โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"ทีวีดิจิทัล"ระส่ำปลดพันคน รีดน้ำหนัก"อสมท"เปิดเออร์ลี่

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2562 เวลา 08.00 น.
ทีวีดิจิทัล-ภาพประชาติ_NEW
ทีวีดิจิทัลฝุ่นตลบ กระฉ่อนวงการ 7 ช่อง คืนใบอนุญาต เตรียมปลดพนักงาน “อสมท” เปิดโครงการสมัครใจลาออก “สปริงนิวส์” ชี้ ปิดช่องกระทบคน 5-10% “บีอีซี” ประชุมเครียดเร่งหาทางออก “จีเอ็มเอ็ม” แม้ไปต่อแต่จำใจลดคน ยันเยียวยาตามกฎหมาย “เวิร์คพอยท์ฯ” ประกาศรัดเข็มขัด ไม่รับ พนง.เพิ่มอีก ยกเว้นลาออก

แม้จะคืนใบอนุญาตให้ กสทช.แล้ว แต่ล่าสุด ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ยังมีภาระต้องสะสาง โดยเฉพาะปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม จึงต้องปรับลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ ขณะที่ กสทช.เร่งให้ส่งแผนเยียวยาพนักงาน

ทีวีคืนใบอนุญาตปลดคน

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการทีวีดิจิทัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุจำนวนของพนักงานที่จะต้องตกงานหลัง 7 ช่องทีวีดิจิทัลปิดตัวลง แต่เบื้องต้น กสทช.ได้สั่งให้ทีวีดิจิทัลทั้ง 7 รายเตรียมส่งแผนเยียวยาพนักงานแล้ว ซึ่งหลาย ช่องเริ่มเร่งหามาตรการเยียวยาให้แก่พนักงานแล้ว ล่าสุด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เตรียมเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ เพื่อลดต้นทุน โดยส่งแบบสอบถามให้พนักงานและผู้บริหารอายุ 45-59 ปี ที่มีอายุการทำงาน 10 ปีขึ้นไป ร่วมโครงการ “ร่วมใจจากองค์กร” ให้ส่งคืนวันที่ 21 พ.ค.นี้ คาดว่า อสมท จะประกาศมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนได้

ขณะที่นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม รองกรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สปริง 26 กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่ 7 ช่องทีวีดิจิทัลคืนช่อง แม้บางช่องจะบอกว่าไม่ได้ลดคน แต่ก็จะมีผลกระทบกับพนักงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับช่องสปริง 26 ไม่ได้ประกาศลดคน หรือมีโครงการเออร์ลี่รีไทร์ และมีเวลา 2 สัปดาห์ในการปรับแผนธุรกิจ จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อเอาคนลงในส่วนงานที่เหมาะสม แต่ก็ยอมรับว่าต้องมีผลกระทบบ้างอย่างน้อย 5-10% ส่วนองค์กรอื่นก็น่าจะมีผลกระทบไม่ต่ำกว่า 10% โดยเฉพาะคนทำงานในสตูดิโอการผลิต

“เมื่อมีการปิดช่องลงไป คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด และหลังจากยุติการออกอากาศแล้ว สปริง 26 จะผันตัวเป็นคนทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มดิจิทัล และซัพพอร์ตคอนเทนต์ให้ช่อง Nation 22 ในบางส่วน ซึ่งเป็นการผันตัวสู่ออนไลน์ก่อนแผนที่วางไว้ 2 ปี”

จับตามีอีกเป็นระลอก ๆ

นายพีระวัฒน์กล่าวว่า สูตรคำนวณเงินค่าเยียวยาจากการคืนช่องที่ กสทช.ประกาศออกมา ทำให้หลายช่องตัดสินใจคืนช่อง เพราะเป็นมูลค่าที่สูงกว่ากำไรที่น่าจะได้รับ หากประกอบกิจการต่อจนครบใบอนุญาตในปี 2572 สำหรับสปริงนิวส์ 19 ได้เงินคืนพันกว่าล้านบาท และเชื่อว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี ช่องก็ไม่สามารถจะทำกำไรได้ถึงพันล้านบาท และถ้ายังไปต่อก็จะต้องมีการลงทุนเพิ่มอีก ส่วนช่องสปริง 26 หรือช่อง Now เดิมจะได้คืน 860 ล้านบาท ถ้าไปต่อก็ยังมีต้นทุนอีก 20 กว่าล้านต่อปี จึงตัดสินใจคืนทั้ง 2 ช่อง เพื่อเลือดจะได้หยุดไหล หลังจากมีการปลดคนครั้งนี้แล้ว เชื่อว่าในอนาคตก็อาจจะต้องมีการปลดคน ลดพนักงานอีกระลอก เนื่องจากยังมีการแข่งขันสูง หากลด fixed cost ไม่ได้ก็จะเหนื่อย

จากการสอบถามเรื่องการลดพนักงานไปยัง บมจ.บีอีซี เวิลด์ ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ผู้บริหารอยู่ระหว่างประชุม ไม่สามารถให้รายละเอียดได้

เวิร์คพอยท์ฯไม่รับคนเพิ่ม

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เปิดเผยว่า มาตรการที่เปิดให้คืนช่องได้เป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรม แต่ที่กังวลใจจะทำให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก จึงอยากให้มีการชดเชยในจำนวนมากพอ ซึ่งช่วง 4-5 เดือนนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องรับสภาพ ประหยัดต้นทุนกันไป อย่าลงทุนอะไรผลีผลาม ช่องที่เหลือก็พยายามปรับตัวกันอยู่ อย่างการจัดการเรื่องคนเป็นเรื่องยาก เป็นต้น ตอนนี้เวิร์คพอยท์ฯมีพนักงาน 700-800 คน ซึ่งก็คงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากนี้ แต่ยังจะรับคนเพิ่มหากมีคนลาออก

ก่อนหน้านี้นายสถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ชี้แจงถึงที่มีกระแสข่าวว่า จีเอ็มเอ็ม 25 มีแผนจะปลดพนักงานฝ่ายข่าวว่า เพื่อให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องมีการปรับลดพนักงานลง และเตรียมจะยุติรายการข่าวลงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากช่องไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านข่าว แต่จะมีรายการสาระความรู้อื่น ๆ เข้ามาแทน ส่วนพนักงาน 27 คนที่จะถูกเลิกจ้างบริษัทมีมาตรการเยียวยาตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัลได้มีปรับลดบุคลากรมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 สปริงนิวส์ได้ปลดพนักงานระลอกแรก 40 คน รอบที่ 2 ปี 2561 อีก 80 คน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร ขณะที่วอยซ์ทีวีได้ประกาศปลดพนักงาน 127 คนในปี 2559 รวมถึงช่อง 3 ที่ประกาศให้พนักงานลาออกตามความสมัครใจ และให้เงินชดเชย 10 เท่าของเงินเดือน โดยเฉพาะทีมข่าว เนื่องจากมีสัดส่วนถึง 600-800 คนจากพนักงานทั้งหมด 2,000 คน เช่นเดียวกับนิวส์ทีวี ที่ปลดฝ่ายข่าว 37 คนในปี 2561 เป็นต้น

กสทช.จี้ ส่งแผนชดเชย พนง.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล (16 พ.ค. 2562) มีมติให้ทั้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 7 รายที่ขอคืนช่อง ได้แก่ 1.ไบรท์ทีวี 20 2.วอยซ์ทีวี 21 3.MCOT family 4.ช่อง 13 Family 5.ช่อง 28 “3SD” 6.ช่องสปริงนิวส์ 19 และ 7.สปริง 26 ของกลุ่มเนชั่นฯ จะต้องส่งแผนการเยียวยาพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้างให้สำนักงาน กสทช.ภายใน 60 วัน และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเยียวยาก่อนยุติการให้บริการ ซึ่งการจ่ายชดเชยให้พนักงานจะต้องมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นการยุติการบริการที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยประเมินว่าการคืนช่องจะกระทบพนักงานกว่าพันคน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0