โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไม ‘เสก โลโซ’ ครองเรตติ้งถล่มทลาย วิเคราะห์คอนเทนต์ที่เลือกใช้ และอุปนิสัยการใช้งานโซเชียลมีเดียไทย

THE STANDARD

อัพเดต 19 ส.ค. 2561 เวลา 18.26 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 13.18 น. • thestandard.co
ทำไม ‘เสก โลโซ’ ครองเรตติ้งถล่มทลาย วิเคราะห์คอนเทนต์ที่เลือกใช้ และอุปนิสัยการใช้งานโซเชียลมีเดียไทย
ทำไม ‘เสก โลโซ’ ครองเรตติ้งถล่มทลาย วิเคราะห์คอนเทนต์ที่เลือกใช้ และอุปนิสัยการใช้งานโซเชียลมีเดียไทย

ในวันที่เราเสพสื่อกันด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิม ศิลปินดาราเองก็ต้องปรับตัว เพื่อให้เข้ากับสังคมในยุคนั้นๆ เพื่อความอยู่รอด และยังคงสภาพให้ตัวเองอยู่ในกระแสได้นานขึ้น เช่นเดียวกับนักร้อง-นักแต่งเพลงในตำนานอย่าง เสก โลโซ หรือเสกสรรค์ ศุขพิมาย ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในวงการดนตรีตั้งแต่ปี 2539 และแม้เวลาผ่านไปถึง 21 ปี ถ้าพูดถึงชื่อ เสก โลโซ ตอนนี้ทุกคนต้องรู้จัก เพราะเขาได้ผันตัวจากศิลปินที่เดินสายออกทัวร์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ กลายมาเป็นเจ้าแห่งการไลฟ์บนเฟซบุ๊ก เป็นเจ้าของเพจที่มียอดคนกดไลก์ที่ 5.4 ล้านคน ติดอันดับที่ 5 ของเพจคนดังที่มีคนไลก์สูงที่สุดในประเทศไทย!

 

อะไรทำให้เพจของศิลปินยุคปลาย 90 โด่งดังได้ขนาดนี้ในยุค 2018? เราอาจต้องวิเคราะห์อุปนิสัยการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทย และคอนเทนต์ที่เสกเลือกใช้แต่ละครั้ง ประเภทของคอนเทนต์ ตั้งแต่การเขียนสเตตัส ไปจนถึงวิดีโอยอดฮิตที่มาจากการไลฟ์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งมียอดวิวแตะล้าน จนแทบจะมียอดวิวรวมหลังไลฟ์เสร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 280,000 วิว ในแต่ละวิดีโอ!

 

คนไทยใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์สูงที่สุดต่อวันเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ประมาณคนละ 9 ชั่วโมง 38 นาที

เพราะคนไทยเล่นเฟซบุ๊กเยอะ ใช้เวลาออนไลน์สูงสุดต่อวันอันดับหนึ่งของโลก

จากผลการรายงานของมีเดียเอเจนซีสัญชาติอังกฤษ We Are Social และ Hootsuite ประจำปี 2018 พบว่า ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกสูงถึง 4 พันล้านคน และมีคนจำนวนกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก ที่หันมาใช้โซเชียลมีเดีย และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ที่เริ่มใช้โซเชียลมีเดียเป็นครั้งแรก นั่นหมายถึงทุกๆ 1 วินาที บนโลกเรามีคนสร้างแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียเพิ่มถึง 11 คน โดยอัตราการเติบโตนี้เห็นได้ชัดมากในประเทศแถบบ้านเราเสียด้วย เพราะฝั่งเอเชียตอนกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุด โดยประเทศไทยของเราก็ยังติดโผประเทศที่ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์สูงที่สุดต่อวันเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วย (อยู่ที่ประมาณ 9 ชั่วโมง 38 นาที)

 

นอกจากนี้ประเทศไทยที่มีประชากร 69.1 ล้านคน ก็มีจำนวนคนที่เข้าใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำถึง 51 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเอง โดยกรุงเทพมหานครได้กลายเป็นเมืองที่มีสถิติผู้ใช้เฟซบุ๊กสูงที่สุดในโลก และสถิติระดับประเทศ เมืองไทยของเราก็ติดอันดับที่ 8 ของโลกเช่นเดียวกัน

 

นั่นแปลว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยผูกพันอยู่กับโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟซบุ๊ก ทำให้การติดตามศิลปินผ่านเพจเฟซบุ๊กเป็นเรื่องปกติ ศิลปินที่มีเพจและมีความเคลื่อนไหวบนเพจบ่อยครั้ง ย่อมได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นธรรมดา นอกจากคนที่กดไลก์เพจศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบอยู่แล้ว ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่แม้ไม่ได้กดติดตาม ก็มีโอกาสที่จะเลื่อนไปเห็นโพสต์ วิดีโอ หรือไลฟ์ที่ถูกแชร์จากเพจศิลปินนั้นๆ ได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน

 

เสกเฟซบุ๊กไลฟ์เป็นประจำ เกือบจะทุก 2 ชั่วโมงในช่วงระหว่างวัน สลับกับโพสต์อื่นๆ บนเพจ เช่น การแชร์ข่าว ภาพนิ่ง หรือการโพสต์สเตตัสที่มีมากกว่าชั่วโมงละครั้ง ยิ่งเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่คลิปวิดีโอเหล่านั้นจะได้รับความสนใจจากแฟนเพจ และมีโอกาสที่จะได้รับการแชร์มากขึ้น

 

เสก โลโซ หยิบหลายประเด็นมาพูด โดยมักมีหัวข้อที่เกี่ยวกับการเมือง ความรักชาติ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหัวข้อที่จุดประเด็นได้ดีในโลกออนไลน์

เพราะคอนเทนต์ เสก โลโซ ถูกใจคนดู

เมื่อมาศึกษาคอนเทนต์บนเพจ SEK LOSO แล้ว พบว่า การไลฟ์ส่วนใหญ่เป็นการตั้งกล้องธรรมดา ไม่มีการตัดต่อ ไม่ใช้โปรดักชันอะไรยิ่งใหญ่ แต่เน้นที่ตัวผู้พูดเป็นหลัก เสกหยิบประเด็นหลายเรื่องมาพูด จากเรื่องหนึ่งโยงไปอีกเรื่องหนึ่ง โดยมักมีหัวข้อที่เกี่ยวกับการเมือง ความรักชาติ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหัวข้อที่จุดประเด็นได้ดีในโลกออนไลน์ ยิ่งการนำเสนอของเขาที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง เสียดสี แบบไม่ต้องกลัวโดนเซนเซอร์ หรือไม่ต้องเกรงใจ Content Provider เพราะเป็นคนนำเสนอคอนเทนต์เองทั้งหมด คอมเมนต์บางส่วนจากคนดูจึงเป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมของตัว เสก โลโซ

 

อีกส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ที่ เสก โลโซ เลือกนำเสนอคือ การเล่นดนตรีสดๆ พร้อมกีตาร์ 1 ตัว ด้วยฝีมือการเล่นดนตรีและดีกรีการเป็น King of Rock and Roll ของประเทศไทย ก็ต้องยอมรับว่า พาร์ตการเล่นดนตรีของเขาในไลฟ์หลายๆ ครั้ง น่าประทับใจมาก ทั้งการเล่นประกอบเพลงดังของศิลปินเมืองนอก หรือการด้นสดแบบที่ไม่ได้เขียนเนื้อหรือแต่งทำนองมาก่อน ซึ่งทำให้คอมเมนต์บางส่วนเป็นการขอเพลงจากศิลปินโดยตรง

 

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า ไลฟ์ของเขามีความตลกอยู่ด้วย ซึ่งเกิดจากทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจปะปนกันไป ด้วยความที่เป็นการไลฟ์ จึงมีเสน่ห์ของความสมจริง ไม่มีการเตรียมการ อีกทั้งบุคลิกของเขาที่ไม่ห่วงภาพลักษณ์หรือความคิดเห็นคนดู ทำให้เราได้เห็นการแสดงแบบคาดไม่ถึงหลายครั้ง ทั้งเนื้อเพลงหรือการพูดถึงบุคคลที่สามด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ แต่อาจจะฟังดูตลกสำหรับคนบางกลุ่ม

 

อย่างไรก็ตามภาพรวมของคอนเทนต์ในเพจ SEK LOSO ทั้งหมด น่าจะอยู่ในเกณฑ์สีเทา วิดีโอไลฟ์ที่มียอดวิวสูงมักเกี่ยวข้องกับการประพฤติตัวไม่เหมาะสม หรือเกินขอบเขตของเขา ซึ่งนั่นยิ่งเป็นการเพิ่มความนิยมให้กับเพจ คล้ายกับทฤษฎี Negativity Bias หรือมีอีกชื่อว่า Negativity Effect ที่หมายถึงสารหรือข้อมูลใดๆ ที่นำเสนอด้านลบ เช่น คำวิจารณ์ ข่าวร้าย การทะเลาะเบาะแว้ง มักส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจของผู้รับสารได้มากกว่าสารที่เป็นเรื่องบวก ซึ่งนั่นยิ่งเป็นการเร่งเร้าให้ผู้ชมไลฟ์เหล่านั้นอยากแสดงความเห็น อยากแชร์ และอยากนำไปพูดต่อมากยิ่งขึ้น

 

จิตวิทยาเบื้องหลังการแชร์คอนเทนต์ต่างๆ บนเฟซบุ๊กพบว่า คนเรามักจะนำเสนอในสิ่งที่ต้องการ และสิ่งที่นำเสนอนั้นก็จะสะท้อนภาพลักษณ์ของเรากลับมา

เพราะกระแสปากต่อปาก หรือ Viral Marketing

ต่อจากข้อที่ 2 ที่ว่าด้วยเรื่องคอนเทนต์สีเทาที่สามารถดึงแฟนเพจได้ตั้งแต่แฟนเพลงของเสก ผู้ที่ชื่นชมผลงาน ไปจนถึงคนที่ ‘ไม่ชอบ’ แต่ ‘อยากรู้จัก’ ให้มากดไลก์เพจ และเพิ่มความนิยมของเพจ SEK LOSO ได้

 

จะเห็นว่า เมื่อคอนเทนต์เหล่านั้นถูกหยิบมาเป็นประเด็นโดยคนกลุ่มเล็กๆ ก็จะกระจายไปยังคนกลุ่มที่มากขึ้น คนแชร์มากขึ้น คนพูดถึงมากขึ้น และในที่สุดคอนเทนต์ดังกล่าวก็จะถูกหยิบไปขยายต่อโดยสื่อต่างๆ คล้ายกับการที่แบรนด์หรือบริษัทใหญ่ๆ พยายามทำโฆษณาไวรัลประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อให้เกิดการถูกพูดถึงปากต่อปาก แต่ในกรณีนี้ ตัวศิลปินเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ไวรัลนั้นเอง เป็นไปได้ว่า จุดประสงค์อีกอย่างในที่นี้ อาจจะเป็นการฟูมฟักคาแรกเตอร์ของตัวเองให้คงอยู่ในกระแสนานๆ

 

จากบทความเรื่อง Psychology of Sharing: Why Do People Share On Social Media?  มีระบุถึงเหตุผลและจิตวิทยาเบื้องหลังการ ‘แชร์’ คอนเทนต์ต่างๆ บนเฟซบุ๊กพบว่า คนเรามักจะนำเสนอในสิ่งที่ต้องการ และสิ่งที่นำเสนอนั้นก็จะสะท้อนภาพลักษณ์ของเรากลับมา เช่นเดียวกับการเลือกแชร์โพสต์ต่างๆ บนเฟซบุ๊ก ที่เรามักจะแชร์สิ่งที่สร้างความบันเทิง คลิปวิดีโอตลกๆ เพื่อให้เราถูกมองว่าเป็นคนน่าคบหา หรือเรามักจะแชร์ข่าวการค้นพบทฤษฎีใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ถูกมองว่าเป็นคนมีความรู้ เพราะสุดท้ายแล้วเราต่างอยากนำเสนอสิ่งที่จะทำให้คนมองว่าเราน่าสนใจ

 

การที่หลายคนหันมาแชร์วิดีโอไลฟ์ของ เสก โลโซ แม้ไม่ได้ติดตามตัวศิลปินตั้งแต่แรก นั่นอาจหมายถึงการที่คนเหล่านั้นต้องการแสดงตัวว่า รับรู้ข่าว ทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกับที่สังคมรู้ และกำลังอยู่ในกระแสเดียวกับที่สังคมรอบตัวกำลังอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นการที่ไลฟ์บนเพจ SEK LOSO กลายเป็นประเด็น ยิ่งทำให้ความนิยม (หรืออาจจะเป็นแค่ความสนใจที่ไม่ได้นิยม) ในตัวเขาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กมีข่าวที่จะให้ผู้ติดตามจ่ายเงินให้กับผู้สร้างคอนเทนต์ เพื่อสนับสนุนการสร้างวิดีโอบนเฟซบุ๊กแข่งกับยูทูบ แต่สุดท้ายก็มีการประกาศใช้แค่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเท่านั้น

 

นั่นทำให้เฟซบุ๊กในประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย ยังไม่มีระบบการจ่ายเงินให้กับผู้ใช้งาน หรือเจ้าของเพจที่มียอดไลก์สูงอย่างชัดเจน แตกต่างจากยูทูบที่ผู้ใช้งานเปิดให้มีโฆษณาในวิดีโอ และแบ่งเงินกับยูทูเบอร์ ทำให้เจ้าของเพจดังๆ หลายแห่งในไทย รวมทั้งเพจ SEK LOSO ไม่น่าจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดวิวบนเฟซบุ๊ก (นอกจากกรณีที่มีบริษัทหรือแบรนด์ว่าจ้าง) แต่เพจ SEK LOSO นับเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ทำให้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดีย และการเอาตัวรอดของศิลปินรุ่นเดอะในยุคที่สื่อออนไลน์เป็นใหญ่

 

สุดท้าย เฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานสูงที่สุดของโลกก็ยังไม่สามารถจัดการคัดกรองข้อมูลทั้งหมดให้ถูกต้อง เชื่อถือได้ ปลอดจากข่าวปลอม กลุ่มผิดกฎหมายต่างๆ รวมถึงไลฟ์ที่ไม่เหมาะสมและไม่สร้างสรรค์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยความที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก แต่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้าน Cybersecurity ของเฟซบุ๊กอยู่เพียง 10,000 คน (ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 20,000 คน ในปี 2018) ซึ่งก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ห่างไกลการควบคุมได้อย่างเห็นผล

 

จากกรณีนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องย้อนกลับมาทบทวน และรับเป็นหน้าที่ของคนติดโซเชียลมีเดียอย่างเรา ในการแยกแยะและเลือกสนับสนุนผู้สร้างคอนเทนต์กันเอง ว่าจะคัดกรองการรับสารอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับเวลาที่ต้องเสียไปในแต่ละวันบนโลกออนไลน์

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0