โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทำไม ‘อัตราการเสียชีวิต’ จากโควิด-19 ในแต่ละประเทศถึงต่างกันราวฟ้ากับเหว

The Momentum

อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 07.00 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 07.00 น. • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

In focus

  • ข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 พบว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นกว่า 650,100 คน เสียชีวิตแล้ว 30,313 ราย หรือคิดอัตราการเสียชีวิตที่ 4.7 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพิจารณาเป็นรายประเทศ เราจะเห็นตัวเลขที่ชวนฉงนสงสัยคืออัตราการเสียชีวิตที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว เช่น ที่อิตาลีมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เยอรมนีมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์
  • อัตราการเสียชีวิตแบบไร้เดียงสา (naive fatality rate) ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตด้วยสองสาเหตุ อย่างแรกคือผู้ติดเชื้อที่เพิ่งได้รับการตรวจพบเมื่อไม่นานมานี้อาจยังแสดงอาการไม่รุนแรงนักและเป็นไปได้ว่าพวกเขาหรือเธอจะเสียชีวิตซึ่งจะทำให้ตัวเลขอัตราการตายเพิ่มขึ้น สาเหตุที่สองคือผู้ติดเชื้อหลายรายซึ่งไม่มีอาการรุนแรงนักอาจไม่ได้ถูกทดสอบและนับรวมอยู่ในตัวเลขดังกล่าว หากมีการนับรวมผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อจริง ตัวหารก็จะเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราการตายลดลง
  • แม้หลายคนจะรู้สึกต้องการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของแต่ละประเทศเพื่อตีความและพยายามมองหาสูตรสำเร็จทั้งในแง่นโยบายควบคุมการระบาด รวมถึงการจัดการระบบสาธารณสุขที่จะทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุด แต่ข้อเท็จจริงคือตัวเลขดังกล่าวต้องถูกตีความอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารเดอะ แลนเซ็ต (The Lancet) ระบุว่าทั่วโลกยังจำเป็นต้องมีชุดข้อมูลที่ดีกว่านี้ รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วยที่เสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรง เช่น อายุ หรือโรคประจำตัว เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เทโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุในการแถลงข่าวว่าสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามที่ได้รับรายงานอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตในประเทศจีนที่ราว 2 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าไข้หวัดตามฤดูกาลที่มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 0.1 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงโรคระบาดในอดีตอย่างไข้หวัดสเปนที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี การคำนวณโดยใช้ตัวเลขผู้เสียชีวิตหารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อนั้น นักระบาดวิทยาเรียกตัวเลขดังกล่าวว่าอัตราการเสียชีวิตแบบไร้เดียงสา (naive fatality rate) ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตด้วยสองสาเหตุ อย่างแรกคือผู้ติดเชื้อที่เพิ่งได้รับการตรวจพบเมื่อไม่นานมานี้ อาจยังแสดงอาการไม่รุนแรงนักและเป็นไปได้ว่าพวกเขาหรือเธอจะเสียชีวิตซึ่งจะทำให้ตัวเลขอัตราการตายเพิ่มขึ้น สาเหตุที่สองคือผู้ติดเชื้อหลายรายซึ่งไม่มีอาการรุนแรงนักอาจไม่ได้ถูกทดสอบและนับรวมอยู่ในตัวเลขดังกล่าว หากมีการนับรวมผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อจริง ตัวหารก็จะเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราการตายลดลง ดังที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหลังจากที่เริ่มทดสอบและพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็ลดลง

จากข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ซึ่งรวบรวมโดยนิตยสารนิวยอร์กไทมส์พบว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นกว่า 650,100 คน เสียชีวิตแล้ว 30,313 ราย หรือคิดอัตราการเสียชีวิตที่ 4.7 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพิจารณาเป็นรายประเทศ เราจะเห็นตัวเลขที่ชวนฉงนสงสัยคืออัตราการเสียชีวิตที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว เช่น ที่อิตาลีมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เยอรมนีมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยนิตยสารนิวยอร์กไทมส์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563

ช่องว่างดังกล่าวชวนตั้งคำถามต่อว่าเยอรมนีมีเคล็ดลับอย่างไรถึงสามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หรือปัจจัยใดที่ทำให้อิตาลีมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก บางคนพยายามหาคำอธิบายโดยพิจารณาเรื่องระบบสุขภาพว่าด้วยจำนวนเตียงและแพทย์ต่อประชากร บางคนหยิบยกเรื่องวัฒนธรรม เช่น การพบปะสังสรรค์ หรือการทักทายเมื่อเจอหน้ากัน 

แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านั้นย่อมมีผลกระทบ แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะอธิบายความแตกต่างดังกล่าวด้วยหลักสถิติ ว่าด้วยข้อมูลที่แวดล้อมสองตัวชี้วัดหลักคือจำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นตัวส่วน และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นตัวเศษ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมอัตราการเสียชีวิตในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งตรวจมากก็ยิ่งเจอมาก: นโยบายการตรวจโควิด-19 กับอัตราการเสียชีวิต

หากจะเปรียบเทียบข้อมูลผู้ติดเชื้อและสัดส่วนผู้เสียชีวิตในแต่ละประเทศได้อย่างไร้อคติ สมมติฐานสำคัญคือประเทศเหล่านั้นจะต้องมีนโยบายในการตรวจผู้ติดเชื้อที่คล้ายคลึงกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละประเทศมีนโยบายคัดกรองเพื่อตรวจการติดเชื้อที่แตกต่างกันอย่างมาก เช่น เยอรมนีจะตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย ส่วนสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงกักกันตัวเองที่บ้านและไม่จำเป็นต้องไปตรวจการติดเชื้อแต่อย่างใดโดยรัฐบาลจะตรวจเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจและเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น

ความแตกต่างของจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อจึงส่งผลอย่างยิ่งต่ออัตราการเสียชีวิต หากรัฐบาลดำเนินนโยบายตรวจอย่างทั่วถึงครอบคลุมผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก ผลลัพธ์ที่ได้คืออัตราการเสียชีวิตที่ต่ำเนื่องจากตัวส่วนคือจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น กล่าวคือยิ่งตรวจมากก็จะยิ่งพบผู้ติดเชื้อมากนั่นเอง ในขณะเดียวกันหากรัฐบาลเลือกตรวจการติดเชื้อเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงย่อมทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว 

กราฟเปรียบเทียบจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2563 รายประเทศ (ขวา) จำนวนคนที่ได้รับการตรวจแบบสัมบูรณ์ (ซ้าย) จำนวนคนที่ได้รับการตรวจต่อประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบแบบสัมพัทธ์ ภาพจาก Our World in Data

เว็บไซต์ Our World in Data ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนครั้งของการตรวจเชื้อโควิด-19 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยแยกเป็นรายประเทศ จะพบว่าประเทศเกาหลีใต้ดำเนินนโยบายตรวจการติดเชื้ออย่างเข้มข้นโดยตรวจรวมกว่าสามแสนครั้ง ในขณะที่หากพิจารณาในแง่การตรวจต่อประชากร พบว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีสัดส่วนการตรวจต่อประชากรสูงสุดที่ 12,738 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ขณะที่อิตาลี เยอรมนี รัสเซีย และออสเตรเลีย ถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีการตรวจเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลก

ความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการควบคุมโรคระบาดจากการตรวจเชื้อโควิด-19 จำนวนมากทำให้หลายประเทศเดินตามแนวทางเกาหลีใต้ โดยเน้นตรวจเพื่อระบุตัวผู้ติดเชื้อแม้จะยังไม่มีอาการรุนแรงเพื่อให้การกักกันตัวผู้ป่วยมีประสิทธิผลในการจำกัดวงของการระบาด เป็นแนวทางกันไว้ดีกว่าแก้เนื่องจากทุกประเทศกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับอิตาลีที่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 มากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือผลการตรวจดังกล่าวไม่ได้สมบูรณ์แบบ เนื่องจากผลการตรวจที่ไม่พบเชื้อในคนไข้บางรายเป็นผลลัพธ์ลวง (False Negative) ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น มีจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายไม่มากนัก แนวทางการตรวจเชื้อขององค์การอนามัยโลกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าผลการตรวจเชื้อที่เป็นลบนั้น “ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ว่าที่จะติดเชื้อโควิด-19” นั่นหมายความว่าตัวเลขอัตราการเสียชีวิตที่คิดแบบง่ายๆ ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ จะมีแนวโน้มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

มองให้ลึกกว่าตัวเลขภาพรวม 

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนก็ยังคงค้างคาใจว่าทำไมอัตราการเสียชีวิตของอิตาลีและเยอรมนีถึงแตกต่างราวฟ้ากับเหว เพราะจากกราฟข้างต้นก็แสดงตัวเลขว่าทั้งสองประเทศมีปริมาณการตรวจผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก 

คำอธิบายแรกก็คือระยะของการระบาดของทั้งสองประเทศนั้นแตกต่างกันเนื่องจากอิตาลีเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการระบาดทำให้ยอดผู้ป่วยและอาการของผู้ป่วยอยู่ในระยะร้ายแรงกว่าประเทศเยอรมนีซึ่งยังถือว่าอยู่ในระยะแรกเริ่มของการระบาดการศึกษาเบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสามารถมีชีวิตรอดภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์เป็นเวลาราว 2 ถึง 8 สัปดาห์ก่อนเสียชีวิต

คำอธิบายที่สองคืออายุของผู้ป่วย รายงานสรุปผลโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดของจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention) โดยศึกษาผู้ป่วย 72,314 รายพบว่าอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ สถิติดังกล่าวสอดคล้องกับสัดส่วนผู้เสียชีวิตในอิตาลีซึ่งอายุมัธยฐานของผู้ป่วยโควิด-19 สูงถึง 67 ปีในขณะที่เยอรมนีอายุมัธยฐานของผู้ป่วยโควิด-19 อยุ่ที่ 47 ปีเท่านั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในอิตาลีจะสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ตารางสรุปอัตราการเสียชีวิตโดยแบ่งตามช่วงอายุ ข้อมูลจาก รายงานโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดของจีน 

แล้วโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตเท่าไรกันแน่?

คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่หลายคนน่าจะอยากได้คำตอบเพื่อที่จะรับทราบถึงความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างเหมาะสม แต่ข้อมูลที่เรามีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะตอบคำถามดังกล่าว เพราะข้อมูลที่เราเชื่อมั่นได้คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในปัจจุบันเท่านั้นโดยยังตอบไม่ได้ว่าในอนาคตจะมีผู้ป่วยอีกกี่รายที่เสียชีวิต 

ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังเป็นตัวเลขที่ยังไม่ควรนำมาใช้เพื่อหาอัตราการเสียชีวิตด้วยเหตุผลตามที่ผู้เขียนอธิบายไว้ข้างต้น อย่างไรก็ดี ข้อมูลเท่าที่มีทำให้เราสามารถคำนวณอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแทบไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากได้รับเชื้อ ด้วยเหตุผลสองประการคือ

หนึ่ง อัตราส่วนดังกล่าวอาจสูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย และสอง อัตราส่วนดังกล่าวอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะผู้ป่วยในปัจจุบันอาจเสียชีวิตเพิ่มในอนาคต สำหรับโควิด-19 มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเสียชีวิตจะเคลื่อนไปได้ทั้งสองทิศทาง

แม้หลายคนจะรู้สึกต้องการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของแต่ละประเทศเพื่อตีความและพยายามมองหาสูตรสำเร็จทั้งในแง่นโยบายควบคุมการระบาด รวมถึงการจัดการระบบสาธารณสุขที่จะทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุด แต่ข้อเท็จจริงคือตัวเลขดังกล่าวแทบไม่ได้บอกอะไรเลย มีงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารเดอะ แลนเซ็ต (The Lancet)ระบุว่าทั่วโลกยังจำเป็นต้องมีชุดข้อมูลที่ดีกว่านี้ รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วยที่เสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรง เช่น อายุ หรือโรคประจำตัว เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เหมาะสม

หลายครั้งที่เราสามารถหยิบจับข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมโยงกับคำอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล แต่ในขณะเดียวกัน เราควรพิจารณาวิธีการคำนวณ สมมติฐาน และวิธีการเก็บข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เพราะหากมองข้ามรายละเอียดเหล่านี้ไป เราอาจเผลอเปรียบเทียบส้มกับแตงโมโดยไม่รู้ตัว

เอกสารประกอบการเขียน

Coronavirus Disease (COVID-19) – Statistics and Research

How many tests for COVID-19 are being performed around the world?

Global Covid-19 Case Fatality Rates

One chart shows different countries’ current coronavirus death rates, based on the known number of cases and deaths

Fatality rates for covid-19 could vary enormously

Germany’s low coronavirus mortality rate intrigues experts

The Covid-19 risks for different age groups, explained

Did the coronavirus get more deadly? The death rate, explained.

Why Italy? The factors behind a coronavirus disaster

Why have so many coronavirus patients died in Italy?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0