โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทุ่งกุลา “ไม่ร้องไห้” ใครกล่าวไว้คนแรก?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 01 ธ.ค. 2566 เวลา 02.06 น. • เผยแพร่ 30 พ.ย. 2566 เวลา 01.00 น.
ภาพปก-ทุ่งกุลา
ข้าว ใน ทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งกุลา

นิยามคำว่า“ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้” มีมาตั้งเเต่เมื่อไหร่ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด แต่คนที่กล่าวคนเเรกสันนิษฐานว่าคือ พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) เมื่อครั้งที่ท่านมาดำรงตำเเหน่งเลขานุการมณฑลอีสาน (อุบล) เมื่อปี พ.ศ. 2453 ท่านได้เดินทางตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ ของอีสาน เเละได้เดินทางผ่านบริเวณ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ได้บันทึกไว้ว่า

“ขณะเขียนบันทึกนี้ ปรากฏว่ารัฐบาลได้ทำทางรถยนต์จากร้อยเอ็ดไปถึงเมืองสุรินทร์แล้ว แต่ระหว่างอำเภอสุวรรณภูมิถึงอำเภอท่าตูมยังไม่เรียบร้อยขาดตอนอยู่ แต่อย่างไรก็คงสำเร็จได้ แม้กระนั้นถนนนี้ก็ยังไม่เป็นเครื่องป้องกันทุ่งสุวรรณภูมิ มิให้เป็นทะเลได้อยู่เช่นเดิม จึงมีข่าวว่าทางการราชการกำลังพิจารณาที่จะทำคันกั้น และทำทางระบายน้ำ เพื่อให้ใช้ที่ดินทำประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ต่อไป

ซึ่งถ้าเป็นผลสำเร็จตามแผนการแล้ว ทุ่งกุลาร้องไห้ก็จะไม่ทำให้ทุ่งกุลาต้องร้องไห้อีกต่อไป แต่จะทำให้ชาวภาคอีสานปรีดาปราโมทย์ไชโยโห่ร้อง ด้วยหน้าตาอันเบิกบานตลอดกัน” (บันทึกความทรงจำเมื่อเป็นเลขานุการมณฑลอิสาน (อุบล) ของพระยาสุนทรพิพิธ เชย สุนทรพิพิธ)

ทุ่งกุลา นิยามของความแห้งแล้งกันดาร แผ่นดินแตกระแหง ผู้คนเผชิญกับความยากจนข้นแค้น ต่อมากรมพัฒนาที่ดินได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจและพัฒนาที่ดินในปี พ.ศ. 2524 – 2527 พร้อมทั้งสร้างถนน คลองส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำ ทำการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรได้ทำกินอย่างทั่วถึง สามารถพลิกฟื้นให้ชุ่มชื้นเขียวชอุ่ม และพบว่าดินทุ่งกุลามีคุณสมบัติเฉพาะ ที่ผลิตข้าวให้หอมเป็นพิเศษโดยไม่มีที่ไหนเหมือน

และในต้นปี พ.ศ. 2530 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้น) ได้น้อมนำกระแสพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาช่วยเหลือราษฎรภาคอีสานใน “โครงการอีสานเขียว” ทำให้ทุ่งกุลาได้รับการพัฒนาในครั้งนั้นด้วย

เมื่อทุ่งกุลาได้รับการพัฒนาจากภาครัฐ นิยามที่บอกว่าแห้งแล้งกันดารได้เปลี่ยนมาเป็น “ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้แล้ว” อีกครั้ง ในยุคมั่งคั่งข้าวหอม เพราะทุ่งกุลาเป็นแหล่งผลิตข้าวที่โลกรู้จักในนาม ‘ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ (Khao Hom Mali Thung Kula Rong Hai) ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นสินค้าออกที่สำคัญให้กับจังหวัดในเขตทุ่งกุลา คือ จังหวัดร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, สุรินทร์, ยโสธร, และศรีสะเกษ

ปัจจุบันนี้ ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้ (แล้ว) แต่เมื่อไหร่ที่ข้าวราคาถูก ชาวนา “อาจจะต้องร้องไห้” แทนกุลาก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

สุนทรพิพิธ, พระยา (เชย สุนทรพิพิธ).บันทึกความทรงจำเมื่อเป็นเลขานุการมณฑลอิสาน (อุบล). นครหลวง : โรงพิมพิ์ส่วนท้องถิ่น. 2515.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึง ยุคมั่งคั่งข้าวหอม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0