โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ท่องเที่ยววิถีชุมชน “บานา” ล่องเรือชมอุโมงค์ต้นโกงกางที่เลื่องชื่อ จ.ปัตตานี

Manager Online

เผยแพร่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 12.34 น. • MGR Online

Facebook :Travel @ Manager

“บานา” เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน คำว่า บานา เป็นภาษาเปอร์เซียซึ่งมีความหมายว่า เมืองท่าเรือ มีบันทึกไว้ว่า บานา ในอดีตนั้นเป็นเมืองท่าของอาณาจักรมลายูลังกาสุกะฝั่งทะเลตะวันออก และเดดาห์ โดยมีเรือสินค้ามาจอดนับร้อยลำ

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของบ้านบานา คือสะพานไม้บานา ที่ทอดยาวออกสู่ท้องทะเล โดยความเป็นมาของสะพานไม้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งครอบคลุม 5 พื้นที่คือ บานา ตันหยงลูโล๊ะ แหลมโพธิ์ บาราโหม และบางปู ที่เป็นพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี

หลังจากเดินตามทางสะพานไม้ที่ทอดยาว เพื่อมาลงเรือเที่ยวออกสู่ทะเล ซึ่งที่นี่จะมีกิจกรรมการล่องเรือชมอุโมงค์ต้นโกงกางที่เลื่องชื่อ ชมวิถีชาวประมงพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวอิสลาม สัมผัสกับความร่มรื่นของธรรมชาติและความมหัศจรรย์ของป่าชายเลนนี้ ทั้งกิจกรรมเก็บหอย ล่องชมวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านในพื้นที่มุ่งหน้าไปที่ลานโกงกาง ซึ่งเป็นลานไม้ไผ่สร้างเพื่อเป็นจุดชมวิวภายในอ่าวปัตตานี

ไม่นานนักก็มาถึงยังผืนป่าโกงกาง ที่มีลำต้นทอดยาวของทั้งสองฝั่งเข้าหากันเป็นซุ้มอุโมงค์สีเขียวขจี มองแล้วเพลิดเพลินสบายตา และหากว่าได้นั่งอยู่บนเรือที่ดับเครื่องยนต์ ลอยล่องอยู่บนลำน้ำที่เงียบสงบ ก็จะยิ่งทำให้เราได้ผ่อนคลายกายใจไปกับธรรมชาติอันแสนงามอีกด้วย

ร่มไม้ของผืนป่าโกงกาง ได้ให้ร่มเงาจากโค้งกิ่งก้านสาขา ไม้โกงกางที่โอบล้อมเข้าหากันด้วยอายุที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน กลายเป็นอุโมงค์ทอดยาวรถเลี้ยวเคี้ยวคด ยื่นสู่ท้องทะเลจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์จากธรรมชาติน่าชมเป็นอย่างยิ่ง

ความงามแห่งท้องทะเลอ่าวปัตตานี ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าโกงกางแห่งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์จากการป้องกันด้านการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นลมแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ ช่วยอนุบาลสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย จนเกิดเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สมบูรณ์ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เป็นอาหารสดรสชาติที่มีเอกลักษณ์จากอ่าวปัตตานี เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตปากท้องผู้คนในพื้นที่มานับตั้งแต่โบราณ

เมื่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนนี้ จะได้ชมและสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติและภูมิทัศน์ของอ่าวปัตตานี ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และแสงอาทิตย์ยามเย็นที่ค่อยๆ ลาขอบฟ้า

และที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต ชาวประมงพื้นบ้านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอีกด้วย สำหรับเมนูอาหารพื้นถิ่นบ้านบานา ที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจะได้ลองลิ้มชิมรส จึงเต็มไปด้วยความสดใหม่ของวัตถุดิบอาหารทะเลจากฝีมือชาวประมงพื้นบ้านที่ล่องเรือหาปลาแบบวันต่อวัน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ประมาณ 90% มีอาชีพประมงพื้นบ้าน นอกจากนั้นก็จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อถึงฤดูสัตว์วางไข่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้ ก็จะขับเรือรับจ้างเป็นอาชีพเสริม โดยร่วมมือกันภายในชุมชนนำเรือที่ว่างจากการทำงาน มาเป็นเรือรับจ้างขนส่งนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และชมความสวยงามของธรรมชาติแห่งท้องทะเล

ยังมีอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตชาวชุมชนปัตตานี นั่นก็คือการทำนาเกลือ ซึ่งการทำนาเกลือที่ปัตตานีนั้นมีมาตั้งแต่อดีตนับร้อยปี โดยได้เล่ากันต่อมาหลายช่วงอายุคนว่า เกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชน โดยสถานที่ที่เหมาะสมแก่การทำนาเกลือคือพื้นที่ราบริมทะเล มีน้ำทะเลสามารถขึ้นได้ในช่วงเดือนข้างขึ้นตลอดปี สำหรับในภาคใต้นั้นก็มีนาเกลือเพียงแห่งเดียว นั่นก็คือที่ปัตตานีนั่นเอง

ปัจจุบันพื้นที่นาเกลือบางส่วนเปลี่ยนสภาพเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และบางส่วนเป็นนากุ้ง มีผู้ทำนาเกลือเป็นอาชีพเหลืออยู่ประมาณ 500 คน ในพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ สามารถผลิตเกลือได้ประมาณ 7,000 ตันต่อปี ความโดดเด่นของเกลือปัตตานีคือรสชาติที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เกลือหวาน หรือเกลือที่ไม่ได้มีรสชาติเค็มจัด จะมีรสชาติออกเค็มกำลังดี

นอกจากนี้ทางชุมชนยังได้นำเกลือมาต่อยอด โดยนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาเกลือ มี 2 ชนิด ได้แก่ เกลือขมิ้นทอดปลา และเกลือขัดผิว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้เกลือจากชุมชนเป็นหลัก และยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการจำหน่ายเป็นเกลือเม็ด ซึ่งมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน ชาวบ้านสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน (สะพานไม้บานา) เลขที่ 16 หมู่ 2 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี โทร.09-0896-8090

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0