โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ที่มาของพระราชดำรัส รัชกาลที่ 7 แก่ชาวจีน "ข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 20 มี.ค. 2566 เวลา 12.15 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2566 เวลา 18.28 น.
ภาพปก - รัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมีความเป็นมายาวนาน สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีส่วนสำคัญต่อสถานะของความสัมพันธ์นับตั้งแต่สมัยโบราณ มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งหากกล่าวถึงในสมัยราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์มีความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกับจีนอย่างมาก ลักษณะเช่นนี้ยังสะท้อนผ่านพระราชดำรัส รัชกาลที่ 7 ที่มีแก่ชาวจีนว่า “แม้ตัวข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่ด้วย”

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ เมื่อพ.ศ. 2325 ทรงมีพระราชดำริให้ข้ามมาสร้างพระนครใหม่ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก แต่บริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนจำนวนหนึ่ง จึงโปรดให้ย้ายไปอยู่ที่สวนบริเวณวัดสามปลื้ม ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง ซึ่งมีข้อความระบุถึงวัดชื่อ “สามเพ็ง” ในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า

“ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง…”

ตามความเห็นของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์แล้ว ชุมชนชาวจีนบริเวณสำเพ็งมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการค้าและท่าเรือที่สำคัญ เมื่อเวลาผ่านไป ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็เข้าไปตั้งหลักแหล่งในสำเพ็งเป็นที่แล้ว ละแวกนี้ก็ขยายตัวเติบโตขึ้นตามลำดับ ชุมชนชาวจีนขยายตัวออกมายังพื้นที่ข้างเคียงตามแนวคลองผดุงกรุงเกษม

และในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่มีกรมโยธาธิการขึ้นแล้วเพื่อปรับปรุงถนนในกรุงเทพฯ และได้สร้างถนนหลักนั่นคือถนนเยาวราช บริเวณใกล้เคียงกับสำเพ็งขึ้น และยังมีถนนเส้นอื่นอีกหลายเส้น

การสร้างถนนเยาวราชใช้เวลาราว 10 ปีเลยทีเดียว สืบเนื่องจากที่ดินบริเวณนี้มีบ้านของคนมีฐานะอยู่ร่วมกับคนที่มีฐานะยากจนอาศัยกันหนาแน่น หลังจากประสบปัญหาล่าช้ากันมา ในที่สุดการสร้างถนนเยาวราชก็เสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. 2443 การสร้างถนนเยาวราชนี้ทำให้ที่ดินใกล้เคียงพลอยพัฒนาเติบโตตามไปด้วย

แม้ว่าในรัชสมัยต่อมา ในรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยกับท่าทีของจีนสยาม อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีการปฏิวัติระบอบการปกครอง) ขณะที่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจีนในสยามไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจด้วย อาทิ คนจีนนัดหยุดงานที่ภูเก็ต สมาคมอั้งยี่ มาจนถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ดร. ซุนยัตเซ็น ภายหลังจึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง“ยิวแห่งบูรพาทิศ” โดยทรงใช้นามปากกา “อัศวพาหุ” แต่พระองค์มิได้ทรงแสดงอาการรังเกียจคนจีนในเวลานั้น

มาในสมัย รัชกาลที่ 7 สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนจีน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจีน ใจความตอนหนึ่งว่า

“อันที่จริงไทยกับจีนนั้นต้องถือว่าเป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้ นอกจากนี้เลือดไทยกับจีนได้ผะสมกันเปนอันหนึ่งอันเดียว จนต้องนับว่าแยกไม่ออก ข้าราชการชั้นสูงๆ ที่เคยรับราชการหรือรับราชการอยู่ในเวลานี้ ที่เปนเชื้อจีนก็มีอยู่เปนอันมาก แม้ตัวข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่ด้วย โดยเหตุเหล่านี้ไทยและจีนจึงได้อยู่ด้วยกันได้อย่างสนิทสนมกลมเกลี่ยวมาช้านาน

ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์อะไรยิ่งไปกว่าที่จะขอให้มีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนให้เปนไปโดยสนิทสนมเหมือนอย่างที่แล้วมานี้ให้คงอยู่เช่นนี้ตลอดไป ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านทั้งหลายจะมีความเห็นพ้องกับข้าพเจ้า และจะตั้งใจสั่งสอนบุตรหลานให้มีความรู้สึกเช่นนั้น ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีน ข้าพเจ้ายังหวังว่าท่านจะสอนให้รักเมืองไทยด้วย เพราะท่านทั้งหลายได้มาตั้งคหสถานอาศัยอยู่ประเทศสยาม ได้รับความคุ้มครองร่มเย็นเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสยาม มีสิทธิทุกอย่างเหมือนคนไทย ได้รับความสุขสบายมั่งคั่งสมบูรณ์ในประเทศสยาม

เพราะฉะนั้นความมั่นคงของรัฐบาลสยามและประเทศสยามย่อมเปนสิ่งที่ท่านพึงประสงค์…”

สำหรับพระราชดำรัสว่า “แม้ตัวข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่ด้วย” ผศ. แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย อธิบายเพิ่มเติมไว้ในแผนผัง “ราชตระกูล” ดังภาพนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. วิถีจีน-ไทยในสังคมสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550

สุภางค์ จันทวานิช. สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนจีนในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0