โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ธนาธร-ปิยบุตร'หนาว!ถ้าผิดคุก 10 ปี พรป.พรรคการเมืองระบุเงินกู้ไม่ใช่รายได้พรรค เงินพรรคห้ามนำไปใช้หนี้เงินกู้

ไทยโพสต์

อัพเดต 21 พ.ค. 2562 เวลา 01.53 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 00.16 น. • ไทยโพสต์

21 พ.ค.62- หลังน.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ให้พรรคกู้ยืม 250 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ว่าพรป.ดังกล่าวระบุเฉพาะที่มารายได้ของพรรคการเมือง ไม่ได้ระบุรายจ่าย และนี่คือการกู้เงิน ซึ่งในการเป็นหนี้ของพรรค เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้นั้น

จากการตรวจสอบ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้ (1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ (3) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง (4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง  (5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค (6) เงินอุดหนุนจากกองทุน (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

ทั้งนี้พบว่าทั้ง 7 วงเล็บของมาตรา 62 ไม่ได้กำหนดให้เงินกู้คือรายได้ของพรรคการเมืองแต่อย่างใด การเงินกู้มิได้เป็นรายได้ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำ   และจากการให้สัมภาษณ์ของน.ส.พรรณิการ์ ยังขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคไม่มีรายได้ แต่กลับมีเงินจ่ายหนี้

นอกจากนี้ วรรคแรกของ มาตรา 87 ของพรป.พรรคการเมือง บัญญัติไว้ว่า   เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนําไปใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรม ทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง

นั่นเท่ากับว่าทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมของพรรค การเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่การนำไปใช้หนี้เงินกู้

สำหรับบทลงโทษ บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 132 ว่า "หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิก พรรคการเมืองผู้ใดนําหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนําเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนําไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ".  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0