โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ท็อป 50 เศรษฐีไทย สะท้อนภาวะ "รวยกระจุก จนกระจาย"

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 27 ก.พ. 2562 เวลา 14.31 น.
D3EB05E1-FDD0-4E0F-B9A7-3E53749D1942

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส นำเสนอบทความจากการจัดอันดับเศรษฐี 50 รายแรกโดยฟอร์บส ดังนี้

1.ปี 2561 อันดับหนึ่ง “ครอบครัวเจียรวนนท์” มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์หรือ 939,600 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดินไทย และเปรียบเทียบเป็น 1 ใน 4 ของคนรวยอันดับหนึ่งในโลกคือ “เจฟ บีซอส” แห่งอเมซอน

โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 16 เท่าในขณะที่เศรษฐีไทยมีความรวยขนาด 1 ใน 4 ของคนรวยอันดับหนึ่งของโลกที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา จึงถือว่า “ไม่ธรรมดา”

2. ทรัพย์สินของครอบครัวทั่วประเทศตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 เป็นเงิน 36,540,927 ล้านบาท จาก 25,723,807 ครัวเรือน เฉลี่ย 1 ครัวเรือนมีทรัพย์สิน 1,420,510 บาท

แสดงว่าทรัพย์สินของตระกูลเจียรวนนท์เท่ากับทรัพย์สินของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยจำนวน 661,453 ครัวเรือน หรือมีสัดส่วน 3% ของครอบครัวไทยทั้งหมด

3.เศรษฐีไทย 50 อันดับแรกมีสินทรัพย์รวมกัน 5,092,319 ล้านบาท มากกว่างบประมาณแผ่นดินไทยปีละ 3 ล้านล้านบาทถึง 70% หรือเกือบเท่าตัว

ทรัพย์สิน 50 อภิมหาเศรษฐีนี้เพิ่มจาก 876,585 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน หรือรวยเพิ่มขึ้น 6 เท่า เฉลี่ยต่อปีรวยขึ้น 19%  เทียบกับรายได้ของประชากรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะกรุงเทพมหานคร ครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 17% หรือ 1.6% ต่อปี แสดงถึงภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างชัดเจน

4. ทรัพย์สินเศรษฐีไทย 50 รายแรก มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินของครัวเรือนไทยรวมกัน 3,584,852 ครัวเรือน หรือมีสัดส่วนรวมกัน 14% ของทรัพย์สินครัวเรือนไทยทั่วประเทศ จึงชี้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

5. ในรอบ 10 ปี (‪2551-2561‬) คนที่รวยเร็วที่สุดก็คือนายวิชัย ศรีวัฒนประภา (เจ้าของคิงเพาเวอร์ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 27 ตุลาคม 2561) โดยทรัพย์สินเพิ่มจาก 5,951 ล้านบาท เป็น 162,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27 เท่าตัว หรือมีความมั่งคั่งเพิ่มเฉลี่ยปีละ 39% โดยก่อนเสียชีวิตถือเป็นคนรวยอันดับที่ 5 ของประเทศไทย

6. สำหรับ 5 อันดับแรก ได้แก่ ครอบครัวเจียรวนนท์ จิราธิวัฒน์ อยู่วิทยา นายเจริญ สิริวัฒนภักดี และนายวิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นธุรกิจด้านอาหาร ศูนย์การค้า เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำเมา และร้านค้าปลอดภาษี

7. ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจสื่อสารมวลชน อันได้แก่ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ส่วนมากมีความมั่งคั่งลดลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยลดลง 3% ต่อปี หรือความมั่งคั่งลดลง 1 ใน 4 ในรอบ 10 ปี

8.ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้ต่อครัวเรือนทั่วประเทศคือเดือนละ 26,946 บาท หรือปีละ  323,357 บาท โดยที่ครัวเรือนหนึ่งมีทรัพย์สิน 1,420,510 บาท (ตามข้อ 2) แสดงว่ารายได้ต่อปีของครัวเรือนไทยมีสัดส่วนเป็น 23% ของทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่

กรณีเปรียบเทียบ เศรษฐีไทย 50 รายแรกที่มีทรัพย์สิน 5,092,319 ล้านบาท อาจสมมติให้รายได้มีสัดส่วน 10% ของทรัพย์สิน เพราะส่วนใหญ่อาจเป็นอสังหาริมทรัพย์หรืออื่นใดที่สะสมไว้นานแล้ว หรือเท่ากับควรมีรายได้ 509,232 ล้านบาท

หากต้องเสียภาษีเพียง 10% (หลังจากหักลดหย่อนแล้ว) ก็ควรจะเก็บภาษีจากเศรษฐีไทย 50 รายแรก อยู่ที่ 50,923 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในที่นี้ไม่มีตัวเลขการเสียภาษีจริง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเก็บได้มากเท่านี้

9.ทรัพย์สินเศรษฐีไทย 50 รายแรก จำนวน 5,092,319 ล้านบาท ถ้ามีการโอนเป็นมรดกให้ลูกหลานปีละ 5% หรือ 254,616 ล้านบาท ถ้าหากเสียภาษี 20% เท่ากับอัตราภาษีในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ใน 1 ปีรัฐจะได้ภาษีมรดกเข้าหลวง ทำให้เกิดความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำได้ถึง 50,923 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้นำไปสร้าง “สะพานเกียกกาย” ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ราคา 13,500 ล้านบาท) ได้เกือบ 4 สะพาน หรือสร้างสะพานถนนจันทน์-เจริญนคร (ราคา 4,000 ล้านบาท) ได้เกือบ 13 สะเพาน

10.บัญชีทำเนียบเศรษฐีไทย 50 รายแรก มี 22 รายไม่ได้มีรายชื่อติดทำเนียบเศรษฐีไทย 40 รายแรกเมื่อ 10 ปีก่อน แสดงว่าเพิ่งรวยขึ้นมาไม่นาน

ในทางตรงกันข้าม อภิมหาเศรษฐีเมื่อ 10 ปีก่อน ก็หายหน้าหายตาไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ดร.โสภณสรุปตอนท้ายว่า การเป็นเศรษฐีนั้นยาก การเป็นอภิมหาเศรษฐีนั้นยิ่งยากใหญ่ การจะรักษาความเป็นเศรษฐียิ่งยากขึ้นไปอีก

ยิ่งถ้าจะให้เป็นเศรษฐีที่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ ยิ่งยากอย่างเป็นที่สุด หากไม่ทำความดีอย่างยิ่งใหญ่สุดตัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0