โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ธนาธรฝันกินรวบซ่อมส.ส. การเมืองพลิกขั้วจัดตั้งรบ.

ไทยโพสต์

อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    ฝ่ายค้าน "เพื่อไทย-อนาคตใหม่" อาจชนกันเองในสนามเลือกตั้งซ่อมนครปฐม "ธนาธร" ฝันหากรอดคดีศาล รธน.-ชนะเลือกตั้งซ่อม การเมืองพลิก ล้มรัฐบาลได้ ปูดช่วงปิดสภาอาจมีเงินสะพัด ซื้อตัวงูเห่าเข้าคอก น่าอายไหม ผลโพลตบหน้าสภา 500 ประชาชนผิดหวังบทบาท ส.ส. เหตุเอาแต่ทะเลาะกัน ไม่ทำเพื่อประชาชน     เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ตลาดเช้าวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย ส.ส.และแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ร่วมชี้แจงสาเหตุการลาออกจากการเป็น ส.ส.ของนางจุมพิตา จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.นครปฐม ที่ประสบอุบัติเหตุต้องพักรักษาตัว ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยเริ่มต้นนายธนาธรได้ประกาศผ่านเสียงตามสายของกองอำนวยการตลาด ก่อนจะเดินบอกกล่าวกับผู้คนในตลาดอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางประชาชนที่ให้ความสนใจ     นายธนาธรกล่าวว่า ต้องขอโทษที่ ส.ส.จุมพิตา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากหลังการเลือกตั้งแล้ว ประสบอุบัติเหตุ ต้องผ่าตัดสมองและพักรักษาตัว ซึ่งแม้จะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ไม่อยากให้พี่น้องเสียโอกาส ไม่อยากให้เสียเวลาการประชุมสภาที่ต้องเสียไป 1 เสียง คุณจุมพิตาจึงตัดสินใจลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งผู้แทนในเขตนี้ใหม่ จึงจะขอการสนับสนุนจากประชาชนอีกครั้ง ในการเลือกตั้งใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 20 ตุลาคม     "ในสภาวะที่เสียง ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านปริ่มน้ำ ก้ำกึ่งกันอย่างในตอนนี้ 1 เสียงของประชาชนอาจเปลี่ยนสมดุลทางการเมือง อาจเปลี่ยนขั้วการเมืองได้" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุ     ต่อมา ที่วัดนครชื่นชุ่ม อ.สามพราน จ.นครปฐม นายธนาธรและคณะร่วมเป็นสักขีพยานการลงคะแนนเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในนามพรรคอนาคตใหม่ ของสมาชิกพรรค เขต 5 นครปฐม แทนนางจุมพิตา โดยมีผู้เสนอตัว 3 คน ได้แก่ 1.นายไพรัฎฐโชติ จันทรขจร สามีนางจุมพิตา 2.น.ส.ประภัสรินทร์ ธาตรีธีรสวัสดิ นักธุรกิจ และ 3.นายสมศักดิ์ เกษมวัฒนา อดีตข้าราชการ ซึ่งผลการลงคะแนนปรากฏว่าผู้ชนะได้แก่ นายไพรัฎฐโชติ     จากนั้นนายธนาธรกล่าวว่า จะนำรายชื่อของผู้ที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 และ 2 ไปให้กรรมการบริหารพรรคตรวจสอบและรับรองอีกครั้ง แต่เบื้องต้นขณะนี้คือนายไพรัฎฐโชติ เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ      "ในสภา 2 เสียงที่หายไปคือ 1.เสียงของผมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ และ 2.คุณจุมพิตาซึ่งไม่สบาย หากในอนาคตได้ 2 เสียงกลับคืนมา ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำแบบนี้ อาจทำให้สมดุลทางการเมืองเปลี่ยน พลิกขั้วรัฐบาลพลิกได้ ซึ่งก็เกือบพิสูจน์แล้วจากการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านแพ้ให้กับพรรคฝ่ายรัฐบาลเพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น  เสียงชาวนครปฐมมีโอกาสตัดสินอนาคตของประเทศ ขอให้ใช้สิทธิ์ของท่านอย่างเต็มที่เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในครั้งนี้" นายธนาธรกล่าว      นายธนาธรกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ของสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ก็ต้องบอกว่าระฆังหมดยกช่วยไว้ก่อน ปิดสมัยประชุมสภาในขณะที่สถานการณ์ฝ่ายรัฐบาลไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ 2 เสียงที่กลายไปเป็นพรรคฝ่ายค้านอิสระ ดังนั้น คาดว่าช่วงปิดสมัยประชุม อาจจะมีการซื้อ ส.ส.ด้วยเงิน ด้วยอำนาจ เพื่ออุดรูรั่วตรงนี้ ซึ่งก็อยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันจับตา สำหรับเรื่องการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ  กทม. สำหรับพรรคอนาคตใหม่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการตัดสินใจ ยังมีเวลา เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ปฏิทินการทำงานของพรรคยังมีเรื่องของการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ต้องทำให้จบเสียก่อน     ด้านพรรคฝ่ายค้านด้วยกันคือ พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมส่งผู้ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งที่ 5 จ.นครปฐม และเขต 2 จ.กำแพงเพชร ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคจะหารือกันเพื่อกำหนดตัวบุคคลในวันที่ 16 ก.ย. เบื้องต้นมีผู้เสนอตัวสมัครเข้ามาเขตละ 2-3 คนแล้ว รวมทั้งพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้กับพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม     ขณะที่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นก็เริ่มคึกคักมากขึ้น โดยทาง     พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตผู้อำนวยการเลือกตั้ง พปชร.ภาคใต้ และว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารจังหวัดสงขลา (อบจ.) กล่าวว่า การเมืองท้องถิ่นจะเกิดขึ้นระยะ 3-4 เดือน สำหรับตนเองถ้าได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สงขลา โดยมีนโยบายคือนำงบประมาณ อบจ.ประมาณ  1,700 ล้านบาท/ปี ลงสู่ท้องถิ่นฐานราก ประมาณ  1,000 ล้านบาท/ปี  กระจายถึงรากหญ้าถึงบันไดบ้าน จำนวน 128  ตำบล  โดยผ่านกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล  อบต.  โดยตำบลละ 1 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยจัดอันดับโครงการความเร่งด่วน ตามสภาพความเป็นจริง  ประชาชนร่วมกันจัดทำโครงการ ส่วนอีก 700 ล้านบาท จะเป็นงบประจำของ อบจ. โดยก่อนหน้านี้เคย เป็น ผอ.ศูนย์เลือกตั้งภาคใต้ พรรค พปชร. สามารถพาผู้สมัครได้รับเลือกตั้งภาคใต้ 13 คน พรรคจึงมีมติส่งผู้สมัครนายก อบจ. 14 จังหวัด และจะมีการแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกหาผู้สมัครนายก อบจ. 14 จังหวัดภาคใต้ต่อไปในเร็วๆ นี้      วันเดียวกันนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัย        สวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,233 คน ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายน 2562 ในเรื่อง "บทบาทของ ส.ส. ณ วันนี้ "     ผลสำรวจที่น่าสนใจพบว่า เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนประทับใจเกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา อันดับ 1 มีความตั้งใจในการทำงาน ทำหน้าที่ได้ดี  51.48%, อันดับ 2 มีแนวคิดใหม่ๆ มีนโยบายที่น่าสนใจ 28.35%, อันดับ 3 เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน 22.96%, อันดับ 4 เป็นคนรุ่นใหม่ เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ไฟแรง    21.22% ขณะที่สิ่งที่ประชาชนไม่ประทับใจเกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา คืออันดับ 1    ไม่รักษาสัญญา ไม่ทำตามนโยบาย 40.98%, อันดับ 2 ทะเลาะวิวาท สร้างความขัดแย้ง แตกแยก     29.69%, อันดับ 3 อภิปรายไม่สร้างสรรค์ ไม่ควบคุมอารมณ์  26.64%     ส่วนสิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด คืออันดับ 1 มีผลงานให้เห็น มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน 39.59%, อันดับ 2 พัฒนาประเทศ จังหวัด ชุมชนให้เจริญก้าวหน้า 30.46%, อันดับ 3    ดูแลเอาใจใส่พี่น้องประชาชน ทำให้อยู่ดี กินดี    22.03%, อันดับ 4 รักษาสัญญา ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ 18.76%, อันดับ 5 เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน ปกป้องสิทธิของประชาชน 15.49%     ขณะที่เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไว้กับ ส.ส. จะสมหวังหรือไม่ อันดับ 1 ค่อนข้างผิดหวัง         48.39% เพราะเล่นเกมการเมืองแบบเดิมๆ มัวแต่ทะเลาะกัน กล่าวหา ใส่ร้าย โจมตีกันไปมา ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ฯลฯ, อันดับ 2 ผิดหวัง 31.07% เพราะ    คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ทำเพื่อประชาชน ไม่รักษาคำพูด ไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ฯลฯ, อันดับ 3 ค่อนข้างสมหวัง 17.86% เพราะ เป็นกันเอง ใกล้ชิดประชาชน ลงพื้นที่พบปะพูดคุย เข้าถึงประชาชน รับฟังความคิดเห็น ฯลฯ.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0