โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทำไร่นาสวนผสมของหนุ่มชัยนาท แนวทางลดความเสี่ยงด้านการผลิตและตลาด

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 09.40 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 09.40 น.
13 สวนผสม

การทำไร่นาสวนผสม เป็นการจัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงาน และใช้ปัจจัยการผลิตให้สอดคล้องผสมผสานและเหมาะสมเพื่อพัฒนาการเกษตรที่หลากหลายทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์หรือทำประมง ที่นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด ทำให้มีผลผลิตออกมาต่อเนื่อง เป็นอาหารบริโภคและมีรายได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้ครัวเรือนเกษตรกรก้าวสู่วิถีการยังชีพที่มั่นคง

คุณชมพูนุช หน่อทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า ประชากรจังหวัดชัยนาทส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม จึงได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์หรือทำประมง ส่งเสริมให้จัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงานหรือปัจจัยการผลิตที่ผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงภัยจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและศัตรูพืช

ส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ หรือผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ ส่งเสริมลดต้นทุนการผลิตเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนให้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง

คุณชยันต์ พิทักษ์พูลศิลป์ เกษตรกรทำไร่นาสวนผสม เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ 18 ไร่ แบ่งทำไร่นาสวนผสม 5 ไร่ และทำนา 13 ไร่ ได้จัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงานหรือใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสานเหมาะสม และได้ดำเนินการ ดังนี้

มะม่วง ได้ปลูกมะม่วง 80 ต้น แบ่งเป็นปลูกมะม่วงเขียวเสวย 40 ต้น แก้วขมิ้น 30 ต้น และน้ำดอกไม้ 10 ต้น ใช้วิธีทยอยปลูก เมื่อเก็บผลมะม่วงขายทำให้มีรายได้ 15,000-50,000 บาท ต่อปี ที่ยังไม่ได้หักต้นทุนการผลิต

ส้มโอขาวแตงกวา ได้ปลูกส้มโอขาวแตงกวา ไม้ผลเฉพาะถิ่นของจังหวัดชัยนาท ที่มีลักษณะเนื้อกุ้งใหญ่ แห้ง หวานอร่อย ปลูกเพื่อบริโภคหรือแบ่งปัน ถ้าได้ผลผลิตมากก็ขายเป็นรายได้ ปกติจะขาย 40-45 บาท ต่อกิโลกรัม

มะนาว ปลูกมะนาวพันธุ์แป้นรำไพและแป้นบ้านแพ้ว รวม 20 ต้น ปลูกมา 5-6 ปี ให้ผลผลิตแล้ว เน้นขายผลผลิตในฤดูแล้งหรือช่วงเดือนเมษายน ซึ่งจะขายได้ตั้งแต่ราคา 2 บาท ต่อผลขึ้นไป

มะละกอ ได้ปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ 200 ต้น ปลูกตามแนวขอบสระน้ำหรือปลูกเป็นพืชเสริม ส่วนใหญ่ขายเป็นผลดิบเพื่อนำไปทำส้มตำ

มะพร้าว ได้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวแกง 30 ต้น มะพร้าวแกงจะใช้เวลาการดูแลรักษานานจึงจะเก็บผลได้ ส่วนมะพร้าวน้ำหอมหลังจากปลูกมีอายุได้ 3 ปีขึ้นไป ก็เริ่มเก็บผลมะพร้าวอ่อนไปขายราคา 10 บาท ต่อลูก

ไผ่ ได้ปลูกไผ่หลายกอ เพื่อให้เป็นไม้ใช้สอย และตัดเก็บหน่อไม้มาเป็นอาหารครัวเรือนและขาย

หลุมปลูก ไม้ผลทุกชนิดได้ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักแห้งหรือปุ๋ยคอกแห้งแล้วนำต้นพันธุ์ลงปลูก เกลี่ยดินกลบ แล้วให้น้ำพอชุ่ม

การปฏิบัติดูแลรักษา มะม่วงที่ปลูกได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ มูลไก่/วัวผสมกับแกลบดิบ โดยซื้อมูลมาจากฟาร์ม 20 บาท ต่อกระสอบปุ๋ย กระสอบปุ๋ยละ 20-30 กิโลกรัม 1 ต้นจะใส่ 4-5 กระสอบ เมื่อปุ๋ยย่อยสลายหมดแล้วจึงใส่ใหม่หรือใส่ปีละ 2 ครั้ง ส่วนไม้ผลชนิดอื่นได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คือ มูลไก่/วัวผสมกับแกลบดิบ อัตราส่วนการใส่พิจารณาตามความเหมาะสม เช่นกันเมื่อปุ๋ยย่อยสลายหมดแล้วก็ใส่ใหม่หรือใส่ปีละ 2 ครั้ง และหลังการใส่ปุ๋ยจะให้น้ำแต่พอชุ่ม

พืชผัก ได้ปลูกพืชผักหลายชนิด ได้แก่ ฟักแฟง แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว ได้ทำเป็นซุ้มปลูก 5 ซุ้ม ขนาดกว้างและยาวด้านละ 5 เมตร ได้ยกดินแปลงปลูกกว้างและยาวตามแนวซุ้ม ทำร่องระบายน้ำหรือให้เป็นทางเดิน การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ใส่ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม และหลังการใส่ปุ๋ยจะให้น้ำแต่พอชุ่ม ผลผลิตผักที่เก็บเกี่ยวได้นอกจากจะเป็นอาหารครัวเรือนแล้วส่วนหนึ่งนำไปขายตลาดนัด ทำให้มีรายได้ 300-500 บาท ต่อครั้ง

เลี้ยงปลา ได้จัดการพื้นที่ให้มีบ่อเลี้ยงปลา 4 บ่อ/สระ มีทั้งเป็นบ่อใหญ่และบ่อเล็ก ได้ปล่อยเลี้ยงมีปลานิล ปลาหมอ ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาสลิด และปลายี่สก ได้ปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติ พร้อมกับให้อาหารสำเร็จรูปเสริมวันละครั้ง ครั้งละ 3 ถ้วยก๋วยเตี๋ยว หรือ 2-3 กิโลกรัม เมื่อปลาที่บ่อเล็กมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นจะจับปลามาเป็นอาหารครัวเรือน ส่วนปลาในบ่อใหญ่ได้ปล่อยเลี้ยงไว้ก่อนและจะจับเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน พร้อมกับนำไปขายที่ตลาดนัดบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา

เลี้ยงกบ ได้ทำบ่อเลี้ยงกบ 1 บ่อ โดยนำกระเบื้องมุงหลังคาเก่าเหลือใช้มาจัดวางที่ขอบบ่อให้สูงขึ้น ป้องกันกบกระโดดออก พร้อมกับปล่อยลูกกบลงเลี้ยง 20-30 ตัว เมื่อกบตัวโตขึ้นก็จับมาเป็นอาหารครัวเรือนหรือแบ่งปัน

ทำนา ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำนา 13 ไร่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร บรรจุใส่ถุงแบบสุญญากาศน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ขายส่งราคา 50 บาท แต่ละฤดูก็จะมีรายได้ 150,000-200,000 บาท เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการผลิต

นาบัว ได้ทำนาบัว 1 งาน สายบัวที่เก็บได้นำไปขายตลาดนัดสายละ 1 บาท ก็จะมีรายได้ 300 บาท ต่อครั้ง

การทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมัก ได้ทำน้ำหมักชีวภาพสูตร พด.2 และทำปุ๋ยหมักสูตร พด.1 เพื่อนำมาใช้ในไร่นาสวนผสม ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ได้ผลผลิตปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และมีรายได้มากขึ้น

แรงงาน ไม่ได้จ้างแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในครัวเรือน เพราะเป็นงานทำไม่ยาก ทำแล้วสนุก

ตลาด ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ส่วนหนึ่งนำมาเป็นอาหารในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งจะมีพ่อค้าที่คุ้นเคยกันเข้ามาซื้อเพื่อนำไปขาย และอีกส่วนหนึ่งได้นำไปขายที่ตลาดนัด ทำให้ในแต่ละวันมีรายได้จากการขายผลผลิตตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป การตัดสินใจทำไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีพได้ด้วยวิถีที่มั่นคง

ศูนย์เรียนรู้ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทได้พิจารณาคัดเลือกการทำไร่นาสวนผสมแปลงนี้ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบ สำหรับเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับรายได้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

จากเรื่องราวการ ทำไร่นาสวนผสม…แนวทางลดความเสี่ยงด้านการผลิตและตลาด เพื่อก้าวสู่วิถีที่มั่นคง เป็นการใช้ที่ดินเต็มพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ใช้เงินทุนตามความจำเป็น ใช้แรงงานในครัวเรือนที่เหมาะสม และใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสาน ซึ่งผลงานที่ได้รับคือมีอาหารบริโภคและขายเพื่อเสริมสร้างรายได้ และนำไปสู่การยังชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณชยันต์ พิทักษ์พูลศิลป์ เลขที่ 263/1 หมู่ที่ 3 ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โทร. (086) 040-7686 หรือที่ คุณชมพูนุช หน่อทอง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โทร. (056) 476-720 ก็ได้ครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0