โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทีมชาติเวียดนาม กับเส้นทางหวนคืนสู่แชมป์อาเซียน จากการลงทุนกับเวลาและ เยาวชน

THE STANDARD

อัพเดต 17 ธ.ค. 2561 เวลา 13.05 น. • เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2561 เวลา 13.05 น. • thestandard.co
ทีมชาติเวียดนาม กับเส้นทางหวนคืนสู่แชมป์อาเซียน จากการลงทุนกับเวลาและ เยาวชน
ทีมชาติเวียดนาม กับเส้นทางหวนคืนสู่แชมป์อาเซียน จากการลงทุนกับเวลาและ เยาวชน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนอาจโฟกัสไปที่ความสำเร็จของลิเวอร์พูล ที่เอาชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แบบไร้ข้อกังขาด้วยสกอร์ 3-1 และโอกาสยิงที่ขาดลอยที่ 36 ต่อ 6 ครั้ง

 

ส่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในฟุตบอลอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่าลิเวอร์พูล แชมป์ลีกสูงสุด 19 สมัยกำลังกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ แทนที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ประสบความสำเร็จมายาวนานตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีกในปี 1992  

 

แต่ข้ามมาที่ภูมิภาคอาเซียน ค่ำคืนวันที่ 15 ธ.ค. เวียดนาม ทีมชาติที่มีชุดเหย้าเป็นสีแดงเฉกเช่นเดียวกับสีหลักของ 2 สโมสรจากอังกฤษ  

 

 

สามารถกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่อีกครั้งบนเวทีฟุตบอลในระดับอาเซียน ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์​อาเซียนได้เป็นสมัยที่ 2 ได้สำเร็จในรอบ 10 ปี โดยเอาชนะมาเลเซียไปด้วยสกอร์รวม 3-2 จาก 2 เกมในนัดชิงฯ ที่ผ่านมา

 

นับตั้งแต่ปี 2008 ที่เวียดนามเอาชนะไทยได้ในนัดชิงฯ พวกเขาก็ไม่ได้เข้ามาสัมผัสรอบชิงชนะเลิศของรายการนี้อีกเลย แต่ปี 2018 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเวียดนามกำลังกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ คล้ายกับที่ทีมชาติไทยสามารถกลับมาคว้าแชมป์ซูซูกิคัพได้ในปี 2014

 

โดยในปี 2014 นั้นฟุตบอลทีมชาติไทยที่เพิ่งคว้าเหรียญทองซีเกมส์เมื่อปี 2013 กลับมาคว้าอันดับที่ 4 ในเอเชียนเกมส์ที่อินชอนประเทศเกาหลีใต้ และคว้าแชมป์ซูซูกิคัพ ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี

 

ขณะที่เวียดนามในปี 2018 พวกเขาเริ่มต้นปีด้วยการคว้ารองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่น U-23 ต่อด้วยคว้าอันดับที่ 4 ในเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซียด้วยการพ่ายให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ไป 4-3 และมาคว้าแชมป์ซูซูกิคัพได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน

 

โดยจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของทีมชาติเวียดนามชุดนี้คือการที่มีนักเตะอายุต่ำกว่า 23 ปีทั้งหมด 15 คนจากทั้ง 23 คน ซึ่งนับเป็น 65.2% ของนักเตะทั้งทีม เป็นรองเพียงแค่ลาว และติมอร์ เลสเต ที่ทดลองใช้เยาวชนในการแข่งขันรายการนี้เช่นเดียวกัน

 

ซึ่งการเลือกใช้เยาวชนเป็นแกนหลักนี้เองคือจุดสำคัญที่นำพาเวียดนามกลับมาสู่หนทางสู่ความสำเร็จได้ในวันนี้ แต่จุดเริ่มต้นของเมล็ดพันธ์ุของความสำเร็จนี้เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากของฟุตบอลในเวียดนาม

 

*Hoang Anh Gia Lai-Arsenal JMG Academy บ่อกำเนิดของความสำเร็จของฟุตบอลเวียดนามท่ามกลางมรสุมของฟุตบอลลีกสูงสุด *

 

 

หากย้อนเวลาไป 6 ปีก่อนหน้านี้ วี.ลีก ฟุตบอลลีกสูงสุดของเวียดนามประสบปัญหาอย่างหนักด้วยข้อหาทุจริต โดยสโมสรชั้นนำหลายสโมสรในลีกถูกตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาน

ในขณะเดียวกันศาลเวียดนามมีคำพิพากษาจำคุกนายเหงียนดุก เคียน ผู้บริหารสโมสรฟุตบอล Hanoi ABC Football Club และรองประธานบริษัท Vietnam Professional Football Company (VPF) ที่ดูแลและบริหารวี.ลีก ลีกสูงสุดของเวียดนาม และดิวิชันหนึ่งนาน 30 ปีด้วยข้อหาเลี่ยงภาษีและทำการค้าผิดกฎหมาย

 

แต่ท่ามกลางมรสุมของลีกฟุตบอลอาชีพ Hoang Anh Gia Lai-Arsenal JMG Academy อคาเดมีฝึกนักเตะเยาวชนของเวียดนามกำลังเริ่มต้นก่อสร้างนักเตะรุ่นใหม่ป้อนเข้าสู่สโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศ

 

โดยอคาเดมีนี้เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างสโมสรอาร์เซนอล JMG Academy โรงเรียนฟุตบอลจากฝรั่งเศส และบริษัท Hoang Anh Gia Lai บริษัทเวียดนามที่เป็นเจ้าของสโมสร Hoang Anh Gia Lai FC และได้รับการรับรองจากสมาคมกีฬาฟุตบอลเวียดนามตั้งแต่ปี 2007 มีส่วนสำคัญในการสร้างนักเตะทีมชาติตลอดมา

 

ในเกมที่เวียดนามรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีเอาชนะมาเลเซียไป 3-0 เมื่อปี 2017 สมาชิกครึ่งหนึ่งของทีมชุดนั้นทั้งเหงียน คอง เฟืองศูนย์หน้าเวียดนามหรือที่รู้จักกันในนามเมสซีเวียดนาม รวมถึง เลือง ซวน ตรวงกัปตันทีมชุดยู 23 นี้ ต่างก็เป็นผลผลิตของ  Hoang Anh Gia Lai-Arsenal JMG Academy

 

 

“ผมเชื่อว่าเวียดนามมีนักเตะที่จะกลายเป็นทีมที่ไร้เทียมทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะกลายเป็นทีมที่สามารถตั้งเป้าผ่านเข้ารอบลึกๆ ในการแข่งขันระดับเอเชีย หรือแม้กระทั่งผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้” Scott Mcintyre ผู้สื่อข่าว FOX SPORTSAsia กล่าวถึงการเติบโตของฟุตบอลในเวียดนาม

 

“โดยความสำเร็จครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการประสานงานที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ Hoang Anh Gia Lai-Arsenal JMG Academy แต่รวมถึงสโมสร Hanoi FC และหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาเยาวชนจนนำมาสู่นักเตะชั้นนำในยุคปัจจุบัน”

 

Hoang Anh Gia Lai-Arsenal JMG Academy หรือ HAGL ตั้งอยู่ในระดับความสูงเกือบ 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ด้วยอากาศที่สดชื่นต่อการฝึกซ้อม รวมถึง สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ และที่พักสำหรับนักเตะเยาวชน สถานที่แห่งนี้คือเป้าหมายของนักเตะนับพันคนที่เดินทางเข้ามาเพื่อหวังที่จะได้สร้างอนาคตไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

 

โดย HAGL จะคัดเลือกทั้งหมด 30 คนทุกปี และจะโฟกัสที่การพัฒนาทักษะการเลี้ยงและสัมผัสบอล การพัฒนาความแข็งแรงและความฟิต แม้ว่านักเตะบางคนที่มีรูปร่างเล็กกว่าคนอื่นๆ เช่น เหงียน คอง เฟือง พวกเขาจะได้รับโปรแกรมการเข้ายิมและ ฟิตเนส เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความฟิต

 

“อคาเดมีแห่งนี้ต้องการมอบแง่คิด และความแข็งแกร่งทางร่างกาย บวกกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเตะชั้นนำของภูมิภาค เราทุกคนหวังและเชื่อมั่นว่า เวียดนามจะกลายเป็นชาติฟุตบอลที่แข็งแกร่งในอนาคต” เหงียน คอง เฟือง นักฟุตบอลทีมชาติเวียดนาม

นอกจาก HAGL แล้ว ในเวียดนามยังมีอคาเดมีอื่นๆ เช่น Promotion Fund of Vietnamese Football Talents Football Club หรือ PVF ที่ร่วมมือกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และล่าสุดเมื่อปี 2017 ได้แต่งตั้ง ไรอัน กิกส์ อดีตนักเตะระดับตำนานของสโมสรมาเป็นไดเรกเตอร์ผู้คุมการฝึกซ้อม และพัฒนาโค้ชในประเทศอีกด้วย

 

แต่ขณะเดียวกันสโมสรในวี.ลีก ก็เป็นอีกกำลังสำคัญในการยอมลงทุนกับเวลาในการมอบโอกาสให้กับโค้ชท้องถิ่น เพื่อสร้างรากฐานและความสม่ำเสมอ

 

โดยสโมสรตัดสินใจเลือกใช้โค้ชเวียดนามเป็นเวลานาน แทนที่ผู้จัดการทีมต่างชาติ รวมถึงการเลือกให้โอกาสกับนักเตะเยาวชนในแต่ละสโมสรจนสร้างดาวดังอย่างเช่นเหงียน กวง ไฮจาก Hanoi FC ดาวยิงสูงสุดในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่น U-23 ขึ้นมาประดับวงการ

 

แต่ในช่วงเวลาของการเติบโตทางฟุตบอลของนักเตะเยาวชนจากอคาเดมีสู่สโมสรอาชีพของเวียดนามตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องพบเจอกับมรสุมทั้งในและนอกสนาม

 

นอกเหนือจากข่าวการทุจริตในวงการฟุตบอลแล้ว ปี 2012 เวียดนามยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จนส่งผลให้สโมสรได้รับผลกระทบทางการเงินโดยเฉพาะรายได้จากผู้สนับสนุนที่ลดลง แต่หลังจากที่สโมสรสามารถบริหารจัดการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวจนผู้สนับสนุนเริ่มกลับมาลงทุนกับสโมสรในประเทศมากขึ้น เมล็ดพันธ์ุของเยาวชนที่ได้เริ่มต้นปลูกไว้ก็ได้เริ่มต้นออกดอกผลให้ฟุตบอลทีมชาติเวียดนามเก็บเกี่ยวมาใช้ในการแข่งขันระดับเอเชียแล้ว

 

ปาร์คฮังซอ*ฮีโร่ของฟุตบอลเวียดนามชาวเกาหลีใต้ *

 

 

ในวันที่ปาร์คฮังซอได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติเวียดนาม หลายคนตั้งคำถามว่าเขาจะสามารถช่วยให้เวียดนามไปสู่เป้าหมายที่พวกเขาต้องการได้หรือไม่

 

เนื่องจากปาร์คฮังซอเข้ามารับตำแหน่งหลังจากที่เขาคุมสโมสรในลีกเล็กในเกาหลีใต้ แต่ก็พกโปรไฟล์ผู้ช่วย กุส ฮิดดิงก์ กุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ชุดประวัติศาสตร์ที่คว้าอันดับที่ 4 ในศึกฟุตบอลโลกปี 2002 มาด้วย

 

สุดท้ายด้วยผลงานที่เขาได้สร้างไว้ในปีนี้ส่งให้เขากลายเป็นฮีโร่ของเวียดนามเป็นที่เรียบร้อย

 

หนึ่งในจุดสำคัญที่ปาร์คฮังซอมองเห็นนับตั้งแต่การเข้ามาคุมทีมคือ ข้อบกพร่องที่แฟนบอลมักจะวิจารณ์นักเตะเวียดนามว่าเสียเปรียบเรื่องความสูง แต่กุนซือชาวเกาหลีใต้มองว่าทักษะของนักเตะเวียดนามสามารถทดแทนจุดนี้ได้

 

 

“นักเตะเวียดนามมีจุดเด่นอยู่ที่เทคนิคที่สามารถชดเชยความสูงและความแข็งแกร่งได้ นักเตะที่ตัวเล็กจะมีความเร็วมากกว่า นักเตะเวียดนามฉลาด และสามารถเข้าใจและปรับตัวต่อแท็กติกของผมได้อย่างรวดเร็ว” ปาร์คฮังซอให้สัมภาษณ์กับทาง VNExpress

 

แม้ว่าปัจจุบันปาร์คฮังซอจะมีอายุถึง 59 ปี แต่เขาก็เป็นโค้ชที่สามารถทำงานร่วมกับนักเตะเยาวชนได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อมั่นในนักเตะเยาวชนของเขาคือเกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มในบ้านกับกัมพูชาซึ่งเป็นเกมที่ต้องชนะเท่านั้นเพื่อการันตีสิทธิ์เข้ารอบรองชนะเลิศซูซูกิคัพ 2018 ต่อหน้าแฟนบอลในบ้านของตัวเอง

 

แต่เกมนี้กุนซือชาวเกาหลีใต้ก็ยังมั่นใจในนักเตะเยาวชน โดยเลือกใช้เหงียน เทียน ลินห์ที่ยิงไป 4 ประตูในวี.ลีก ปีที่ผ่านมาลงสนามประสานงานกับเหงียน ฟง ฮง ดุย ในตำแหน่งปีกซ้าย แทนที่จะส่ง เหงียน อันห์ ดุค ศูนย์หน้าวัย 33 ปีและ เหงียน วาน เควียต วัย 27 ปีที่มีประสบการณ์มากกว่าลงสนามในตำแหน่งหัวหอก ซึ่งเกมนั้นพวกเขาก็เก็บชัยชนะไปได้ 3-0 จากลูกยิงของเหงียน เทียน ลินห์, เหงียน กวาง ไฮ และ ฟาน วาน ดุค ซึ่งทั้งสามมีอายุไม่เกิน 24 ปี

 

ความสำเร็จจากนักเตะเยาวชนเหล่านี้ของเวียดนามถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ฟุตบอลรายการสำคัญต่างๆ ในระดับเอเชีย จนอาจนำพาพวกเขาสู่ความสำเร็จในระดับโลกได้  

 

 

แต่เหมือนกับทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่เวลาแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จย่อมสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในวันที่เราไม่ได้มองไปสู่ก้าวต่อไปของการพัฒนา

 

ในโลกฟุตบอลเราได้เห็นเยอรมนีชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบการพัฒนาเยาวชน ระบบการทำทีม และระบบการเล่น วันนี้พวกเขาเองก็ยังต้องประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สเปนที่วันหนึ่งดูไร้เทียมทาน วันนี้พวกเขาต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

 

อิตาลีเจ้าของแชมป์โลก 4 สมัย เนเธอร์แลนด์หนึ่งในชาติที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสไตล์การเล่นแบบ Total Football ที่ปฏิวัติวงการฟุตบอลในสมัยหนึ่ง วันนี้ทุกชาติที่กล่าวมาต้องเริ่มต้นพัฒนาใหม่เพื่อก้าวไปสู่การแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นทุกวัน

 

แต่หัวใจที่สำคัญที่สุดจากที่มีโอกาสสำรวจความสำเร็จของเวียดนามในวันนี้ คือการเลือกไว้ใจเยาวชน คู่กับระบบการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือการเลือกลงทุนกับเวลา และเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญสำหรับการแข่งขันในอนาคต

 

เล ฮอย อันห์ เลขาธิการฯ สมาคมฟุตบอลเวียดนาม ได้กล่าวถึงความสำเร็จของนักเตะชุดรองแชมป์ ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่น U-23 เมื่อต้นปีที่ประเทศจีนไว้ว่า ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากโชค แต่จากประสบการณ์และการเตรียมพร้อม  

 

“นักเตะชุด U-23 นี้แข่งขันในระดับเอเชียตั้งแต่รอบคัดเลือกของฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่น U-19 นักเตะหลายคนในชุดนี้ยังได้เข้าร่วมฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่น U-23 เมื่อปี 2016 ที่กาตาร์ ดังนั้นพวกเขามีประสบการณ์ในการเล่นในระดับนานาชาติ”

 

“สิ่งสำคัญคือพวกเขาเรียนรู้จากความล้มเหลว จากการตกรอบแบ่งกลุ่มซีเกมส์ 2017”

 

 

พิสูจน์อักษร:ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

*อ้างอิง: *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0