โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"ธปท"รับระบบไอทีแบงก์ยังไม่พร้อมส่งข้อมูลให้สรรพากรหักภาษีดอกเบี้ย

ไทยโพสต์

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 03.05 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 03.05 น. • ไทยโพสต์

24 เมษายน 2562 นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า “ธปท. รับทราบ เรื่องที่มีการหารือระหว่างกรมสรรพากรกับสถาบันการเงิน ในเรื่องกระบวนการนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าให้กับกรมสรรพากร ซึ่งมีประเด็นเรื่องของระบบงาน เช่น ระบบไอทีของสถาบันการเงินที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถนำส่งข้อมูลดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน จึงอาจต้องมีการหารือเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นในเรื่องวิธีการปฏิบัติ ข้อติดขัด ผลกระทบต่อประชาชน และทางเลือกในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบาย

เมื่อเวลา 13.00  น. วันที่ 23 เม.ย.2562 ที่สมาคมธนาคารไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานของสมาคมฯได้ประชุมหารือถึงแนวทางประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยมีหลายข้อเสนอและข้อกังวลหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายของธนาคารพาณิชย์

น.ส.ชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ได้ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ จะเดินทางไปประชุมหารือกับกรมสรรพากรอีกครั้ง ถึงร่างประกาศกรมสรรพากรที่จะออกประกาศซึ่งจะมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ฝากเงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย  และจะเชิญตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาให้ความเห็นด้วย โดยเบื้องต้นจะให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรมาเซ็นหนังสือว่าไม่ขอส่งข้อมูล แต่ถ้ารายใดไม่มาเซ็นฉบับดังกล่าว ข้อมูลดอกเบี้ยจะถูกส่งไปกรมสรรพากรตามเวลาที่กำหนดทันที

“จะต้องรอดูประกาศทางการของกรมสรรพากรอีกครั้ง ก่อนที่จะนำกลับมาเข้าที่ประชุมหารือในคณะทำงาน ซึ่งจะทำงานร่วมกับชมรมนักกฎหมาย เพราะจะต้องดูว่าประกาศของกรมสรรพากรที่จะออกมา ขัดต่อกฎหมายของกฎหมายธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ก่อนที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกต่อไป และแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าของแต่ละธนาคารรับทราบ โดยมีข้อความชัดเจนป้องกันลูกค้าสับสน” น.ส. ชุลีพร กล่าว

สำหรับปัจจุบันในระบบธนาคารพาณิชย์มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กว่า 80 ล้านบัญชี คิดเป็น 30 ล้านคน โดยมี 1% หรือ 3 ล้านคนที่เข้าเกณฑ์เสียภาษีดอกเบี้ยประเภทนี้ นอกจากนี้ในอนาคตอาจปรับเปลี่ยนการเซ็นยินยอมส่งข้อมูลทางโมบายแบงก์กิ้งซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0