โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทีโอทีเปิดศึกสายสื่อสารลงดิน

Manager Online

เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 01.02 น. • MGR Online

ไขความจริง 2 ด้านโครงการสายสื่อสารลงดินของกรุงเทพมหานคร(กทม.) หลังดำเนินการอย่างรัดกุม จนได้บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เหมาซื้อสิทธิ์ในการบริหารจัดการค่าเช่าท่อร้อยสาย ซึ่งเป็นผู้ยื่นซองรายเดียวจากเอกชนที่รับซองไปกว่า 10 รายและชนะการประมูลด้วยมูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฉงนกับโมเดลการทำโครงการของกทม.แต่ยังยิ้มได้ หากไม่บังคับให้ทุกค่ายสื่อสารต้องใช้ เพราะทีโอทีพร้อมสู้ทุกรูปแบบ

ด้านลูกค้าท่อร้อยสาย ซึ่งเป็นเหล่าโอเปอเรเตอร์ทั้งหลาย ย่อมไม่ขัดข้อง เพราะหากไม่มีการใช้อำนาจรัฐบังคับให้ใช้รายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ด้วยกลไกการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมย่อมได้ราคาค่าบริการที่เหมาะสม แม้ว่าเบื้องหลังโครงการนี้มีหลายแง่มุมที่ชวนขบคิดได้อีกมากก็ตาม

โครงการปรับทัศนียภาพของประเทศด้วยการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายหรือลงใต้ดินนั้น กรุงเทพมหานครหรือกทม.ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนม.ค. 2562 ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารไม่ให้รกรุงรังด้วยการนำลงท่อใต้ดินให้หมดทั้ง 2,450 กิโลเมตรในกทม. ถูกหลายฝ่ายกล่าวถึงเพราะไม่เข้าใจโมเดลการบริหารจัดการของกทม.ที่มอบหมายให้วิสาหกิจอย่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการ

***เปิดโมเดลรัฐไม่ใช้เงินสักบาท

ย้อนไปเมื่อเดือนเม.ย.2562 หลังจากกทม.ได้รับมติครม.เพื่อดำเนินโครงการ กทม.ได้มาหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงในโครงการ ซึ่งต่อมาปรากฏว่ารูปแบบการบริหารจัดการของกรุงเทพธนาคม ไม่ใช่การใช้บริการของทีโอที ซึ่งมีท่อร้อยสายทั่วพื้นที่ กทม. อยู่แล้ว แต่กรุงเทพธนาคมใช้รูปแบบบริหารจัดการแบบไม่ใช้งบประมาณรัฐ ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารงาน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การเปิดประมูลบริษัทผู้รับเหมาในการขุดท่อและวางสาย Micro duct ซึ่งได้บริษัทผู้ทำโครงการ 3ราย คือ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี,กิจการร่วมค้า เอสซีแอล,เอสทีซี และฟอสส์และกิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี

ส่วนที่สองคือ เปิดให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) เข้ามาเสนอราคาเหมาซื้อสิทธิ์ในการบริหารจัดการค่าเช่าท่อร้อยสาย ซึ่งบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัดเป็นผู้ยื่นซองรายเดียวและชนะการประมูลด้วยมูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี

จากนั้น กรุงเทพธนาคมจะนำเงินที่ได้จากทรูมาจ่ายให้กับผู้รับเหมา 3 ราย โดยทรูจะสามารถใช้พื้นที่ในท่อ 80% ในการนำสายของตนเองลงและเปิดให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นมาเช่าใช้ด้วย โดยต้องมีส่วนแบ่งรายได้ให้กับ กรุงเทพธนาคม ด้วย ส่วนอีก 20% ที่เหลือ กทม.ก็ได้ประโยชน์ในการนำสายของตนเอง เช่น CCTV มาลงในท่อดังกล่าวนี้

แหล่งข่าวจากทรู ตอบเมื่อถูกถามว่าทำไมทรูถึงเป็นบริษัทเดียวที่ชนะการประมูลครั้งนี้ว่า กรุงเทพธนาคมได้เปิดโอกาสให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายเข้ามาร่วมยื่นข้อเสนออย่างเท่าเทียมแล้ว แต่ไม่มีใครยื่นซอง มีเพียงทรูรายเดียว ซึ่งทรูมองว่าทรูมีลูกค้าในพื้นที่กทม. จำนวนมากที่สุด

ดังนั้นการเสนอราคา 25,000 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี น่าจะคุ้มค่ามากกว่าหากต้องไปเช่าใช้ของทีโอที เพราะการเหมาซื้อจำนวนมากคุ้มกว่า และยังเปิดให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามาเช่าใช้ได้ ซึ่งรับรองว่าราคาไม่แพงแน่นอน เนื่องจากต้องเป็นไปตามที่กสทช. กำหนดอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่ได้ผูกขาด

'ทรูต้องลงทุนให้คุ้มค่าเพราะลูกค้าในกทม.ของทรูมีมากกว่ารายอื่น และทรูก็ทำทั้งๆที่ราคาค่าบริการก็ยังไม่กำหนดออกมา ส่วนแบ่งรายได้ที่จะแบ่งให้กรุงเทพธนาคมก็ยังไม่ได้ตกลงกัน แต่ทรูต้องนำเงินงวดแรก 10,000 ล้านบาท จ่ายให้กรุงเทพธนาคม นำไปจ่ายให้ผู้รับเหมาทั้ง 3 รายแล้ว'

นอกจากนั้น กลุ่มทรูชี้แจงว่ากลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เป็น 1 ใน 16 บริษัทเอกชนที่ได้รับจดหมายเชิญชวนจากกรุงเทพธนาคม เพื่อให้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเป็นผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้มายื่นเอกสารข้อเสนอดังกล่าว และผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เบื้องต้น และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ โดยยังไม่มีการสรุปและไม่มีการลงนามในสัญญาสัมปทานดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การที่บริษัทในกลุ่มทรู เข้ายื่นเอกสารตามประกาศเชิญชวนนั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่า โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม.จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และจะเป็นโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานคร ก้าวสู่เป็นสมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์แบบตามที่ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายไว้

*** กสทช. ย้ำ รัฐบาลสั่ง โมเดลแล้วแต่ กทม. กำหนด

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า การที่กทม.ดำเนินการ จะทำให้โครงการเสร็จไวขึ้น โดยกทม.จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายประมาณเดือนก.ค. 2562 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ กทม.ได้แบ่งพื้นที่ดำเนินการ 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ,กรุงเทพตะวันออก,กรุงธนเหนือ และ กรุงธนใต้ โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จุด ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน

'ส่วนเรื่องที่ว่าโอเปอเรเตอร์จะต้องใช้ของทรูเพียงรายเดียว บังคับ หรือ ไม่บังคับ อันนี้ต้องขอให้ กทม. เป็นผู้ตอบคำถาม หน้าที่ของกสทช. คือการกำหนดราคาเท่านั้น เพราะรัฐบาลสั่งให้ กทม. เป็นผู้ดำเนินการ'

***โอเปอเรเตอร์โอดไม่รู้เรื่อง

ในมุมของโอเปอเรเตอร์กลับ งง ในโมเดลการบริหารจัดการของกรุงเทพธนาคมโดยเฉพาะทีโอทีและ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กลับไม่รู้ว่ามีการเปิดให้ประมูลเมื่อไหร่มารู้อีกทีก็เห็นผลชนะประมูลแล้วซึ่งเรื่องนี้ในกลุ่มของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เคยมีการหารือกันในการเสนอเรื่องให้รัฐบาลช่วยใช้งบประมาณของรัฐในการออกค่าก่อสร้างท่อร้อยสายหรือสนับสนุนเงินบางส่วน โดยต้องการให้รัฐมองว่าท่อร้อยสายเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนท่อประปา เนื่องจากหากต้องเปลี่ยนจากการจ่ายค่าพาดสายเดือนละหลักร้อยบาทเป็นท่อร้อยสายใต้ดินหลักเกือบหมื่นบาท เป็นต้นทุนที่สูงเกินไป แต่ก็ยังไม่ทันได้แอ็กชั่นใดๆ โมเดลของกรุงเทพธนาคมก็ออกมาเป็นรูปแบบนี้เสียแล้ว

***ทีโอทีพร้อมลดราคาสู้

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที และ นายกสมาคมโทรคมนาคมฯ ให้ความเห็นว่า โครงการนำสายสื่อสารลงดิน ควรเป็นความร่วมมือ ทั้ง 3 ฝ่าย คือ งบประมาณจากเมือง,งบประมาณจากผู้กำกับดูแล และการคิดราคาสมเหตุสมผลจากเจ้าของท่อร้อยสาย ควบคู่กับนโยบายรัฐ แต่โมเดลของกรุงเทพธนาคม ตนยอมรับว่า งง และไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะเป็นแบบนี้ จึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่ปกติ

'กทม.ไม่จำเป็นต้องดำเนินการรูปแบบนี้ เพราะทีโอที เองก็มีท่อร้อยสายอยู่ทั่วพื้นที่กทม.อยู่แล้ว เรามีตั้ง 2,500 กิโลเมตร เหตุใดจึงต้องทำให้ประเทศเกิดการลงทุนซ้ำซ้อนเข้าไปอีก และ ทีโอที เอง ก็ยังงงอยู่ว่ามีการเปิดให้ผู้ให้บริการยื่นซองเพื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการต่อด้วยหรือ ไม่เคยทราบข่าวก่อน มารู้อีกที ทรูก็ได้สิทธิ์บริหารจัดการไปเรียบร้อยแล้ว'

ถ้าถามว่า ในมุมของทีโอที เสียผลประโยชน์ หรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ เพราะกทม.ไม่ได้ระบุ หรือมี กฎหมายตัวไหนบังคับให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องใช้ท่อร้อยสายที่บริหารโดยทรูเท่านั้น

ดังนั้นผู้ให้บริการยังมีตัวเลือกให้ใช้ของทีโอทีซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว และทีโอทีก็พร้อมจะลดราคาลงได้อีกอาจจะเหลือ 5,000 บาท ก็ได้ เพราะราคา 20,000 บาท คือราคาเมื่อสมัยตั้งแต่ตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งทีโอที ตอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้อยู่แล้ว เพราะมันมีค่าเสื่อมอยู่

มนต์ชัย กล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามที่เป็นข่าวว่าสมาคมจะฟ้อง กทม.นั้น อาจจะเป็นความเห็นของสมาชิกสมาคมซึ่งคงต้องหารือกันอีกที ว่าถ้าจะฟ้อง ต้องมีคนเสียผลประโยชน์ และเสียด้านไหน เพราะที่จริงแล้วการนำสายโทรคมนาคมลงดินเป็นเรื่องที่ดีและเอกชนก็ต้องนำลงอยู่แล้ว แต่ทีโอทีต่างหากที่อาจจะเสียผลประโยชน์หากกทม.บังคับให้ใช้บริการของทรูซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่มีอะไรมาบังคับได้

อย่างไรก็ตาม ทีโอที อาจถูกตั้งคำถามว่า ที่กทม.ไม่ใช้ท่อของทีโอที เพราะราคาแพง เรื่องนี้ตนมองว่าไม่ใช่ประเด็นเพราะโครงการที่ทีโอทีทำกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 127 กิโลเมตร ทีโอทีก็ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำหนดราคาให้ เดือนละ 9,600 บาทต่อคอร์กิโลเมตร อยู่แล้ว ซึ่งทีโอทีทำได้ และสามารถคิดราคาถูกกว่านี้ได้อีก ส่วนประเด็นที่ว่าทีโอทีทำงานล่าช้านั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ กทม.ว่าจะอนุญาตให้เปิดทางเท้าเพื่อทำท่อร้อยสายเร็วแค่ไหนต่างหาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทีโอทีแต่อย่างใด

'เรื่องนี้ทำไมถึงกลายเป็นโครงการผลประโยชน์ ทั้งๆที่ควรเป็นโครงการเพื่อประเทศชาติ เหมือนโครงการของกฟน. ทำไมเราทำได้ล่ะ เราก็ทำได้ไม่มีปัญหา แต่ทำไมกทม.ถึงคิดโมเดลซับซ้อน เผื่อผลประโยชน์ใคร ทำไมต้องมองว่าต้องมีส่วนแบ่งรายได้ให้กทม.' มนต์ชัย กล่าว ทิ้งท้าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0