โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ธปท. หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง แนะเลี่ยงนโยบายศก.ที่หนุนการสร้างหนี้

efinanceThai

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 08.56 น.

ธปท. หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง แนะเลี่ยงนโยบายศก.ที่หนุนการสร้างหนี้ 

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -20 ม.ค. 63 15:56 น.

   ธปท. ยังกังวลหนี้ครัวเรือนปีนี้พุ่ง แนะหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่หนุนการสร้างหนี้  ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ยังแข็งแกร่ง-สถาบันการเงินมั่นคง

 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2562 ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 79.1% และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ดังนั้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องหลีกเลี่ยงการกระตุ้นการก่อหนี้เพิ่ม สำหรับกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว

 สำหรับที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากทั้งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง และหากครัวเรือนเผชิญปัจจัยลบในอนาคต เช่น รายได้ลดลง จะเพิ่มโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น

 อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากและใช้เวลา ซึ่งต้องแก้แบบองค์รวม รวมทั้งอาศัยความร่วมมือและการผลักดันจากทุกภาคส่วน โดยการเน้นนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือน โดยผลักดันการส่งเสริมความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชนโดยไม่ใช้จ่ายเกินตัวและให้ความสำคัญกับการออม ซึ่งจะต้องเริ่มก่อนเป็นหนี้

 ด้านแผนลดการก่อหนี้  โดยก่อนก่อหนี้ ควรเน้นนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถในการดำรงชีพของผู้กู้ และไม่กระตุ้นการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็น  ขณะที่หลังก่อหนี้ เน้นนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่เดิม โดยผลักดันแนวทางเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวังวนหนี้ เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ และการ refinancing รวมทั้งหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

 นายรณดล กล่าวว่า สำหรับเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง ฐานะด้านต่างประเทศของไทยอยู่เกณฑ์ดี มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปได้ช่วยลดความเปราะบางในระบบการเงินในระดับหนึ่ง

 อย่างไรก็ตาม แม้ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเสี่ยงในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง จากแนวโน้มเศรษฐฏิจโลกและไทยที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนาน ซึ่งจะเอื้อต่อการสะสมความเปราะบางในด้านต่างๆ เช่น 1.หนี้ครัวเรือนในระดับสูง และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจมีแนวโน้มด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ

 2.พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้น จนอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยนักลงทุนบุคคลอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงอย่างครบถ้วน 3.สหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่อง และมีความเชื่อมโยงกันเองผ่านการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นข้อต่อในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะจากสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง

 4.ภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ยังขยายตัวได้ โดยผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การเก็งกำไร ชะลอลงและมาตรฐานการให้สินเชื่อรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะการกู้ซื้อบ้านพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป ในระยะต่อไปยังต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างโดยเฉพาะอาคารชุดในบางพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างชาติและมีอุปทานคงค้างสูงตั้งแต่ก่อนมาตรการ LTV

 “อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้าความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูงจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะแวดล้อมที่ผันผวน ผู้เล่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) มีบทบาทมากขึ้น”นายรณดล กล่าว

 นายรณดล ยังกล่าวถึง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยปรับปรุงเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้และการจัดชั้นกันสำรองของ ธปท. โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2564 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน สำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยการปรับลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน

 ด้านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็น NPL โดยให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน โดยไม่ต้องรอถึง 12 เดือน มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงิน / สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงิน ไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ และไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้ (กันเฉพาะส่วนที่เบิกใช้แล้ว) และรายงานเป้าสินเชื่อแก่ธปท. โดยให้สถาบันการเงิน รายงานเป้าสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้เอสเอ็มอี เป็นรายเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เริ่มตั้งแต่งวดสินเดือนมกราคม 2563-ธันวาคม 2564

 ขณะเดียวกัน ยังช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่จ่ายดอกเบี้ยสูงสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้เปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิตเป็น term loan ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงได้ โดยไม่ต้องยกเลิกบัตร (ไม่เกินวงเงินเดิม)

 รวมทั้งปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรม ประกอบด้วย 1.ค่าไถ่ถอนก่อนกำหนด ทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด และคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ 2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล ต้องมี grace period ที่ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คำนวณจากค่างวดค้างชำระส่วนที่เป็นเงินต้น ด้านลูกหนี้เดิม ให้พิจารณาปรับลด ยกเว้นค่าปรับตามสมควร

 3.ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม สำหรับกรณียกเลิกบัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนทันที ลูกค้าไม่ต้องร้องขอ และการออกบัตรใหม่และรหัสทดแทน โดยไม่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ยกเว้นต้นทุนสูง อาจเรียกเก็บได้ตามความเหมาะสม

รายงาน   โดย ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์  เรียบเรียง โดย สุรเมธี มณีสุโข 
                อีเมล์. suramatee@efnancethai.com อนุมัติ    โดย อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร 
ดูข่าวต้นฉบับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0