โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทิม พิธา: ‘ความหวัง–ความฝัน’ ของคนรุ่นใหม่ กับการก้าวข้ามโครงสร้างที่ถูกกดทับในสังคมไทย

a day BULLETIN

อัพเดต 08 ธ.ค. 2562 เวลา 23.59 น. • เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 23.55 น. • a day BULLETIN
ทิม พิธา: ‘ความหวัง–ความฝัน’ ของคนรุ่นใหม่ กับการก้าวข้ามโครงสร้างที่ถูกกดทับในสังคมไทย

ความเชื่อ – ความหวัง – ความฝัน สิ่งเหล่านี้กำลังปะทะกันระหว่างคนยุคใหม่กับคนยุคเก่าอยู่ในสังคมวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางการเมืองต่างขั้วอย่างรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำถึงขีดสุด ระบบนิติรัฐที่สั่นคลอน 

        จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เมื่อเราสไลด์เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์แล้วจะเห็นเด็กรุ่นใหม่โพสต์บ่น ‘อยากหนีออกจากประเทศ’ ตามมาด้วยความเห็นเชิงต่อว่าของผู้ใหญ่ว่า ทำไมเด็กถึงหลงอยู่ในวาทกรรม ‘ชังชาติ’

        แนวคิดเหล่านี้จะพบจุดสมดุลหรือจุดสิ้นสุดตรงไหน คงต้องให้สถานการณ์และวันเวลาช่วยตอบ

        ‘ทิม’ - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ชายคนนี้ที่ดูจะ ‘เข้าถึง’ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย จากอดีตนักธุรกิจที่ปัจจุบันพลิกชีวิตมาเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ได้มาพูดคุยกับเราถึงเรื่อง Entrepreneur Mindset ของเด็กยุคนี้ ที่อยากจะออกแบบความฝันและชีวิตของตนเอง แต่ถูกกดทับจากโครงสร้างที่เป็นอยู่ของสังคม ทิมและพรรคอนาคตใหม่ ก็มีแนวความคิดที่ไม่แตกต่าง ด้วยความมุ่งหวังที่จะเห็นความฝันเหล่านั้นงอกงามเกิดขึ้นจริง และส่งต่อประเทศไทยที่ดีกว่าให้คนรุ่นใหม่ในอนาคต—แม้จะดูเป็นความฝันที่ยังไม่พบทางออก

        “ทางตันของความฝันอาจจะเป็นสถานที่หรือเวลาก็ได้ ความฝันของเราอาจจะอยู่ที่ สถานที่นี้แต่ว่าเวลายังมาไม่ถึง… ถามตัวเองว่าคุณสนใจชีวิตตัวเองมากแค่ไหน แล้วคุณเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาแค่ไหน ว่าระบบรัฐสภาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวคุณเองได้ แล้วคุณอดทนพอหรือเปล่า ผมอดทนพอ แล้วคุณอดทนพอหรือเปล่าที่จะสู้ไปด้วยกัน”

        นั่นสิ… คุณอดทนพอหรือเปล่า กว่าเวลาจะพาไปถึง ‘วันนั้น’

 

ทิม พิธา
ทิม พิธา

ผมว่าสิ่งที่แย่ที่สุดและทรมานที่สุด คือการเอาคนที่เป็นปลาหรือเป็นเป็ดไปเทียบกับนก ว่าทำไมบินได้ไม่เท่าเขา หรือว่าเป็นนกทำไมไม่ว่ายน้ำเก่งได้เท่าปลา

คุณคิดว่าอะไรทำให้ความฝันของคนยุคนี้แตกต่างจากความฝันของคนยุคก่อน ยุคนี้ใครๆ ก็อยากจะมีอิสระ อยากมีธุรกิจของตัวเอง อยากเป็นนายของตัวเอง

        ความต่างของยุคนี้กับยุคคุณพ่อคุณแม่เราคือการเข้าถึงข้อมูล สมัยนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โลกมีอะไรใหม่ตรงไหนบ้าง ผมมองว่าการที่จะเป็น entrepreneur ที่ดีได้ คุณต้องทำอะไรที่ใหม่ ชัด แล้วก็โดน การที่เราเข้าถึงข้อมูลได้ มีข้อมูลอะไรใหม่ๆ มากขึ้น ก็สามารถที่จะคิดหรือหาข้อมูลแก้ปัญหา ค้นเจอสิ่งที่ทำให้กระดิ่งในใจเราดังได้ ว่าเราต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร แต่สิ่งที่ทำต้องไม่แค่ใหม่อย่างเดียว เพราะว่าใหม่ใครก็ทำได้ เราต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมาย และเข้าไปแก้ปัญหาให้เขา

การเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น ทำให้เด็กยุคนี้มี Entrepreneur Mindset มากขึ้นด้วยไหม

        เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของเวลา เรื่องของสถานที่ แล้วก็เป็นเรื่องของปัจจัยภายในใจ บางคนเกิดมาแบบมีอยู่ในดีเอ็นเอ มีพรสวรรค์ของเขาอยู่แล้ว อย่างเพื่อนผมหลายคนที่โตมาในนิวซีแลนด์ด้วยกัน บางคนไปเป็นวาทยากรชื่อดังอยู่ที่นิวยอร์ก บางคนเป็นช่างภาพชื่อดังอยู่ที่นิวซีแลนด์ หรือบางคนเป็นนักรักบี้ที่เก่งที่สุดของนิวซีแลนด์ก็มี ส่วนบางคนที่มีพรสวรรค์มากพอ แต่ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลว่าโลกไปถึงไหนแล้ว เขาก็คงจะอยู่กับที่ แล้วจะมีสักกี่คนที่เป็นนกหรือปลาได้แบบนั้น คนส่วนมากยังคงเป็นเป็ด บินไม่ได้อย่างนก แล้วก็ว่ายน้ำไม่ได้อย่างปลา

         ผมว่าสิ่งที่แย่ที่สุดและทรมานที่สุดคือการเอาคนที่เป็นปลาหรือเป็นเป็ดไปเทียบกับนกว่าทำไมบินได้ไม่เท่าเขา หรือว่าเป็นนกทำไมไม่ว่ายน้ำเก่งได้เท่าปลา สิ่งสำคัญของระบบการศึกษาคือทำให้คนเรียนรู้ก่อนว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร เราเป็นปลาหรือเป็นนก หรือเราเป็นเหมือนคนอีก 90% ที่เป็นเป็ด ทำอะไรก็พอได้ วาดรูปก็พอได้ เล่นกีฬาก็พอได้ เรียนหนังสือก็พอได้ ทำงานบริษัทก็พอได้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องรู้ตัว แล้วก็พาตัวเองไปอยู่ในระบบที่พอให้เราลองผิดลองถูกได้ ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าอะไร เพราะว่ายน้ำก็ไม่เก่ง บินก็ไม่ได้ คนกลุ่มใหญ่ตรงนี้ ถ้าได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการสนับสนุน มีนโยบายจากทางภาครัฐที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล และระบบการศึกษาที่ดี ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด entrepreneur หรือผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่เขากล้าจะลุกขึ้นมาทำอะไร

แล้วอย่างคุณทิมเองเป็นอะไร นก ปลา หรือเป็ด

        (หัวเราะ) เป็ดอยู่แล้ว รู้ตัวตั้งแต่แรกแล้ว ตอนเด็กๆ พอเล่นสควอชให้ทีมโรงเรียนได้หน่อย ผมก็ฝันอยากจะเป็นนักกีฬา พอเล่นกีตาร์ได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ฟอร์มวงกับเพื่อนเพราะอยากเป็นนักดนตรี เรียนหนังสือก็พอได้ คือผมเข้าใจตัวเอง ที่ผ่านมาผมเลยทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้แล้วก็พอใจกับมัน ขึ้นอยู่กับว่าเรามองตัวเองอย่างไร

        สมัยก่อน สัก 35 ปีที่แล้ว วิธีคิดของคนในสังคมจะมองว่าสอบก็ต้องได้ที่หนึ่ง เล่นกีฬาก็ต้องเป็นที่หนึ่ง ผมเองก็เคยฝันอยากจะเป็นแบบนั้น พอโตขึ้นมาระดับหนึ่ง มีลูกมีครอบครัว ก็อยากจะเปลี่ยนคำว่า success เป็น satisfying นี่คือความสำเร็จของผม ผมพอใจในสิ่งที่ผมทำได้ ถ้าทำแบบนั้นได้ชีวิตจะมีความสุขมาก และก็พร้อมที่จะลองผิดลองถูก ล้มก็สู้ใหม่

เราจะรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้ได้อย่างไร

        ต้องเข้าใจถึงสาเหตุว่าเราเกิดมาทำไม รู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร และทำสิ่งใดเพื่ออะไร ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ก็จะสามารถทบทวนตัวตน แล้วเปลี่ยนตัวเองได้เรื่อยๆ ผมชอบความคิดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะมองในฐานะคนธรรมดา ในฐานะนักธุรกิจ ในฐานะที่เป็นพ่อคนหรือเป็นนักการเมือง คือแนวความคิดแบบ ‘คินสึงิ’ (Kintsugi) ผมเดินทางไปที่ญี่ปุ่นบ่อยๆ แล้วชอบเข้าพิพิธภัณฑ์ มีครั้งหนึ่งผมไปเห็นแก้วแตกที่เขาใช้ทองผสมในยางไม้แล้วเอามาทาแก้วให้กลับมาสมานกัน ผลลัพธ์คือความสวยงามของกาลเวลา เป็นความสวยงามของความแตกร้าว แค่แก้วแตกไม่ได้เป็นจุดจบของทุกอย่าง ถ้าเรารู้วิธีลุกขึ้นสู้ ถ้าเกิดปัญหามา แต่รู้ว่าปัญญาเราก็มีเหมือนกัน สิ่งสุดท้ายที่เกิดขึ้นสามารถกลายเป็นความสวยงามในแบบของตัวเองได้

จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมี Entrepreneur Mindset ถึงจะสามารถอยู่รอดได้ดีในโลกยุคต่อไป

        มีคนสองประเภทที่ผมเคยเจอ คือคนที่เชื่อและตามองไปที่ผลตอบแทนว่าเขาต้องรวยเร็ว มีอิสระ ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรมาก ตรงนี้เวลาคุยกับเขาก็ต้องชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่กล้าทำอะไรเลย กลัวว่าถ้าลาออกจากบริษัทจะกลับมามีงานทำได้ไหม ถ้าคุยกับคนแบบนี้ก็ต้องผลักดันให้เขามีความกล้าขึ้นมา เพราะว่าเรื่องพวกนี้เป็นการตัดสินใจของใครของมัน ความเสี่ยงของใครของมัน คงไม่มีใครที่จะคอยบอกได้ว่าทำได้หรือเปล่า

        ถ้าพูดถึงเรื่อง Entrepreneur Mindset ต้องมาดูเรื่อง risk กับ return ด้วยความที่เราเห็นความสำเร็จตามหน้าสื่อหรือหน้าโฆษณาต่างๆ ทำให้ทุกคนไปโฟกัสที่ return คิดว่าเขาต้องเป็น สตีฟ จ็อบส์ คนต่อไป หรือคิดว่าต้องรีไทร์ตอนอายุ 30 ซึ่งก็ไม่ผิด เขาก็มีสิทธิ์ที่จะฝัน แต่ในขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่อธิบายความเสี่ยงที่จะทำ จะมีคนส่งข้อความมาถามผมประจำว่า หนูทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ดีไหม ผมก็ถามเขากลับไปว่า แล้วสิ่งที่จะทำใหม่นั้นมันชัด มันโดนหรือเปล่า ถ้าใช่ก็น่าลองเสี่ยงที่จะทำดู แต่ถ้าซ้ำกันกับคนอื่น เป็นร้านกาแฟที่ไปเปิดอยู่ข้างๆ ร้านกาแฟที่มีอยู่แล้ว ก็ต้องลองคิดดูว่าคุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยงตรงนี้ไหม

การเริ่มสร้าง Entrepreneur Mindset ควรเริ่มจากตรงไหน

        คุณต้องโฟกัสที่ passion หรือ problem ของคุณ เช่น บางธุรกิจโฟกัสเรื่องระบบแท็กซี่ในประเทศ เขารู้สึกว่าสิ่งนี้คือปัญหาที่ควรได้รับการแก้ หรือบริษัท Fintech ที่โฟกัสว่ายังมีคนอีก 50%-60% ที่ยังไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ entrepreneur กลุ่มนี้จะเริ่มจากการมองก่อนว่าโลกมีปัญหาอะไร มีปัญหาขยะ ปัญหาเรื่องระบบขนส่ง ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา เขาจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีแพสชันหรือชอบในเรื่องนั้นอะไรมากมาย แต่ entrepreneur อีกกลุ่มหนึ่งจะเริ่มจากการบอกว่าฉันชอบสิ่งไหนมากที่สุด เช่น ชอบเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาทำการท่องเที่ยวแบบ Disaster Tourism ธุรกิจของเขาคือทำทัวร์ไปเที่ยวในประเทศหรือพื้นที่อันตรายๆ อย่างคิวบา คอสตาริกา พาไปประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความรุนแรงโดยเฉพาะ ใจเขาชอบอะไรแบบนี้ และทำให้กลายเป็นธุรกิจ ถ้าคุณโฟกัส passion กับ problem ว่าในโลกนี้มีปัญหาอะไรที่คุณอยากจะแก้ และเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่นำมาทำธุรกิจได้ ก็มีโอกาสเป็นธุรกิจที่ใหม่ ชัด โดนได้ทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็น entrepreneur แบบไหน 

        แต่ไม่ว่าเริ่มต้นธุรกิจแบบไหนก็มีทั้ง risk และ return และคุณจะวัดความสำเร็จจากคำว่า success หรือ satisfying เงินก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สำคัญพอที่คุณจะขายวิญญาณ ขายเวลา ขายสุขภาพหรือเปล่า เท่าที่เคยได้ยินมา นี่คือวิธีคิดที่ผมประมวลได้จากน้องๆ เด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนทำ Social Enterprise เป็นสตาร์ทอัพ หรือคนที่รับช่วงต่อธุรกิจจากคุณพ่อคุณแม่

 

ทิม พิธา
ทิม พิธา

หากระดุมที่มองไม่เห็นก่อน มองหา passion และ problem ของคุณ

สภาพแวดล้อมและโครงสร้างสังคมไทย เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่มี Entrepreneur Mindset เติบโตมากแค่ไหน

        ปัญหาคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ถ้าคนสองคนทำธุรกิจเหมือนกัน ไอเดียเหมือนกัน แต่คนละนามสกุลหรือเกิดมาบนคนละรหัสไปรษณีย์ ระบบทุนผูกขาดที่เกิดขึ้นจะเปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งสำเร็จมากกว่าอีกคนหนึ่ง ถ้าผมโตมาที่โรงเรียนหนึ่ง แล้วเป็นเพื่อนกับลูกหลานเจ้าของธุรกิจค้าปลีกบางแห่ง ทำให้ผมสามารถขายสินค้าได้ทั่วประเทศไทย กับอีกคนที่เติบโตมาในระบบที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง จะเอาของที่มีไปขายที่ไหนก็ไม่รู้ หรือเวลาที่ผมไปเจอเกษตรกร เขาก็บอกว่าแปรรูปสินค้าเกษตรแล้วไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ต้องให้รัฐมาช่วยมาอุ้ม ต้องมีคนมาเชื่อมถึงจะขายสินค้าของตัวเองได้ 

        ในขณะเดียวกันทุกวันนี้มี Digital Disruption ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงที่สุด และเราก็ต้องยอมรับว่าคนที่มีโอกาสมากกว่า การทำธุรกิจของเขาอาจจะเหมือนกำลังขึ้นลิฟต์ กับอีกคนที่ต้องปีนบันไดขึ้นมา การได้มาซึ่งความสำเร็จก็ต่างกัน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากเข้ามาเล่นการเมือง การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงโอกาสและทรัพยากร เป็นจุดหนึ่งที่พรรคอนาคตใหม่โฟกัสมาตลอด

ความเหลื่อมล้ำที่ว่ามีในเรื่องใดอีกบ้าง

        ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องความไม่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่เรื่องที่คน 1% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 90% ในประเทศนี้ แต่คือระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบคมนาคมที่ทำงานให้คนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ทำงานให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง จนทำให้คนอีกกลุ่ม—ไม่ว่าคุณทำงานหนักมากแค่ไหน ทำงานเหนื่อยแค่ไหน ก็ไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับลูกคุณได้ สังคมในอุดมคติ ถ้าคุณขยันและเล่นตามเกม คุณน่าจะดูแลครอบครัวและคนที่คุณรักได้ สิ่งนี้คือความไม่เหลื่อมล้ำในมุมมองผม ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องใส่เสื้อเหมือนกันกินข้าวเหมือนกัน มีเงินเท่าๆ กัน

        ผมเคยไปเที่ยวคิวบา แล้วออกไปในเมืองเห็นคนใส่เสื้อเหมือนๆ กัน แต่งตัวเหมือนกัน กินกล้วยเหมือนกัน อันนี้ก็ไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียม ต้องเข้าใจตรงนี้ว่าเราไม่ควรโฟกัสที่ความเท่าเทียมตรงปลายทาง แต่โฟกัสความเท่าเทียมตรงต้นทาง เรื่องของโอกาส ทรัพยากร คิดว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ

คุณคิดว่าโครงสร้างอะไรในประเทศไทยที่กดทับ Entrepreneur Mindset ของคนไว้มากที่สุด

        คือเรื่องกระดุม 5 เม็ดที่ผมเคยอภิปรายไป ทุกอาชีพทุกคนมีกระดุมของตัวเอง คำว่ากระดุม 5 เม็ด มันคือการจัดระเบียบ จัดความเร็วช้าหนักเบา หรือความสำคัญในการแก้ปัญหา entrepreneur ในประเทศไทยก็มีปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น การกระจุกตัวของทรัพย์สิน ทำให้หลายๆ คน ที่มีความฝันที่ดีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะจริงๆ ถ้าคุณทำธุรกิจคุณควรจะ กู้แบงก์ได้ แล้วคุณคิดว่าคนที่กู้แบงก์ได้ในประเทศไทยมีสักเท่าไหร่กัน ทรัพย์สินที่เป็น พื้นฐานที่สุดคือเรื่องของที่ดินที่เอาไปกู้ยืมได้ หรือเรื่องความห่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ ทีนี้พอมีเงินกู้มีอะไรก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะทำธุรกิจได้เลยอีก ต้องมาหาวิธีสร้างธุรกิจของคุณ หาวิธีทำให้แตกต่าง ทำให้ลูกค้าพอใจ ก็วนกลับมาว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของคุณใหม่ ชัด โดน ก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง

        แน่นอนว่าระบบการศึกษาภาครัฐ กระทรวงศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมี แบรนดิ้งใหม่ๆ ที่แตกต่าง หรือว่ามีนวัตกรรมที่ใหม่ๆ เพราะว่าการทำธุรกิจแบบสมัยรุ่นพ่อ รุ่นแม่เรา ที่คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุดทำยากแล้ว ในวันนี้เพราะมีธุรกิจจากจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เข้ามาในประเทศเต็มไปหมด เขาใหญ่กว่าเยอะ ทุกวันนี้ทำธุรกิจแบบ Economy of Scale แข่งเรื่องสเกลและต้นทุนไม่ได้ ต้องทำแบบ Economy of Speed หรือ Economy of Style เอาเรื่องความเร็ว เอาเรื่องความต่างของวัฒนธรรมเข้ามาเป็นจุดเด่น

แล้วถ้าจะกลัดกระดุม คุณคิดว่าควรเริ่มจากกระดุมเม็ดไหนก่อน

        หากระดุมที่มองไม่เห็นก่อนมองหา passion และ problem ของคุณ ต้องยอมรับ ว่าบางคนมีกระดุมครบทั้ง 5 เม็ดนะ มีทั้งที่ดินมีทั้งทรัพย์สิน การเข้าถึงธนาคารได้ดอกเบี้ยที่ถูก แต่เขาไม่ได้ชอบในสิ่งที่ทำหรือว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ตอบปัญหาอะไร ก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะไม่เป็นไปตามที่เขาหวังได้ ผมว่า passion และ problem คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นแก่นในการทำธุรกิจ และเป็นคำตอบ ว่าทำไมถึงอยากทำ

         เวลามีคนเดินมาหาผม ถามคำถามโลกแตกว่าควรจะลาออกจากงานประจำที่มีเงินเดือนมั่นคงมาทำธุรกิจเปิดร้านกาแฟดีไหม ผมจะบอกเขากลับว่า ตอบตัวเองว่าทำไมถึงอยากทำก่อน ถ้าเขาบอกว่า นี่คือแพสชันของเขา เขาพร้อมจะเสี่ยงกับมัน นี่คือสิ่งที่ทำให้กระดิ่งในใจดังขึ้นได้ และรายได้ที่ได้จากการเปิดร้านกาแฟแบบนี้น้อยกว่ารายได้จากการทำงานเอกชน 20% พอคำนวณดูแล้วเขาว่าพอจะทำได้ ถ้าเขาพูดแบบนี้ ผมบอกเลยว่าคุณทำเลย คุณควรจะไปเป็น entrepreneur แต่ถ้ามีคนเดินมาบอกว่าอยากทำอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วผมถามกลับไปว่าทำไมแล้วตอบไม่ได้ ความเป็น entrepreneur แยกกันออกตรงนี้แหละว่าเขารู้ว่าตัวเองจะทำอะไรหรือเขาอยากจะทำอย่างนี้เพราะอยากจะแก้ปัญหาอะไร นี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด

พอพูดถึงแพสชัน คนมักจะคิดว่าต้องเป็นเรื่องที่ทำให้มีความสุขหรือสนุกอย่างเดียว ความหมายจริงๆ ของคำนี้คืออะไร

        เราต้องนิยามคำว่าแพสชันก่อนว่าสิ่งนั้นต้องไม่ง่าย ถ้าเป็นอะไรง่ายๆ อาจจะเป็น enjoyment ผมชอบวาดรูปสีน้ำมัน อันนี้คือ enjoyment ของผมว่าโอเค ทำแล้วรู้สึกได้อยู่กับปัจจุบัน เหมือนได้นั่งสมาธิ ได้สนุกกับการศึกษาการวาดรูป เรียนรู้เทคนิค แต่ถามว่าเป็นแพสชันของผมไหม ก็คงไม่ใช่ จะให้ผมนั่งวาดทั้งวันไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ไหวเหมือนกัน แพสชันของผมคือการได้แก้ปัญหา คือการได้พัฒนาอะไรสักอย่าง ได้รู้ว่ามีปัญหาอะไรแล้วมานั่งคิดแล้วก็แก้ไปทีละข้อ ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนมีแพสชันกับเรื่องอะไร แต่ถ้าโฟกัสที่ความง่าย ผมว่าไม่น่าใช่แพสชันนะ

แยกยากเหมือนกันนะ ระหว่าง enjoyment กับ passion 

        ยกตัวอย่างเวลาคุณดูหนังที่คุณรู้สึกว่าดูได้เป็นร้อยๆ รอบ กับหนังที่คุณดูแล้วรู้สึกดีแล้วผ่านไป แพสชันคือสิ่งที่เราทำได้เรื่อยๆ ไม่คิดจะเปลี่ยน ไม่คิดจะเบื่อ แต่สำหรับเรื่องนี้ ผมคิดว่าคนที่ไม่มีก็ไม่ผิด เพราะตอนเด็กๆ ผมก็โดนพวกญาติผู้ใหญ่ ญาติคุณพ่อคุณแม่ถามว่าโตขึ้นอยากทำอะไร ผมก็ตอบไปเลยว่า ผมไม่รู้ ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ทั้งหมด แค่อยากจะลองถูกลองผิดไปเรื่อยๆ

        ส่วนตัวปีนี้ผมอายุ 40 ถ้าคิดตามค่าเฉลี่ยอายุ คนไทยคือ 70 ปี ผมมีเวลาเหลืออีก 30 ปี ผมก็อยากลองผิดลองถูกอีกสัก 3 ครั้ง อยากจะลองทำงานการเมือง ทำเรื่องการพัฒนาบ้านเมืองสัก 10-20 ปี แล้วก็คิดว่าจะไปเป็นอาจารย์ แล้วสุดท้ายบั้นปลายคงไปอยู่ที่ฟาร์มที่มีอยู่แล้วที่ประจวบคีรีขันธ์ ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ผมไม่ได้มีแพสชันที่อยากทำสิ่งใดสิ่งเดียวไปตลอดชีวิต ไม่ได้อยากเป็นนักเทนนิส เป็นนักกอล์ฟ หรือทำอะไรสิ่งเดียวได้ แล้วก็คงไม่ได้เป็นนักการเมืองจนวินาทีสุดท้ายเช่นเดียวกัน

        มันเป็นเรื่องของเวลาและความรู้สึกด้วยแพสชันของคนเราเปลี่ยนกันได้ แล้วหากไม่มีก็ไม่ได้แปลกอะไร บางทีไปบังคับมากเกินไปว่าทุกคนต้องมี อันนี้ก็ไม่เป็นธรรมชาติ แล้วก็ทำให้เด็กที่เขาไม่มี รู้สึกว่าไม่มี ที่ยืนให้เขา ผมเองตอนเด็กๆ ก็เคยโดนมาแล้วเลยไม่อยากให้เขาต้องโดนอะไรแบบนั้นด้วย อย่างที่บอกว่าใช้ชีวิตให้มัน satisfying อาจจะดีกว่า success เพราะบางทีประสบความสำเร็จอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ ก็ต้องเลือกตรงนี้

 

ทิม พิธา
ทิม พิธา

ทางตันของความฝันอาจจะเป็นสถานที่หรือเวลาก็ได้ ความฝันเราอาจจะอยู่ที่สถานที่นี้ แต่ว่าเวลายังมาไม่ถึง

ผมรู้สึกว่าพ่อแม่ยุคก่อนเลี้ยงลูกด้วยความกลัว มักเอาความกลัวของตัวเองไปใส่ให้ลูก

        ใช่เลย ยิ่งเป็นพ่อคนผมยิ่งรู้เลย บอกกับตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตลูก เขาเกิดมามีชีวิตของเขาเอง ในเวลาของเขาเอง ในพื้นที่ของเขาเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาสิ่งที่เราเคยทำพลาดมาใส่ให้เขา หรือเอาสิ่งที่เราทำสำเร็จมาใส่ให้เขาสำเร็จ ผมพยายามเลี้ยงพิพิมให้ธรรมดาที่สุดและเป็นธรรมชาติที่สุด เขาจะชอบหรือไม่ชอบอะไรให้โอกาสเขาลอง แต่จะไม่มีการบังคับว่าลูกต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ นี่เป็นสิ่งที่ต้องคอยบอกตัวเองตลอดเวลา ผมยังจำได้ถึงชีวิตตอนเด็ก คุณพ่อคุณแม่ผมเป็นคนน่ารัก แล้วก็เลี้ยงผมมาอย่างดี แต่ก็เป็นวิธีเลี้ยงอีกแบบหนึ่ง เลี้ยงมาด้วยความกลัว โดยรวม กลัวจะไม่ได้ดี นั่นก็เป็นความหวังดีของเขา แต่ผมคิดว่าทุกวันนี้เด็กเก่งกว่าเราแล้ว เขารู้อะไรได้เร็วกว่าเราเยอะ ผมในวัย 40 ก็มีหลายเรื่องที่ตามไม่ทันเด็กอายุ 20 ไม่ว่าเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการเข้าถึงข้อมูล

เราจะปลดปล่อยศักยภาพเด็กรุ่นใหม่ที่มี Entrepreneur Mindset ได้อย่างไร

        ต้องทำอย่างไรให้เขาสามารถได้ return อย่างที่เขาอยากได้มากที่สุด และ risk น้อยที่สุด หรือตกเหวลงไปให้เขาสามารถกลับขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเหมือนคนรุ่นเก่าที่ต้องลงลึกไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ แล้วหากำลังใจกลับมาใหม่ให้ได้ เป็นจุดที่ผมกับ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือสมาชิกในพรรคพูดกันเยอะ เรื่องรัฐสวัสดิการ ที่อย่างน้อยให้ประชาชนไม่ต้องห่วงเรื่องลูกของตัวเองมาก ไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพมาก ไม่ต้องห่วงเรื่องคมนาคมมาก ให้เขาไปตามความฝันของตัวเองได้ พรรคอนาคตใหม่จะพูดตลอดเวลาว่างบประมาณที่ไม่มีความจำเป็น มันสามารถเอามาทำอย่างไรเพื่อหล่อเลี้ยงกลุ่มคนที่เขามีความฝัน ให้เขาไปตามความฝันนั้นได้ และถ้าเกิดเขามีความฝัน มีกลยุทธ์แล้ว เขาเล่นตามกฎตามกติกาเรียบร้อยแล้วอย่างน้อยที่สุดเขาควรจะมีชีวิตอยู่ได้

        ประเทศไทยไม่ควรจะเป็นประเทศที่มีคนสู้จนสุดชีวิต ทำงานหลังขดหลังแข็ง ถอนหญ้าปลูกผักแล้วไม่สามารถมีชีวิตที่ดีในระดับหนึ่ง เทียบกับทรัพยากร ศักยภาพ และภูมิศาสตร์ที่เรามี ถ้าอยู่ขั้วโลกเหนือหรืออยู่ในทะเลทราย หรือถ้าเราเป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีน้ำกินในประเทศและต้องนำเข้า นั่นคงเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ แต่เราเกิดมาในประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอเมริกาและจีน และมีอาเซียนถ่วงดุลอยู่ตรงกลาง 600 ล้านคน ถ้าเราจัดการดีๆ น่าจะทำให้คนมีความหวังขึ้นมาได้มากกว่าทุกวันนี้ว่ากันตามจริงแล้ว แค่เราจัดสรรทรัพยากรหลายอย่างในประเทศใหม่ ทำให้คนเข้าถึงกันถ้วนหน้า ก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อยเลย

        เวลาพี่น้องประชาชนมาเล่าปัญหาของเขาให้ฟัง ทุกครั้งที่ได้ฟังปัญหา ผมก็จะเห็นศักยภาพของพวกเขาไปพร้อมกันด้วยเห็นศักยภาพทางการเกษตร เรามีน้ำที่สามารถทำนาทำไร่ได้ถึงสองครั้งต่อปี มีสับปะรดราคาถูกมากมายมหาศาล มีมะม่วงคุณภาพสูงที่สามารถทำบรั่นดีแข่งกับเม็กซิโกได้ ถ้าไม่มีกฎหมายมากดไว้ และมีอีกหลายๆ อย่างที่ถ้าปลดล็อกได้ ก็จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้ แล้วก็ทำให้เขากล้าคิดได้มากกว่านี้ ทุกวันนี้เขาบอกว่าทำนาข้าว แต่อยากเปิดโรงเรียนชาวนาเชิงท่องเที่ยว แต่เขาไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน เลยไม่สามารถเปิดโรงแรมได้เพราะติด พ.ร.บ. ถ้าไม่มีกรรมสิทธิ์จะขอไฟฟ้ายังไม่ได้เลย สิ่งเหล่านี้ก็ดับฝันคนได้ง่ายๆ ด้วยข้อกฎหมายไม่กี่ข้อ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแก้ไขไปทีละข้อ

คุณว่าคนเราได้เรียนรู้จากชีวิตในช่วงเวลาใดมากที่สุด

        ความสำเร็จคุณไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเท่าไหร่หรอก ตอนที่คุณประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ธรรมชาติของมนุษย์จะฉลอง แต่เวลาที่ชีวิตเจอกับนรกส่วนตัว ผมเรียกว่า private hell ช่วงนั้นแหละถ้าผ่านขึ้นมาได้ ถ้าเราลงไปลึกมากพอในจิตวิญญาณของตัวเอง จากนั้นตัวตนของคุณจะค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ศักยภาพจะถูกดึงออกมามากขึ้น อะไรที่คิดว่าทำไม่ได้จะทำได้

ความเจ็บปวดหรือความทุกข์จะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้

        เราต้องยอมรับความเจ็บปวดให้ได้ก่อน เวลาที่ผมเจออะไรที่ปวดร้าว แล้วต้องลงลึกเข้าไปในใจของตัวเองเพื่อหาพลังให้เจอ ยกตัวอย่างตอนที่หาเสียงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมก็มีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวด้วยการที่จะเป็นทั้ง ส.ส. พ่อลูกอ่อน เป็นทั้งพ่อม่ายด้วย เป็นทั้งพ่อเลี้ยงเดี่ยวด้วย เป็นอะไรที่ต้องใช้แรงมหาศาลพอสมควร ต้องลงลึกไปในจิตใจของตัวเองและเอาพลังออกมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้ ทุกครั้งที่ผมต้องลงลึกเข้าไป ผมก็จะคิดถึงไอ้ถ้วยชามแตกๆ ที่ผมเห็นในพิพิธภัณฑ์วันนั้น ทำให้ผมค่อยๆ เดินมาได้ถึงทุกวันนี้ และกลับมาเป็นตัวเองคนเดิมอีกครั้ง คนที่สภาเขาจะล้อผมว่าเป็น ส.ส. พ่อลูกอ่อน (หัวเราะ) เพราะว่าบางครั้งต้องเอาลูกไปนั่งเล่นที่สภาบ้าง เอาไปวิ่งเล่นที่สนามหญ้าหน้าสภา แต่ชีวิตก็ไปได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมตั้งไว้ คือเป็นพ่อม่ายที่มีความสุขที่สุดในโลก เข้าใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต กับอีกด้านก็คือเป็น ส.ส. ที่ดี เป็น ส.ส. ทั้งในสภาและข้างนอกสภา เป็น ส.ส. ที่ตั้งใจทำการบ้านและเข้ามาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน

มีคำแนะนำไหมสำหรับใครก็ตามที่ตอนนี้กำลังอยู่ในนรกของตัวเอง

        ไม่ต้องแนะนำ ผมมั่นใจว่าทุกคนต้องมีนรกของตัวเอง ไม่ว่าจะรวยล้นฟ้าแค่ไหน และมันเป็นนรกส่วนตัวของคุณผมแนะนำไม่ได้

แล้วคุณคิดว่านรกของเด็กยุคนี้คืออะไร

        นรกส่วนตัวของเด็กรุ่นใหม่คืออยากจะเป็นตัวเอง แต่กลัวที่จะโดนล้อ อยู่กับคนหลายๆ คนแล้วรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว ความรู้สึกว่าอยากจะปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเองออกมา แต่กังวลว่าพ่อแม่จะว่าไหม เพื่อนจะล้อไหม โซเชียลมีเดียจะว่าอะไร ซึ่งต้องให้กำลังใจกันว่านรกแบบนี้มีกันทุกรุ่น อย่างผมก็มี ตื่นขึ้นมาแล้วอยากจะนอนโง่ๆ ริมทะเลตลอดเวลา แต่อย่างที่บอกว่าบางคนที่เขาเจอแล้วลงลึกไปในหัวใจ และกลับมามีสติได้ แต่ถ้าคุณยอมแพ้กลางทางก็ไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะมีคนอยู่สองแบบ

คุณรู้สึกอย่างไรเวลาที่ได้ยินคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่บอกว่าอยากหนีไปจากประเทศนี้

        (หัวเราะ) ผมนึกออกๆ แล้วก็จะมีลิสต์ 10 ประเทศที่ถูกที่สุดที่คุณจะไปใช้ชีวิต แต่เอาจริงๆ ผมรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ต่อต้านหรือไม่ได้สนับสนุน ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะทำได้ แล้วผมก็มั่นใจว่าคนที่อยากจะไป พอไปจริงแล้วอยากจะกลับเมืองไทยก็มี ผมมองว่าเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องต่อต้านหรือคลั่งชาติแล้วบอกว่าคิดแบบนี้กับประเทศไทยได้อย่างไร ผมเชื่อว่าธรรมชาติมีทางของมัน ถ้าอยากไปเดี๋ยวคุณก็ไป ถ้าอยากกลับ เดี๋ยวคุณก็กลับเท่านั้นเอง ไปลองผิดลองถูกดู ส่วนตัวผมได้ไปอยู่มาหลายประเทศและยังคงรักเมืองไทย บางช่วงก็คิดว่าอยากไปอยู่ที่ใหม่ๆ บ้าง อยากไปอยู่ป่าที่สวีเดน แต่ว่าตอนนี้ก็ยังรักบ้านยังรักเมืองไทยอยู่เพราะไปอยู่เมืองนอกมานาน

คนที่คิดจะหนีไป อาจเป็นเพราะคิดว่าความฝันของเขาไม่สามารถเป็นจริงในบ้านเมืองนี้ด้วยหรือเปล่า

        คือทางตันของความฝันใช่ไหม แต่ทางตันของความฝันอาจจะเป็นสถานที่หรือเวลาก็ได้ ความฝันเราอาจจะอยู่ที่สถานที่นี้ แต่ว่าเวลายังมาไม่ถึง ก็ต้องดูว่าถ้าไม่ไหว ทนไม่ได้ อยากไปลองที่ใหม่ๆ ก็ไม่ผิดเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าไปที่นู่นแล้วจะได้ดั่งใจ เวลาอาจจะยังมาไม่ถึง เราควรจะลับมีดให้คมตลอดเวลา แล้วพอเวลามาถึงให้เราฟัน เราก็ต้องฟัน แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร พอโอกาสมาแล้วคว้าไม่ได้ อันนั้นน่าเสียดายกว่า

 

ทิม พิธา
ทิม พิธา

วันนี้ในบทบาทหน้าที่ ส.ส. คุณทิมมองการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในอนาคตอย่างไร

        คุณจะเอาขมๆ หรือเอาแบบหวานเคลือบน้ำตาลล่ะ

ขมเป็นยา ขอขมๆ ดีกว่า

         คนไทยเอาด้วยหรือเปล่า คนที่ไม่สามารถที่จะควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองในพื้นที่ที่ตัวเองเกิดมา หรือคนที่อยากกลับบ้านแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้ คนที่ไม่พอใจในระบบสาธารณสุขของตัวเอง คนที่ไม่พอใจในเรื่องของที่ดินทำกินของตัวเอง คนที่อยากที่จะเสียภาษีให้กับพื้นที่และใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นของเขาเอง ถ้าเขาตระหนัก และไม่ได้เป็นแค่ประชาชนแต่มีความเป็นพลเมืองพอ ผมว่าจะให้ขมแค่ไหน จะมีมาตราไหนไม่ให้แก้ หรือจะยากแค่ไหน ประวัติศาสตร์การเมืองทั้งโลกและในไทยพิสูจน์แล้วว่า ถ้าประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่านี่คือประชามติใหม่ พอแล้วกับการมากระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ที่นี่งบประมาณมารวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วกระจายโอกาสออกไป ไม่ว่าจะขมแค่ไหน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับไหน และเป็นอำนาจอะไรที่รวมกันมากี่ปี การเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้

ฟังแล้วขมจริงๆ นะ เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นแค่ม็อบแฮชแท็กจริงๆ

        (หัวเราะ) คืออย่าไปมองให้ขมมาก มองเป็นประวัติศาสตร์ในหนังสือ มองเหมือนหนังที่เราดู คุณก็จะสนุกกับการเมืองมากขึ้น แต่ถ้าคุณคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องขมๆ เคร่งเครียด คุณจะดูได้แป๊บเดียวแล้วจะเบื่อ แล้วตอนที่คุณเบื่อ ตอนนั้นล่ะที่คนที่มีอำนาจเขาจะใช้อำนาจตอนที่คุณไม่สนใจ ตอนที่คุณไปสนใจดราม่าเรื่องนู้นเรื่องนั้น ตอนนั้นเขาจะผ่าน พ.ร.บ. ที่คุณไม่ต้องการ เขาจะใช้วิธีแบบนี้ทำอย่างไรให้เจ้าของอำนาจเบื่อการใช้อำนาจ เมื่อประชาชนเป็นแค่ประชาชนไม่ใช่พลเมือง แล้วเบื่อเมื่อไหร่ นั่นคือช่วงที่คน 1% ใช้อำนาจเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ขึ้นมา

        ถามตัวเองว่าคุณสนใจชีวิตตัวเองมากแค่ไหน แล้วคุณเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาแค่ไหน ว่าระบบรัฐสภาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวคุณเองได้ แล้วคุณอดทนพอหรือเปล่า ผมอดทนพอ แล้วคุณอดทนพอหรือเปล่าที่จะสู้ไปด้วยกัน แล้วก็กระจายความเชื่อนี้ออกไป 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0