โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทุกคำตอบของ ‘เสือ’ ในวัดเสือ : เกิดอะไรขึ้นกับเสือที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ

The MATTER

อัพเดต 17 ก.ย 2562 เวลา 16.20 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 11.50 น. • Thinkers

เสือของกลางนับร้อยจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน เป็นประเด็นกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของวงการอนุรักษ์ในประเทศไทยมานานหลายปีจนอาจเริ่มเลือนไปจากความทรงจำ จนกระทั่งข่าวความตายของเสือของกลางจำนวนมากจุดความสนใจของสาธารณชนขึ้นมาอีกครั้ง

เสือมาจากไหน?

เสือโคร่งทั้ง 147 ตัวที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการขนย้ายออกจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี นั้น ไม่ปรากฏที่มาชัดเจน แต่จากการตรวจสอบพันธุกรรมพบว่า มากกว่า 90% เป็นเสือโคร่งไซบีเรีย ซึ่งเป็นชนิดย่อยของเสือโคร่งที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุด รวมทั้งมีขนที่หนาเพื่อป้องกันความหนาวตามที่อยู่ในธรรมชาติของมันในตอนใต้ของรัสเซียและจีนตะวันออก

ซึ่งบรรดาเสือโคร่งทั้งหมดในโลกนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดย่อยด้วยกัน โดยที่เสือโคร่งที่พบตามธรรมชาติของประเทศไทยนั้นเป็นเสือโคร่งอินโดจีน (Indochinese tiger, Panthera tigris tigris) มากกว่า โดยในวัดแห่งนี้ นอกจากเสือโคร่งไซบีเรียแล้ว ยังพบว่ามีเสือโคร่งชนิดย่อยมลายู อินโดจีน และลูกผสมข้ามชนิดปะปนอยู่ในจำนวนนี้ด้วย

สุขภาพของเสือเป็นอย่างไร?

เนื่องจากเสือส่วนมากเป็นชนิดย่อยไซบีเรีย เมื่อต้องอยู่ในอากาศที่ร้อนและชื้นของประเทศไทย รวมทั้งมีพันธุกรรมและภูมิต้านทานที่อ่อนแอจากการผสมกันเองจนเลือดชิด จึงทำให้มีความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้า (stimuli) และความเครียด

เมื่อถูกเคลื่อนย้ายอย่างเร่งด่วนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึง ต้นมิถุนายน ปี พ.ศ. 2559 เสือจำนวนมากจึงแสดงภาวะเครียดออกมาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อตรวจเช็คสุขภาพและสืบประวัติการรักษา ซึ่งพบว่าทางวัดมีการให้วัคซีนรวมของแมวด้วย[1]

ในระหว่างนี้ พบว่าเสือบางส่วนมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หายใจเสียงดังและหอบ เป็นอัมพาตที่ลิ้นกล่องเสียงและลิ้นกล่องเสียงบวมจึงไม่สามารถขยับเปิดปิดระหว่างหลอดลมและหลอดอาหารได้สนิท เมื่อมีอาการมากขึ้นจะไม่กินอาหาร ชักเกร็ง และตายในที่สุด โดยปัจจัยของอุณหภูมิที่สูงมีผลต่ออาการเหล่านี้ด้วย [2]

และจากการตรวจตัวอย่างเสือโคร่งที่ตาย พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข (Canine Distemper Virus, หรือ CDV) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อันตรายถึงตาย และรักษาไม่หาย

ไข้หัดสุนัขคืออะไร?

โรคไข้หัดสุนัขเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Canine Distemper Virus หรือ CDV โดยสามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วย (body fluids) และผ่านการหายใจ (airborne) ซึ่งไข้หัดสุนัขนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงสำหรับสุนัขและสัตว์ป่าหลายชนิด (และไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาอย่างที่จะติดกันได้ในหน้าฝนอย่างที่หลายคนเข้าใจ)

หลังจากติดเชื้อแล้ว ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารจะถูกทำลาย โดยในปัจจุบัน ยังเป็นโรคที่ไม่มียารักษาได้เป็นการเฉพาะ ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งทางสัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยากระตุ้นภูมิ และดำเนินการผ่าตัดลิ้นกล่องเสียง ฯลฯ ตามความเหมาะสมของอาการ โดยทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้รับการสนับสนุนจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล, และสัตวแพทย์จากซาฟารีเวิล์ด ในการแก้ไขปัญหาระบบทางเดินหายใจและอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดูแลเสือโคร่งที่ยังเหลืออยู่

จากข้อมูลของสัตวแพทย์ได้บอกว่า แนวทางการรักษาโรคไข้หัดสุนัขในเสือโคร่งยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่เป็นยอมรับกันว่า เมื่อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคในเสือโคร่ง อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าในสุนัขซึ่งเป็นพาหะตามธรรมชาติ และถ้าหากพบการติดเชื้อในประชากรเสือโคร่งที่อยู่กันเป็นเอกเทศ เช่น ในอินเดีย อาจถึงขั้นทำให้ประชากรสูญพันธุ์ได้

การดูแลของกรมอุทยานฯ เป็นอย่างไร

ภาพแสดงแผนผังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 325 ไร่, ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

ทางกรมอุทยานฯ ได้มีการจัดโซนนิ่งเสือป่วยคัดแยกตามระดับอาการ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามรักษา มีการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัขโดยได้รับการสนับสนุนในการคัดกรองโรคจากศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

นอกจากนี้ ยังมีการดูแลรักษาเสือโคร่งที่ป่วยตามอาการ โดยอาจพิจารณาผ่าตัดเป็นกรณีไป และมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของเสือให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพิ่มพื้นที่และส่งเสริมพฤติกรรมเพื่อลดความเครียด เช่น มีการสเปรย์น้ำเพิ่มเติมในวันที่อากาศร้อน และมีการติดตามดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

เสือในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างกำลังพักผ่อน และที่เดินมาทักทายเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล, ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

เสือในวัดมาจากไหน?

บริษัท ไทเกอร์ เทมเพิล จำกัด ยื่นขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสวนสัตว์สาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากติดภาระผูกพันเรื่องที่ดิน อันเป็นสถานที่เดียวกันกับมูลนิธิวัดป่าฯ และครั้งที่สองในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้รับอนุญาตภายใต้เงื่อนไข 11 ข้อ [4] 

ต่อมา บริษัทได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โกลเด้น ไทเกอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และได้ทำการจัดหาสัตว์ป่าโดยขอรับโอนเสือโคร่ง 20 ตัวจากสวนสัตว์สาธารณะมะลิ-สาริกา จังหวัดนครนายก ที่เลิกดำเนินกิจการ แต่ปรากฏว่า เนื่องจากทางสวนสัตว์สาธารณะมะลิ-สาริกาต้องเร่งใช้ที่ดิน ประกอบกับ บริษัท โกลเด้น ไทเกอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน การรับโอนนี้จึงถูกยกเลิก และทางสวนสัตว์สาธารณะมะลิ-สาริกาได้ตกลงมอบเสือทั้ง 20 ตัวนั้นให้กับกรมอุทยานฯ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา 'หลวงตาจันทร์” เจ้าอาวาส (ผู้ไม่เคยหนีคดี แต่เจ้าหน้าที่หาตัวไม่พบเอง) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำโครงการ Tiger Temple ไว้โดยซื้อที่ดินเพิ่มเติมจำนวน 2 พันไร่ โดยจะปรับเป็นสวนสัตว์ลักษณะเปิดเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และมีรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ

แต่ในวันนี้ สภาพของ 'วัดเสือ' ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตกลับวังเวง ภายในวัดยังคงมีสัตว์หลงเหลืออีกหลายชนิด รวมทั้งสิงโต 1 ตัว  ชวนให้สงสัยว่า หากทางวัดมีศักยภาพมากพอจะขยายกิจการเพิ่มเติม เหตุใดจึงไม่ดูแลสัตว์ที่มีอยู่ให้ดีเสียก่อน และเหตุใดจึงต้องมุ่งความสนใจไปที่เสือโคร่งมากเป็นพิเศษ

สุดท้ายแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับมาที่คำถามว่า ทำไมวัดต้องมีเสือ หรือการเลี้ยงสัตว์อื่นใด? นี่ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

สิงโตที่ยังเหลืออยู่ในวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน, ภาพโดย ทอม โพธิสิทธิ์

ให้เสืออยู่ที่วัดดีกว่าจริงหรือ?

ความตายของเสือจำนวนมากนำพามาซึ่งความสงสัย แต่ถ้าหากเราลองเทียบดูแล้ว พบบันทึกว่าเสือเริ่มทยอยตายครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ก่อนการบุกยึดชุดใหญ่โดยเจ้าหน้าที่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึง ต้นมิถุนายน ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเส้นเวลา หรือ timeline นี้ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการไขว่าเสือโคร่งชุดนี้เริ่มติดไวรัสมาจากที่ใด

และในความเป็นของกลางที่คดียังไม่สิ้นสุด เสือภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ ที่ตายต้องผ่านขั้นตอนการทำเอกสารไว้เป็นหลักฐาน และถูกดองฟอร์มาลดีไฮด์เก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ตรวจสอบได้ ต่างจากของทางวัดที่ไม่มีให้ตรวจสอบการตายของเสือ ซึ่งนัยยะของการไม่มีหลักฐาน ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าไม่เคยมี (Absence of evidence is not an evidence of absence.)

และในการบุกยึดของเจ้าหน้าที่ ยังพบซากเสือ ซากสัตว์ป่า รวมทั้งขวดโหลที่ดองลูกเสือและอวัยวะเสือจำนวนมาก ซึ่งทางวัดได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ทั้งที่เมื่อได้รับแจ้งเหตุในปี พ.ศ. 2544 นั้น ในวัดยังมีเสือเพียง 7 ตัวเท่านั้น

แม้เรื่องซากเสือในวัดยังไม่กระจ่าง แต่จากข้อมูลว่าเสือโคร่งเหล่านี้ไม่ใช่เสือชนิดท้องถิ่น มีพันธุกรรมที่อ่อนแอ และไม่มีสัญญาณชาตเอาตัวรอดแบบสัตว์ป่า อีกทั้งยังป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรงถึงตายที่สามารถแพร่สู่สัตว์ป่าท้องถิ่นได้ จึงไม่มีคุณค่าในเชิงอนุรักษ์แบบนอกถิ่นที่อยู่อาศัย (ex situ conservation) เนื่องจากไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างบูรณาการ

ส่วนการส่งคืนประเทศต้นทางนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการส่งมอบสัตว์และพืชในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส (CITES) นั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศต้นทางเป็นผู้แจ้งขอคืน หรือเป็นทางการของไทยแจ้งให้ประเทศต้นทางมารับเมื่อคดีสิ้นสุด ซึ่งถ้าหากประเทศต้นทางไม่รับคืน หรือไม่รู้ท่ีมาชัดเจน ก็ไม่อาจกระทำได้

ภาพการปฏิบัติงานของคณะเจ้าหน้าที่ในการตรวจซากสัตว์ป่าภายในวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน, ภาพโดย กรมอุทยานฯ

กรมอุทยานฯ ควรทำอะไร?

หากจะบอกว่า ในเรื่องนี้กรมอุทยานฯ พลาดเรื่องใดมากที่สุด ก็คงต้องบอกว่า น่าจะเป็นเรื่องการขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ดีกับสื่อมวลชนและสาธารณชน เก่ียวกับรายละเอียดต่างๆ ของเสือโคร่งเหล่านี้และคดีความกับทางวัด และไม่เปิดเผยหรือยอมรับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ที่เสนอตัวเข้ามา เมื่อคนไม่รู้ก็ย่อมคาดการณ์ไปในทางร้ายก่อนเป็นธรรมดา

การที่โรคไข้หัดสุนัขในเสือโคร่งมีอัตราการตายสูงถึง 88% (ซึ่งโรคไข้เลือดออกอีโบลาในมนุษย์ยังมีอัตราการตายที่ 50% เท่านั้น) ทำให้การดูแลเสือโคร่งเหล่านี้แทบจะได้เรียกได้ว่าเป็นการดูแลแบบประคับประคอง หรือ palliative care โดยที่ไม่ว่าจะเป็นใครรับไปเลี้ยงก็จะมีอัตราการตายสูงไม่ต่างกัน

และอีกประการคือ ทางกรมอุทยานฯ ไม่มีทิศทางดำเนินคดีต่อวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโนที่แน่ชัด แม้จะทำการยึดเสือโคร่งมาแล้วก็ตาม เป็นที่ค้านสายตาองค์กรอนุรักษ์ทั้งในและนอกประเทศมากมาย

ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตข้างหน้าหน่วยงานราชการบ้านเราจะเปิดเผยต่อสาธารณชนมากกว่านี้ เพราะไม่ว่าจะดีหรือร้าย เราก็ยังต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์​นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เขาประทับช้าง, 24 สิงหาคม 2562

[2] เอกสารของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีสาเหตุการตายของเสือโคร่ง ที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จังหวัดกาญจนบุรี, 16 กันยายน 2562

[3] www.nationalgeographic.com

[4] Slide การแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดิน ภายในวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 3-4 มีนาคม 2561

[5] www.matichon.co.th

[6] www.facebook.com

[7] news.thaipbs.or.th

[8] morning-news.bectero.com

[9] news.thaipbs.or.th

[10] news.thaipbs.or.th

[11] www.afro.who.int

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0