โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ธนาธร-อภิสิทธิ์ มองปัญหาระบบสวัสดิการไทย ถ้ารัฐจริงจังทำได้ดีกว่านี้

TODAY

อัพเดต 11 ก.ค. 2563 เวลา 15.03 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 15.02 น. • workpointTODAY
ธนาธร-อภิสิทธิ์ มองปัญหาระบบสวัสดิการไทย ถ้ารัฐจริงจังทำได้ดีกว่านี้

2 อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร่วมวงเสวนาเรื่องสวัสดิการ ธนาธร ชี้ถ้าเอาเงินนอกงบประมาณกลับมาได้บางส่วนเพิ่มสวัสดิการได้ ส่วน อภิสิทธิ์ แนะปรับระบบภาษี นำรายได้มาเพิ่มสวัสดิการ ชำแหละพลังประชารัฐ ไม่ได้มีนโยบายจริงจัง ตอนหาเสียงเห็นคนอื่นพูดก็เลยพูดบ้าง

วันที่ 11 ก.ค. 2563 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนา "365 วัน รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า?" จัดขึ้นโดยเครือข่าย We Fair นายธนาธร กล่าวว่า รูปธรรมจากงบประมาณที่เกิดขึ้นจริงในงบประมาณปี 2563 และร่างงบประมาณปี 2564 ยืนยันสองเรื่อง คือ 1) รัฐบาลดูแลแต่กลุ่มทุนไม่เหลียวแลประชาชน 2) ตนต้องการทำลายมายาคติที่ว่า เรามีเงินไม่พอสร้างสวัสดิการให้ประชาชนที่ดีกว่านี้ การจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำสามารถทำได้ทันที ไม่ใช่เรื่องเงินไม่พอ

ประเทศไทยมีสวัสดิการสังคม 6 ตัวใหญ่ๆ ที่กระจายไปในแต่ละช่วงอายุของคนที่ต่างกันไป คือ 1) สวัสดิการเด็กยากจน 2) สวัสดิการเรียนฟรี 3) บัตรคนจน 4) เบี้ยผู้สูงอายุ 5) ประกันสังคม และ 6) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2563 งบประมาณสวัสดิการ 6 ตัวนี้รวมกันเป็นงบประมาณ 3.52 แสนล้านบาท ส่วนปี 2564 รวมกัน 3.85 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเราเอาเรื่องรัฐสวัสดิการไปพูดกับฝั่งอนุรักษ์นิยม สิ่งที่เขาจะบอกตลอดแค่นี้ก็พอแล้ว คนจนให้ไม่เคยพอ คนจนขี้เกียจไม่คิดจะหาเลี้ยงดูตัวเอง ต้องพึ่งพิงจากรัฐตลอดเวลา แต่ตนจะพิสูจน์ให้เห็นว่านี่คือคำโกหก ในความเป็นจริง คือเรายังดูแลคนในประเทศเราน้อยไปด้วยซ้ำ แต่กลับไปอุ้มชูกลุ่มทุนแทน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายล่าสุดที่รัฐบาลลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDFหรือกองทุนที่ทุกธนาคารต้องส่งเงินประมาณ 0.46% ของยอดเงินฝากทุกปี เพื่อใช้หนี้ที่กู้มาสมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้ทุนธนาคารได้ประโยชน์, การพยุงหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับ ผู้ประกอบการ SMEs และมี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ได้วงเงินไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง หรืออีกตัวอย่าง การลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. ขณะที่ประชาชนยังไม่เริ่มล็อกดาวน์ ยังไม่ได้เงินอะไรเลย

นายธนาธร กล่าวว่า รัฐราชการรวมศูนย์ คือ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้งบประมาณไม่ได้ถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่กลับเอามาหล่อเลี้ยงระบบรัฐราชการที่ใหญ่โตมโหฬาร ที่ไม่ตอบสนองความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐราชการที่ใหญ่ขึ้นนี้เป็นปัญหาจริงๆ กับเงินภาษีของเรา ยกตัวอย่าง ในปี 2560 บุคลากรในกระทรวงกลาโหมในอัตราที่ไม่ใช่ทหารเกณฑ์มีอยู่ 3.96 แสนคน พอมาปี 2563 เพิ่มเป็น 4.8 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9 หมื่นคน แต่ในเวลาเดียวกัน พยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยเมื่อปี 2559 มีอยู่ 1.08 แสนคน ส่วนปี 2564 เพิ่มขึ้นมาเป็นแค่ 1.18 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนเท่านั้น

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท มีงบที่รัฐบาลจัดสรรโยกย้ายได้ 1.1 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำที่จัดสรรโยกย้ายไม่ได้ ใครเป็นรัฐบาลขึ้นมาก็ต้องใช้จ่าย แต่เวลาตนพูดว่าประเทศเรามีเงินพอ ยังมีอีกตัวที่เรามองไม่เห็น ตรวจสอบไม่ได้ คือเงินนอกงบประมาณ 4 ล้านล้านบาทต่อปี เรามองไม่เห็น แม้กระทั่งผู้แทนราษฎร เป็นงบที่ไม่ต้องสำแดงต่อสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องแสดงต่อกรรมาธิการ มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก นี่เป็นประเด็นที่ใหญ่มากที่เราต้องต่อสู้กัน จะมีงบแบบนี้ให้หน่วยงานรัฐเก็บกันเองแล้วไม่ต้องสำแดงไม่ได้ “เพราะฉะนั้น การสร้างรัฐสวัสดิการ มันเป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมืองล้วนๆ เลยว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร ถ้า 4 ล้านล้านบาทที่อยู่ข้างนอกนั่นเอากลับมาได้สัก 10% เราจะได้งบเพิ่มอีก 4 แสนล้านบาท เราจะจัดสรรสวัสดิการได้อีกเยอะ แนวคิดที่เราบอกว่ารัฐอุ้มคนรวย ไม่เห็นหัวคนจน มันแสดงผ่านงบประมาณ จับต้องได้ว่าป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่คำพูดที่จะเอามาลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลคนไทยด้วยกันได้ดีกว่านี้ ถ้าเราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการนั้น” นายธนาธร กล่าว

ภาพ : FB Abhisit Vejjajiva

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย เราเป็นประเทศแก่ก่อนรวย ในขณะที่ประเทศอื่นรวยก่อนแก่จึงมีระบบสวัสดิการที่รองรับความจำเป็นในการดำรงชีวิต ในอีก 10 ปีข้างหน้าตัวเร่งก็จะยิ่งมากขึ้น ถ้าดูจากอัตราการเกิด ดูจากโครงสร้างประชากร อีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้าจะเกิดโควิดมีการพูดกันมากเรื่อง disruption จากเทคโนโลยี ซึ่งจะสร้างปัญหาความมั่นคงในเชิงรายได้ และการดำรงชีวิต ระบบสวัสดิการในต่างประเทศไม่เพียงเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่มองไปถึงการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับทุกคน เพราะความไม่แน่นอนในชีวิตสูงขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก เรื่องน่าตกใจแต่คนยังพูดน้อยคือ ตั้งแต่ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม อัตราการเจริญเติบโตเป็นบวกตลอด ยกเว้นวิกฤติทางการเงิน 2 รอบ และโควิด แต่เมื่อปี 2561 เป็นครั้งแรกที่ความยากจนมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวิกฤติ แสดงว่าโครงสวร้างกำลังตอกย้ำว่าผลประโยชน์ไปกองรวมกันคนที่มีอยู่แล้ว

ภาพ : FB Abhisit Vejjajiva

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ระบบสวัสดิการที่จะเกิดขึ้น ด้านหนึ่งยังจำเป็นต้องพึ่งกระบวนการทางการเมือง เช่น ระบบสวัสดิการทั่วถ้วนหน้า เกิดในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ส่วนการเรียนฟรีและะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เกิดขึ้นจากสมัยรัฐบาลของตน ดังนั้น ปัญหาในยุคปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองในขณะนี้มีแนวคิดอย่างไร ถ้าแนวคิดไม่เกิดเป็นเรื่องยากที่จะขยับ โดยเฉพาะพรรคแกนนำ ซึ่งเป็นผู้คุมกระทรวงหลัก อย่างกระทรวงการคลัง ย้อนกลับไปช่วงหาเสียง นโยบายหลายเรื่องพรรคพลังประชารัฐ เกิดขึ้นเพราะพรรคอื่นพูดจึงต้องพูดบ้าง แต่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องหลัก ซึ่งมีงานวิชาการรองรับเรื่องนี้มีการสัมภาษณ์คนในพรรค พรรคพลังประชารัฐก็รู้สึกว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะเรื่องนโยบาย เรื่องเดียวที่ได้มาคือ นโยบายความสงบ "ส่วนหนึ่งที่ผมประกาศไม่สนับสนุนนายกฯ ประยุทธ์ เพราะผมไม่เชื่อว่าท่านเชื่อในเรื่องแบบนี้ เมื่อมีการสอบถามในเรื่องแบบนี้ สิ่งแรกที่ท่านพูดก็คือ เอาเงินมาจากไหน"

ภาพ : FB Abhisit Vejjajiva

แล้วเวลาพูดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ คำตอบหลายครั้งในสภา ยืนยันกรอบความคิดแบบเดิมที่เชื่อว่าสร้างรายได้จากการลงทุนของคนที่มีกำลัง แล้วผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะกระจายไปถึงคนรายได้น้อย นายอภิสิทธิ์ เสนอว่าเรื่องสวัสดิการทั่วหน้าจะดำเนินการได้ต้อง 1.ปรับทัศนคติผู้นำ เพราะการขับเคลื่อนสวัสดิการทั่วหน้า ยังมีค่านิยมของภาครัฐที่ยังไม่ยอมรับ, 2.ต้องทำระบบภาษีให้เอื้อต่อระบบสวัสดิการทั่วหน้า ถ้าเก็บภาษีได้เพียง 16% ของรายได้ประชาชาติคงทำไม่ได้ ระบบภาษีของไทยยังขาดความหน้า ต้องพิจารณาภาษีจากทุน ธุรกรรมทางการเงิน, 3.ให้พรรคการเมืองและทุกภาคส่วนร่วมรับผิดชอบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0