โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทำไม Google หนุนอาเซียนร่วมมือยุทธศาสตร์ดิจิทัล (Cyber Weekend)

Manager Online

อัพเดต 26 พ.ค. 2561 เวลา 01.02 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2561 เวลา 01.02 น. • MGR Online

คาริม เทมสมานิ ประธานฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Google เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อพูดคุยกับพันธมิตร พบปะกับครีเอเตอร์แถวหน้าของไทยที่มีความสามารถและพรสวรรค์ พร้อมแสดงท่าทีที่มุ่งมั่นของกูเกิลในการสนับสนุนอาเซียนรวมตัวกันเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ดิจิทิล

เขายกตัวอย่างเช่น ในอดีต 'นรชัย ลาภเปี่ยม' เป็นเพียงแค่มนุษย์เงินเดือนทั่วไปในบริษัทแห่งหนึ่งที่รับทำป้ายและจดหมายแจ้งข่าว ด้วยเหตุที่เขามีครอบครัวที่ต้องดูแลและมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงคิดหาหนทางสร้างรายได้เพิ่ม

จนในที่สุดก็ได้เปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมา โดยมีชื่อว่า 'แอ็ด เอ็คซไซท์ '(Ad X-Zyte) ซึ่งเป็นธุรกิจออนไลน์ที่รับผลิตป้ายทุกประเภท ปัจจุบันเขามีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยไม่ต้องมีหน้าร้านเลย

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการหลายราย นรชัยได้ค้นพบแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาท่องอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลก ซึ่งเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากผลการวิจัยของ Google และ Temasek พบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้ขยายตัวจาก 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วงปี 2558-2560 จากที่ได้สัมผัสจากการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกประทับใจกับพลังอันน่าทึ่งของระบบนิเวศดิจิทัลของไทย

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้พบปะกับครีเอเตอร์แถวหน้าของไทยที่มีความสามารถและพรสวรรค์หลายคน อย่าง ปลื้ม VRZO บิลลี่ เจ้าของช่อง Billbilly01 ซอฟ จากช่อง Softpomz ยุคดิจิทัลถือเป็นโอกาสทองของเหล่าครีเอเตอร์ที่จะได้เปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้กลายเป็นอาชีพจริง

ความก้าวหน้าลักษณะเดียวกันนี้กำลังแผ่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายและมีประชากรจำนวนกว่า 630 ล้านคนที่รวมตัวกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีในปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทุกคน

โดยในช่วงระหว่างปี 2533-2558 ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรที่มีขนาดใหญ่กว่าของเยอรมนี ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

ความมั่งคั่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดจากการมีพื้นฐานที่ดี ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญแต่อย่างใด ผู้นำของภูมิภาคนี้ต่างมุ่งมั่นให้เกิดสันติภาพและส่งเสริมการค้า วันนี้พวกเขากำลังสร้างประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นตลาดเดียว (single market) และฐานการผลิตที่กำลังจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2573 ความสำเร็จของอาเซียนแสดงให้เห็นว่ายิ่งเราร่วมมือกันก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

***อาเซียนต้องร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ดิจิทัล

ขณะเดียวกัน อาเซียนควรใช้บทเรียนนี้ในการเดินหน้าไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจีนและอินเดียได้ใช้นโยบายดิจิทัลเฟิร์ส (Digital First) และเติบโตแซงหน้าอาเซียนไปแล้ว เมืองต่างๆ เช่น บังกาลอร์ และปักกิ่ง กำลังกลายเป็นศูนย์กลางชั้นนำในด้านความสามารถและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของเอเชีย ฉะนั้นอาเซียนต้องพัฒนายุทธศาสตร์ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้

ประการแรก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรตระหนักว่าภาคดิจิทัลเป็นกลไกการเติบโตที่สำคัญ จากผลการวิจัยโดยความร่วมมือระหว่าง กูเกิล และ เทมาเส็ก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านเหรียญภายในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตปีละ 27% เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะขยายตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวมถึงห้าเท่า

ดังนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล มากกว่าต่างคนต่างทำ หากตลาดดิจิทัลของอาเซียนยังคงมีการแบ่งแยกออกไปก็จะทำให้พ่ายแพ้ต่อคู่แข่งรายใหญ่

ยิ่งอาเซียนมีการเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากเท่านั้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการพัฒนาการเข้าถึงธุรกิจในท้องถิ่นของลูกค้าในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาด้านเทคโนโลยีและระบบนิเวศน์

รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเกิดเรื่องราวความสำเร็จอย่างเช่น แอ็ด เอ็คซไซท์ (Ad X-Zyte) หากส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนของข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างเสรี ก็จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ภูมิภาคนี้ ซึ่งการปิดกั้นการหมุนเวียนของข้อมูลส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเรื่องภาษีที่ทำให้การค้าต้องชะงัก

การปรับสมดุลในเรื่องความแตกต่างของกฎระเบียบของชาติต่างๆ และการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำรายงานที่ซับซ้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต่างๆ สามารถลดต้นทุนทางธุรกิจและทำให้อาเซียนเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน ที่จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดย่อมจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีความเป็นหนึ่งเดียว วิสาหกิจขนาดย่อมถือเป็นกระดูกสันหลังของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันระบบนิเวศดิจิทัลก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้หากปราศจากพวกเขา

นั่นเป็นเหตุผลที่ Google ให้การสนับสนุนให้ผู้คนในภูมิภาคนี้มีความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น สำหรับในประเทศไทย กูเกิลได้ทำการฝึกอบรมนักเรียนมากกว่า 5,000 คนภายใต้โครงการ Google Ignite และในปีที่ผ่านมายังได้ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจและสังคมเพื่อจัดฝึกอบรมผู้จัดการชุมชนดิจิทัลจำนวน 3,000 คน โดยผู้จัดการชุมชนดิจิทัลเหล่านี้จะเป็นผู้ฝึกอบรมประชาชนใน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศไทยต่อไป

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง หากต้องการดำเนินการดังกล่าวต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า ภูมิภาคนี้จำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันเพื่อให้บรรลุถึงความสำเร็จ และมุ่งสู่โอกาสใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลในฐานะชุมชนใหญ่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่ง Google พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาประเทศอาเซียนที่มีความเข้มแข็งและมีการเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอย่างเต็มที่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0