โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทีโอที เชื่อ โครงการสายสื่อสารลงดิน กทม. ไม่ปกติ

Manager Online

อัพเดต 24 มิ.ย. 2562 เวลา 14.22 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 14.22 น. • MGR Online

กจญ.ทีโอที ชี้ชัด โครงการนำสายสื่อสารลงดินของกทม.มีกลิ่น เหตุใดต้องลงทุนซ้ำซ้อน ทั้งๆที่ทีโอทีมีท่อร้อยสายทั่วกทม.รองรับอยู่แล้ว ย้ำ กทม.ไม่มีสิทธิบังคับใครใช้ท่อที่บริหารโดยทรูอย่างเดียว ยังมีทางเลือกใช้ของทีโอที ซึ่งสามารถดั้มป์ราคาแข่งกับทรูได้สบาย

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีโครงการนำสายสื่อสารลงดิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ2,450กิโลเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ม.ค.2562ที่มอบหมายให้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการ ว่า มติครม.สั่งการให้กทม.ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร แต่ไม่ได้ระบุว่า กทม. ต้องใช้รูปแบบการทำโครงการด้วยการจ้างบริษัทก่อสร้าง ได้แก่ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี,กิจการร่วมค้า เอสซีแอล,เอสทีซี และฟอสส์ ,กิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี รวมถึงการหาบริษัทมาบริหารจัดการท่อร้อยสาย ซึ่ง บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ยื่นซองรายเดียวและชนะการประมูลด้วยมูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี ในการนำไปให้บริการต่อกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาเช่าใช้ ดังนั้นจึงมองว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง และเป็นการลงทุนซ้ำซ้อน

'กทม.ไม่จำเป็นต้องดำเนินการรูปแบบนี้ เพราะทีโอที เองก็มีท่อร้อยสายอยู่ทั่วพื้นที่กทม.อยู่แล้ว เรามีตั้ง 2,500 กิโลเมตร เหตุใดจึงต้องทำให้ประเทศเกิดการลงทุนซ้ำซ้อนเข้าไปอีก และ ทีโอที เอง ก็ยังงงอยู่ว่ามีการเปิดให้ผู้ให้บริการยื่นซองเพื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการต่อด้วยหรือ ไม่เคยทราบข่าวก่อน มารู้อีกที ทรูก็ได้สิทธิ์บริหารจัดการไปเรียบร้อยแล้ว'

ถามว่า ในมุมของทีโอที เสียผลประโยชน์ หรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ เพราะกทม.ไม่ได้ระบุ หรือมี กฎหมายตัวไหนบังคับให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องใช้ท่อร้อยสายที่บริหารโดยทรูเท่านั้น ดังนั้นผู้ให้บริการยังมีตัวเลือกให้ใช้ของทีโอทีซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว และทีโอทีก็พร้อมจะลดราคาลงได้

นายมนต์ชัย กล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามที่เป็นข่าวว่าสมาคมจะฟ้อง กทม.นั้น อาจจะเป็นความเห็นของสมาชิกสมาคมซึ่งในวันที่ 27 มิ.ย. นี้ จะมีการประชุมประจำเดือนอยู่แล้ว คงต้องหารือกันอีกที ว่าถ้าจะฟ้อง ต้องมีคนเสียผลประโยชน์ และเสียด้านไหน ซึ่งที่จริงแล้วการนำสายโทรคมนาคมลงดินเป็นเรื่องที่ดีและเอกชนก็ต้องนำลงอยู่แล้ว แต่ทีโอทีต่างหากที่อาจจะเสียผลประโยชน์หากกทม.บังคับให้ใช้บริการของทรูซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่มีอะไรมาบังคับได้

อย่างไรก็ตาม ทีโอที อาจถูกตั้งคำถามว่า ที่กทม.ไม่ใช้ของทีโอที เพราะราคาแพง เรื่องนี้ตนมองว่าไม่ใช่ประเด็นเพราะโครงการที่ทีโอทีทำกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 127 กิโลเมตร ทีโอทีก็ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำหนดราคาให้เดือนละ9,600บาทต่อคอร์กิโลเมตรอยู่แล้ว ซึ่งทีโอทีทำได้ และสามารถคิดราคาถูกกว่านี้ได้อีก ส่วนประเด็นที่ว่าทีโอทีทำงานล่าช้านั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ กทม.ว่าจะอนุญาตให้เปิดทางเท้าเพื่อทำท่อร้อยสายเร็วแค่ไหนต่างหาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทีโอทีแต่อย่างใด

***ทรู ชี้แจงกรณีโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. ยังไม่มีข้อสรุปและยังไม่มีการลงนามในสัญญาใดๆ

กลุ่มทรูชี้แจงว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็น 1 ใน 16 บริษัทเอกชนที่ได้รับจดหมายเชิญชวนจาก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อให้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเป็นผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้มายื่นเอกสารข้อเสนอดังกล่าว และผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เบื้องต้น และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ โดยยังไม่มีการสรุปและไม่มีการลงนามในสัญญาสัมปทานดังกล่าวแต่อย่างใด ตามที่มีรายงานข่าว

ทั้งนี้ การที่บริษัทในกลุ่มทรู เข้ายื่นเอกสารตามประกาศเชิญชวนนั้น เนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นว่า โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และจะเป็นโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานคร ก้าวเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์แบบตามที่ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายไว้ และมั่นใจว่าจะมีบริษัทเอกชนรายอื่นๆ มายื่นข้อเสนอด้วยเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0