โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ธปท.ยกเลิกใช้ 'บัตรเดบิต-เอทีเอ็มแถบแม่เหล็ก' หลัง 15 ม.ค. 63

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 ธ.ค. 2562 เวลา 09.26 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 09.15 น.
71008962_683283615480939_6002402154063593472_n
แบงก์ชาติประกาศยกเลิกใช้บัตรเดบิต-เอทีเอ็มแถบแม่เหล็กทุกใบหลัง 15 ม.ค.63 เร่งผู้ถือบัตรเปลี่ยนใช้บัตรชิปการ์ดที่ ชี้ระดับความปลอดภัยสูงกว่าบัตรรูปแบบเก่า ปลอมแปลง-โจรกรรมข้อมูลยาก

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2559 ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน ได้ร่วมกันผลักดันการปรับเปลี่ยนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มจากรูปแบบบัตรแถบแม่เหล็ก (magnetic card) ให้เป็นบัตรชิปการ์ด (chip card) ที่เป็นมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ป้องกันการปลอมแปลงบัตร (counterfeit card fraud) และการโจรกรรมข้อมูล (skimming) นำไปทำบัตรปลอม และใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม

โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนบัตรได้ครบถ้วนภายในสิ้นปี 2562 ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ ได้ประชาสัมพันธ์และเปลี่ยนบัตรให้ประชาชนมาโดยตลอด ปัจจุบันพบว่ามีผู้เปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดไปแล้วประมาณ 47 ล้านใบ และยังคงมีบัตรแถบแม่เหล็กคงเหลือที่ยังไม่ได้เปลี่ยนอีกประมาณ 20 ล้านใบทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากการผลักดันให้เปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ดพบว่าปัญหาด้านความปลอดภัยมีลดลง

ดังนั้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน ป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น และให้ผู้ถือบัตรสามารถใช้งานบัตรได้อย่างต่อเนื่อง ธปท.จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ยังใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็กอยู่ในปัจจุบันรีบติดต่อธนาคารที่ใช้บริการได้ทุกสาขาเพื่อเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรชิปการ์ดให้แล้วเสร็จ โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มใบเดิม และสมุดบัญชีเงินฝาก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนบัตร

“ปัจจุบันมีบัตรแถบแม่เหล็กที่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นชิปการ์ด 20 ล้านใบ มีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครประมาณ 30% นอกเหนือจากนี้จะกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26% ภาคเหนือ 14% และภาคใต้ 12% โดยบัตรคงค้างของธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสูงกว่าบัตรของธนาคารรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลักดันให้มาเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรชิปการด์ แต่คาดว่าจะยังมีบัตรบางส่วน เช่น บัตรเอทีเอ็มที่ไม่มีวันหมดอายุ หรือบัตรที่ไม่มีการใช้งานมานาน (Inactive) คงค้างอยู่ในระบบบ้าง โดยปัจจุบันบัตรประเภท Inactive มีจำนวนประมาณเป็น 30% ของบัตรทั้งหมด” นางสาวสิริธิดา กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของประเด็นการขายพ่วงบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ กับบัตรชิปการ์ด นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ลูกค้ามีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ใช้บริการหรือซื้อผลิตภัณฑ์ที่ขายพ่วงได้

ขณะที่การเติบโตของโมบายด์แบงกิ้งในปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกรรมผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิต โดยพบว่าธุรกรรมผ่านบัตรยังเติบโตได้ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) เนื่องจากลูกค้ายังใช้บัตรในการชำระการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงปริมาณของตู้ ATM/CDM ในปัจจุบันไม่ได้ลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณอยู่ที่ 67,000 ตู้ ใกล้เคียงกับปริมาณในช่วงปลายปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่การเข้ามาของโมบายด์แบงกิ้งทำให้ธนาคารมีการเคลื่อนย้ายตู้ (relocate) จากบริเวณที่มีการวางหนาแน่นออกไปบริเวณที่ตู้ยังมีน้อย รวมถึงเคลื่อนย้ายไปให้บริการยังพื้นที่ที่มีการปิดสาขาเนื่องจากปัจจุบันตู้สามารถให้บริการครบครันใกล้เคียงกับสาขาของธนาคาร

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 15 ม.ค.63 บัตรแถบแม่เหล็กจะไม่สามารถใช้งานได้ที่เครื่องเอทีเอ็มหรือเครื่องรูดบัตรที่ร้านค้า สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรชิปการ์ด หากมีความต้องการใช้เงินสดหรือโอนเงิน สามารถเบิกถอนได้ที่สาขาธนาคาร หรือใช้ฟังก์ชั่นกดเงินไม่ใช้บัตรที่ตู้เอทีเอ็ม หรือโอนเงินผ่าน mobile banking / internet banking แทนการใช้บัตรประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ call center หรือเจ้าหน้าที่ของสาขาธนาคารที่ใช้บริการ หรือที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0