างนี้ มีคำถามหนึ่งที่อ้อมเชื่อว่าอยู่ในใจของทุกคนแน่ๆ และก็มีคนถามมาจริงเสียด้วย นั่นคือคำถามว่า ถ้าเราติดเชื้อโควิด-19 เราจะทำใจอย่างไรดีคะ พระอาจารย์ท่านเมตตาตอบไว้ดังนี้ค่ะ

ในส่วนของการที่มนุษย์ต้องเจอโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่พระพุทธองค์ให้ระลึกอยู่เสมอ เหมือนเราจะต้องเจอกับความตาย คือการระลึกถึงมรณานุสติ

มรณานุสติเป็นเรื่องสำคัญ ชีวิตของมนุษย์ทุกคน วันหนึ่งสุดท้ายเราต้องเดินไปจุดสุดท้าย คือการเดินเข้าไปถึงความตาย

เพราฉะนั้น ไม่ว่าเราเจอโรคภัยไข้เจ็บ  โรค COVID-19   โรคซาร์ส หรือโรคอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นโอกาสดีที่จะได้

1.  ทบทวนการใช้ชีวิตของตนเอง

2.  เห็นสัจธรรมความจริงว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องธรรมดา

3.  การได้กลับมาพิจารณาสติ  ดูอารมณ์ ดูความรู้สึก ดูความเจ็บป่วยของตัวเอง

หลวงพ่อพุทธทาส ท่านพูดตลอดว่า  “คนไข้ไปนิพพาน” เพราฉะนั้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นคนไข้ แปลว่าเราแสวงหานิพพานจากการเจ็บป่วยได้ โดยเราก็พิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง แล้วเอาอารมณ์ที่ตั้ง มาอยู่ที่จิต อยู่ที่กายของตัวเอง แม้โรคภัยนั้นยังไม่มีทางรักษา แต่มันจะทุเลาได้ ด้วยความสุขทางใจที่เกิดขึ้น

สำหรับญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิดผู้ป่วย อาตมาเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราพึงพินิจพิจารณาก็คือ เราอาจจะมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น เพราะว่าเมื่อรัฐบาลก็ดี ประเทศก็ดี ยุติการท่องเที่ยว กิจกรรมที่มีคนเป็นจำนวนมาก เราก็มีเวลา กลับไปหาสักสองสามอย่าง

อันดับแรกคือ กลับไปค้นหาตัวตนของตัวเอง ที่ผ่านมา เราถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ มัวแต่ทำงานอยู่ในองค์กร  เพราะฉะนั้น ลองกลับไปค้นหาตัวเองว่าที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเรา ที่มาจากภายในจิตใจของเรา เราจะแก้ไขมันอย่างไร และปรับปรุงให้ดีขึ้น

อันที่สองคือ กลับไปหาความเป็นชุมชน ความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นมนุษย์  การช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน สมมติว่าเราไปอยู่ในชุมชนกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า บ้านเรา ทรัพยากรที่มีอยู่ มันหายไปหรือเปล่า ถ้ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ช่วยกันรักษา ถ้าไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ก็อาศัยช่วงเวลาโรคระบาดนี้ ไปช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมา

อันที่สาม ไปค้นหาวิถีทางภูมิปัญญาที่เคยมีมา พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย รู้จักวิธีการรักษาแบบดั้งเดิม รวมถึงศิลปะต่าง ๆ ของชุมชนที่มีอยู่ก็ดึงกลับมา เมื่อเราดึงกลับมาแล้วจะเห็นว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้ ศิลปะของชุมชนเหล่านี้ มันสร้างให้คนงดงามได้

และค้นหาพลังชุมชนให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราเป็นญาติของผู้ป่วยก็ดี  ไม่เป็นญาติของผู้ป่วยก็ดี เมื่อมีกิจกรรมทางสังคมน้อยลง เราก็จะมีเวลาค้นหาตัวเอง และค้นหาความเป็นชุมชน ความเป็นมนุษย์ รู้จักเกื้อกูลแบ่งปันกันให้ได้มากที่สุด 

ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เราจะได้พลังชุมชนกลับมา แม้ว่าเราจะสูญเสียจากโรคระบาด  วิกฤตเศรษฐกิจบางอย่าง แต่เราจะได้ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  วิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาคืนกลับมา

สุดท้ายขอให้พึงระลึกไว้ว่า กายป่วยได้ แต่ใจห้ามป่วย ในเรื่องของทางกาย ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ภาษาพระเรียกว่า “กายนี้เป็นรังของโรค” เป็นที่สะสมของโรคทุกอย่าง ทั้งโรคเบื้องต้น คือความหิว โรคของความไม่สะอาดในร่างกาย และที่สำคัญที่สุด  โรคที่มันเกิดขึ้นจากจิตใจคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มันเกิดขึ้นเพราะตัวเรา

เพราะฉะนั้น ร่างกายมันเป็นรังของโรคอยู่แล้ว เราจะจัดการอย่างไร ให้มันเรียบร้อยดีงาม สำคัญที่สุด คือใจ ถ้าหากว่าเราจะพัฒนาจิตใจของเราให้ดีขึ้น เอาสติมาพิจารณาอยู่กับร่างกาย สติอยู่กับเวทนา มีสติอยู่กับใจ  ใช้ปัญญาพิจารณาตามหลัก 

“สติปัฏฐาน 4” อย่างนี้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำอะไรเราได้ยากขึ้น

ถึงแม้ว่าร่างกายจะเจ็บป่วย แต่ถ้าใจเป็นกุศล คนไข้ก็ไปนิพพานได้"

อย่าลืมว่า ถ้าคุณรู้สึกหนัก มีทุกข์ในใจแบ่งเรื่องราวของคุณให้พวกเราได้ค่ะ ที่สำคัญลองเติมธรรมกันวันละนิดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife อ้อมจะไปหาคำตอบจากพระอาจารย์มาให้ค่ะ อะไรที่อ้อมช่วยได้ อ้อมยินดีค่ะ 

ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line: @Suanmokkh_Bangkok  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0