โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ธนาธร" ย้ำ "คืน ปชต.-ปฏิรูปโครงสร้างรัฐ-รณรงค์เสรีภาพ" ก่อเกิดรัฐสวัสดิการ

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 11.12 น.
cdde84d3aecb3aa2a6f333dd7b3bba26e_16933167_๑๙๐๕๒๖_0004

วันที่ 26 พฤษภาคม ที่ห้องอเนกประสงค์ 107-108 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าจะมองเห็นข้อดีคือ นโยบายทุกพรรคการเมืองโดยภาพรวมก้าวหน้าที่สุด อาจต่างกันในรายละเอียด แต่หลักคิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น สิทธิ์ความเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ การปฏิรูปกองทัพ เหล่านี้ถูกนำเสนอเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องนโยบาย หากแต่สิ่งสำคัญที่ควรคิดคือโครงสร้างรัฐแบบไหนที่เอื้อให้นโยบายก้าวหน้าแบบนี้เป็นไปได้

นายธนาธร กล่าวว่า มี 3 เรื่องสำคัญที่อยากชวนทุกคนคิด นั่นคือ 1.การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องไปด้วยกัน ไม่มีประชาธิปไตยไม่อาจเกิดรัฐสวัสดิการได้ ยกตัวอย่าง ชุมชนริมทางรถไฟที่ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองอะไร เพราะเป็นที่ของการรถไฟ สมมติว่าเรานำงบประมาณก้อนเดียวกันนี้ คือ 3 หมื่นกว่าล้านที่ไปใช้ซื้อเรือดำน้ำ นำไปสร้างที่อยู่อาศัยและให้กรรมสิทธิ์ฟรีกับคนในชุมชน ครั้งเดียวจบเรียบร้อย หรือเรื่อง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ผ่านสภาปี พ.ศ.2497 และถูกรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มไม่ให้ใช้ ซึ่งกว่าจะได้เริ่มคือ ปี พ.ศ. 2533 ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น จะไม่มีรัฐสวัสดิการ ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มาจากประชาชน ถ้าคนที่กำหนดใช้งบประมาณไม่ได้มาจากประชาชน

“2.รัฐสวัสดิการไม่อาจเกิดได้ถ้าไม่ปฏิรูปโครงสร้างรัฐในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ทุนผูกขาด ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ยกตัวอย่าง วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และมีการตั้ง องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อไปอุ้มทุนธนาคาร และเราจ่ายดอกเบี้ยมาจนถึงวันนี้ 23 ปีแล้ว ตกเฉลี่ยดอกเบี้ยปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท นี่คือดอกเบี้ยที่เอาไปทำอะไรได้มากมาย ดอกเบี้ยก้อนนี้พี่ตูน บอดี้สแลม อาจต้องวิ่งถึง 20 รอบกว่าจะได้มา หรือ อย่างธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) ที่คิดดอกเบี้ยเกษตรกร 7 % ซึ่งหากเกษตรกรเป็นหนี้จะขอยืดออกไปดอกก็เพิ่ม แต่ขณะเดียวกัน หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจ ม.44 ยืดหนี้ให้กลุ่มทุนโทรคมนาคม แล้วดอกเบี้ยยังลดลงเหลือ 1 % ซึ่งเทียบกับเกษตรกรที่เป็นหนี้ ธกส.แล้ว ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ปัญหาคือ จะใช้งบประมาณไปกับใครอย่างไร โดยใครที่เป็นคนถืออำนาจ ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่มีการตั้งงบกลางสูงเท่ารัฐบาลชุดนี้อีกแล้ว งบกลางรัฐบาลชุดนี้ 5 แสนล้าน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีนำไปทำอะไรก็ได้นั้น ตอนมีคนออกมาด่ารัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร เรื่องงบกลางนั้นแค่ 1 แสนล้าน แต่วันนี้ 5 แสนล้าน กลับไม่มีใครพูดอะไรสักคำ

“และ 3 รัฐสวัสดิการไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ หรือหยิบยื่นให้โดยผู้มีอำนาจ แต่เป็นการรณรงค์อย่างแข่งขันต่อเนื่อง ดังนั้น ประชาชนต้องมีสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงออก ยกตัวอย่าง สิทธิ์ลาคลอด 90 วัน โดยได้รับเงินจากนายจ้าง 45 วัน และได้รับเงินจากประกันสังคม 45 วันนั้น ก็มาจากการต่อสู้รณรงค์อย่างยาวนาน” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีผู้พูดว่าการยกเลิกภาษีบีโอไอ ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินเพิ่มนั้น คนที่พูดอย่างนี้ต้องบอกเลยว่าไม่รู้เรื่อง เพราะเครื่องจักรหรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มีอายุการใช้งาน สมมติเครื่องจักรมีอายุขัย 10 ปี ไม่เสียภาษีด้วยสิทธิ์บีโอไอในช่วงเครื่องจักรชุดนี้ แต่เมื่อเสีย การลงเครื่องจักรใหม่รัฐก็เก็บภาษีได้ ยืนยันว่ารัฐได้เงินแน่นอน มั่นใจว่า สำหรับนักลงทุนต่อให้ไม่ได้สิทธิ์บีโอไอ อย่างไรก็ไม่ย้ายฐานการผลิต มั่นใจว่าอย่างไรก็ต้องมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งรัฐได้ภาษีแน่นอน ส่วนที่ถามว่าจะนำเงินจากไหนมาสร้างรัฐสวัสดิการ นอกจากเรื่องยกเลิกภาษีบีโอไอนั้น พรรคอนาตใหม่คาดว่าจะใช้เงิน 6.5 หมื่นล้านบาทในการสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้น เคยชี้แจงไว้แล้วในนโยบาย เรื่องแหล่งที่มาของเงิน เช่น การปฏิรูปกองทัพ ลดจำนวนนายพล ยกเลิกการณ์เกณฑ์ทหาร, เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า, ยกเลิกการลดหย่อนภาษีกองทุน RMF, ลดงบประจำรัฐราชการไทยที่ใหญ่เทอะทะเกินไป เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0