โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ที่มาของ "สี" รถยนต์พระที่นั่ง และเลขทะเบียน "ร.ย.ล." มาจากไหน?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 08 ม.ค. เวลา 02.27 น. • เผยแพร่ 06 ม.ค. เวลา 04.41 น.
ภาพปก - รถยนต์พระที่นั่ง

เคยสังเกตหรือไม่ว่า ขบวนเสด็จฯ ทางรถยนต์ ทำไมรถยนต์ตามเสด็จฯ ถึงใช้สีแดง? ทำไม รถยนต์พระที่นั่ง ถึงใช้สีเหลืองอ่อนหรือสีงาช้าง? และทำไม รถยนต์พระที่นั่ง ถึงมีเลขทะเบียน “ร.ย.ล.”?

ประเด็นเหล่านี้จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “สี” รถยนต์ใน ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และเลขทะเบียน “ร.ย.ล.” มาจากไหน? ใครเป็นผู้ต้นคิด?

รถยนต์ เป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีขึ้นราวศตวรรษที่ 19 ก่อนจะถูกนำเข้ามาในประเทศสยามราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มนิยมใช้ในหมู่เจ้านายและชนชั้นสูง ก่อนจะแพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าการเข้ามาของรถยนต์ได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาบนท้องถนน เนื่องจากความไร้ระเบียบวินัยและความคับคั่งของรถยนต์บนถนน ดังนั้น จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติรถยนต์รัตนโกสินทร์ ศก 128

เทียนโชติ จงพีร์เพียร อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ข้อมูลในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554 ว่า พระราชบัญญัติรถยนต์รัตนโกสินทร์ ศก 128 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์ฉบับแรกของประเทศ เพื่อควบคุมเจ้าของพาหนะ ยานพาหนะ การจดทะเบียน และการออกใบอนุญาต ฯลฯ และที่สำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือจุดเริ่มต้นของการมีเลขทะเบียนรถเป็นครั้งแรก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หน่วยงานที่ดูแลการเสด็จพระราชดำเนินทางรถยนต์คือ “กรมพระอัศวราช” ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาดเล็ก มีหน้าที่รับผิดชอบคลอบคลุมทั้งเรื่องม้าต้น รถม้าพระที่นั่ง ม้าพระประเทียบ เรือยนต์พระที่นั่ง เรือกลไฟ และ รถยนต์พระที่นั่ง

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาประสิทธิศุภาการ หรือ หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ (ภายหลังคือเจ้าพระยารามราฆพ) เป็นผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2462 หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ได้เข้ามาบริหารจัดการกิจการมหาดเล็กหลายประการ ที่สำคัญคือในกิจการเกี่ยวกับ รถยนต์พระที่นั่ง ที่หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ได้ริเริ่มให้จัดสีรถยนต์ตามประเภท และให้ใช้เลขทะเบียน “ร.ย.ล.” เป็นครั้งแรก ดังปรากฏตามความว่า

“รถยนต์หลวงท่านจัดให้มีสีต่าง ๆ กันตามประเภท รถยนต์พระที่นั่ง ใช้สีเหลืองอ่อนหรือสีงาช้าง รถขบวนตามเสด็จใช้สีแดง รถพระประเทียบใช้สีเหลืองแก่ รถยนต์หลวงในสมัยนั้นไม่ต้องใช้เลขหมาย จึงเกิดการปลอมแปลงให้เหมือนรถยนต์หลวงกันบ้าง ท่านจึงให้รถยนต์หลวงใช้เครื่องหมาย ร.ย.ล. ๑ (และเลขต่อ ๆ ไป) สีและเลขหมายนี้ยังคงใช้อยู่ในบัดนี้” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก กองเรือใหญ่ เจ้าพระยารามราฆพ ร.ว., ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510)

“ท่าน” ในข้อความข้างต้น หมายถึง เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ดังนั้น จึงได้เกิดแบบแผนเกี่ยวกับเรื่องสีและเลขทะเบียนรถยนต์ใน ขบวนเสด็จฯ มานับแต่นั้น สำหรับ รถยนต์พระที่นั่ง จะใช้สีเหลืองอ่อนหรือสีงาช้าง รถยนต์ตามเสด็จฯ จะใช้สีแดง และรถยนต์พระประเทียบ (รถยนต์สำหรับพระสังฆราช ผู้แทนพระองค์ หรือทูตที่จะเข้าถวายพระราชสาส์นหรืออักษรสาส์นตราตั้ง) จะใช้สีเหลืองแก่

ในประเด็นเรื่องสีนี้ วรชาติ มีชูบท ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ 6 เคยได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์พันทิปว่า “การที่กำหนดสีรถยนต์พระที่นั่งเป็นสีเหลืองนวลนั้น น่าจะสืบเนื่องมาจากสีรถม้าพระที่นั่ง ที่เป็นสีเหลืองนวลมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งน่าจะมีที่มาจากสีทองของราชรถในสมัยโบราณ ส่วนสีแดงสำหรับรถขบวนนั้น น่าจะมีที่มาจากสีบานเย็นซึ่งเป็นสีประจำกระทรวงวัง เพื่อให้ทราบชัดว่าเป็นรถหลวง

ส่วนรถพระประเทียบที่เป็นสีเหลืองอ๋อยนั้นคงให้รับกับจีวรพระ เพราะนอกจากเป็นพาหนะประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราชแล้ว เวลาเชิญพระไชยวัฒน์ประจำรัชกาลต่าง ๆ ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลภายนอกพระบรมมหาราชวัง ก็จะเชิญพระไชยวัฒน์ไปโดยรถยนต์พระประเทียบนี้”

ดังนั้น รถยนต์ใน ขบวนเสด็จฯ ในปัจจุบันจึงมีแบบแผนปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะเรื่อง “สี” และ “เลขทะเบียน” ที่หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ เป็นผู้ต้นคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ธันวาคม 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ที่มาของ “สี” รถยนต์พระที่นั่ง และเลขทะเบียน “ร.ย.ล.” มาจากไหน?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0