โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทุนญี่ปุ่นขู่ย้ายหนีไทยซบเวียดนาม

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 17.09 น. • เผยแพร่ 03 ก.ค. 2563 เวลา 00.15 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างการเสวนาเรื่อง “ความตกลงCPTPPประโยชน์ ผลกระทบและประสบการณ์จากประเทศภาคี” จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า หอการค้าญี่ปุ่นได้สอบถามถึงการที่ไทย จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสำหรับภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) อย่างต่อเนื่อง และแจ้งว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม เพราะจะเป็นข้อได้เปรียบที่ไทยจะดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นและทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ แต่หากไทยไม่เข้าซีพีทีพีพี อาจทำให้ญี่ปุ่นย้ายการลงทุนจากไทยไปเวียดนาม ที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว

“หอการค้าญี่ปุ่นได้แจ้งว่า จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเพราะมีหลายอย่างน่าสนใจ ซึ่งซีพีทีพีพีก็เป็นจุดบวก ที่ไทยควรเข้าเจรจา เพราะจะทำให้ทั่วโลกรวมทั้งญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย แต่หากไทยไม่เข้าร่วม มีโอกาสที่การลงทุนจากญี่ปุ่นจะย้ายไปเวียดนามแทน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคเอกชนต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลถึงจุดยืนของการเข้าร่วมซีพีทีพีพี เพราะขณะนี้เป็นการเตะไปเตะมาจะเอาหรือไม่เอายังไม่ชัดเจน มองว่าการจะสมัครเข้าร่วมหรือไม่ ควรตัดสินใจให้เร็ว ส่วนกรณีที่ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วมซีพีทีพีพี สภาผู้แทนราษฎรจะขอรัฐสภายืดเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ทำให้ไทยอาจสมัครเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพีไม่ทันการประชุมของรัฐมนตรีซีพีทีพีพีในเดือน ส.ค.นี้ และต้องรอสมัครใหม่ปี 64 นั้น มองว่า ถ้าปีนี้ไทยสมัครไม่ทัน และไปสมัครปีหน้า ก็อาจทำให้การเจรจายากขึ้น เพราะไทยไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง จากเดิมเจรจา 7 ประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว จากทั้งหมด 11 ประเทศ แต่ปีหน้าอาจเจรจาเพิ่มอีก 4 ประเทศ ที่กำลังจะลงสัตยาบัน ซึ่งยืนยันว่ากระบวนการเจรจาซีพีทีพีพีใช้เวลา 4 ปี ไม่ใช่สมัครแล้วเข้าได้เลย ดังนั้น จึงมีเวลาในการเจรจาและปรับตัว แต่หากเข้าไปเจรจาแล้ว และสุดท้ายเห็นว่าไทยเสียเปรียบหรือปรับตัวไม่ได้ ก็สามารถถอนตัวได้ ดังนั้น การสมัครเข้าร่วม เพื่อให้เจรจาก่อน จะทำให้ไทยรู้ข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ กกร.กำลังตั้งทีมศึกษาผลดี-ผลเสีย เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ก่อนจะเสนอเป็นอีกหนึ่งโมเดลให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งจะไม่มีความซ้ำซ้อนกับทุกผลการศึกษาที่ออกมาก่อนหน้านี้เพราะจะเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

ส่วนนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯได้มีมติจะเสนอสภาฯยืดเวลาพิจารณาออกไป 60 วัน ส่วนปีนี้จะสมัครเจรจาซีพีทีพีพีทันหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นสภาฯที่จะเสนอรัฐบาล โดยประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งที่ต้องหารือ ได้เสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะมีการตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลซึ่งจะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0